New Southbound Policy Portal
ตัวแทนไต้หวันแนะนำเทคนิคในการจับชีพจรของแพทย์แผนจีน ให้กับเยาวชนนานาชาติใน “การประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ 2” (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)
กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 11 พ.ค. 63
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ภายใต้ความช่วยเหลือในโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “iYouth voice” ของสำนักงานพัฒนาเยาวชน กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนไต้หวันรวม 4 คนจากมหาวิทยาลัยไทเป (National Taipei University, NTPU) และมหาวิทยาลัยการแพทย์ CMU (China Medical University) ได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนกับเยาวชนนานาชาติที่ประเทศไทย เมื่อต้นปี 2020
หวงเพ่ยฉีและเจียงเชียนโหรว 2 นักศึกษาแห่ง NTPU ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของไต้หวันเข้าร่วมในการประชุมข้ามชาติของสมาคม World Leisure Organization ที่จัดขึ้นในประเทศไทย และได้ร่วมแลกเปลี่ยนหารือกับเยาวชนนานาชาติจากออสเตรียและประเทศอื่นๆ รวม 19 ประเทศ อีกทั้งในระหว่างการประชุม ยังได้ร่วมกันเรียบเรียงบทความทางวิชาการระดับนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “January 2020 Youth Leisure and Safety” อีกด้วย ตลอด 7 วันของการระดมสมองพบว่า เยาวชนในแต่ละประเทศต่างก็ให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวกับกิจกรรมนันทนาการนานาชาติ อีกทั้งยังสังเกตเห็นได้ว่า กิจกรรมนันทนาการส่งอิทธิพลในเชิงลึกต่อทุกภาคส่วนของการบริหารประเทศ สำหรับรายละเอียดในบทความทางวิชาการ นอกจากจะวิจัยด้านมุมมองของเยาวชนที่มีต่อกิจกรรมนันทนาการนานาชาติแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์ในการเสนอแนวทางความคิด เพื่อบรรลุเป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตและบันดาลความสุขแก่มวลมนุษยชาติอีกด้วย
หวงเข่อหรงและเซี่ยหย่าจวิน นักศึกษา CMU ได้เดินทางเข้าร่วม “การประชุมสุดยอดผู้นำเยาวชนเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ 2” (The 2nd Peace Summit of Emerging Leaders) ที่ Humanitarian Affairs Asia ซึงเป็นองค์การระหว่างประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact, UNGC) จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้นำเยาวชนทั้งหมด 348 คน จาก 55 ประเทศเข้าร่วม หวงเข่อหรงและเซี่ยหย่าจวิน ในฐานะที่เป็นนักศึกษาแพทย์ ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ได้ใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ให้เยาวชนนานาชาติได้รู้จักกับการแพทย์แผนจีน และคิดอยู่เสมอว่าจะสามารถสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมทางการแพทย์ที่มีความเท่าเทียมกัน ได้อย่างไร นอกจากนี้ ตารางกำหนดการของการประชุมครั้งนี้ ยังได้เชิญทหารผ่านศึกสงครามอิรัก - อัฟกานิสถาน ที่มีภาวะป่วยทางจิตหลังเหตุการณ์ร้ายแรง ( Post-traumatic stress disorder, PTSD) ผู้ลี้ภัยจากสงครามซีเรีย สตรีชาวอินเดียที่ถูกกดขี่ทางเพศสถานะมาเป็นระยะเวลาช้านาน เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์จริงที่ประสบพบเจอกับตัวเอง เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในที่ประชุม สัมผัสได้ถึงพลังแห่งสันติภาพได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ก.ศึกษาธิการฯ ระบุว่า บรรดาเยาวชนไต้หวันได้ทยอยก้าวสู่เวทีนานาชาติ เพื่อประกาศให้โลกมองเห็นไต้หวันในแง่มุมเชิงลึก ด้วยวิธีการอันหลากหลาย ภายใต้โครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “iYouth voice” ซึ่งโครงการนี้นอกจากจะเป็นการเปิดวิสัยทัศน์สู่นานาชาติให้กับเหล่าเยาวชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ทั่วโลกจับตาให้ความสนใจ ประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของตน มุ่งสานฝันอย่างกล้าหาญ ร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมในหนทางข้างหน้าต่อไป