New Southbound Policy Portal
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายอู๋เจาเซี่ย (ขวา) รมว.ต่างประเทศ และนายเฉินสือจง (ขวา) รมว. สาธารณสุขฯไต้หวัน ได้ร่วมแสดงจุดยืนความไม่พอใจของรัฐบาลไต้หวันที่มีต่อกรณีดังกล่าว (ภาพจาก MOFA)
MOFA วันที่ 18 พ.ค. 63
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 73 ที่จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในช่วงค่ำเวลา 18:00 ของวันที่ 18 พ.ค. ตามเวลาในไทเป ไต้หวันยังคงไม่ได้รับจดหมายเชิญให้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 18 พ.ค. นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายเฉินสือจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ร่วมแสดงจุดยืนความไม่พอใจของรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ต่อกรณีดังกล่าว ในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นใน “ศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด” (Central Epidemic Command Center, CECC)
รมว.เฉินฯ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพรมแดน เครือข่ายการป้องกันโรคระบาดไม่ควรมีช่องโหว่ มีเพียงทั่วโลกร่วมมือกัน แบ่งปันข้อมูลการวินิจฉัยที่มาจากความเชี่ยวชาญและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จึงจะสามารถต่อกรกับโรคระบาดรุนแรงในครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไต้หวันถึงแม้จะตั้งอยู่ใกล้กับจีน ในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่หากมองไปที่การจัดอันดับของประเทศที่มียอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด – 19 ในทั่วโลก ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 154 สะท้อนให้เห็นถึงภารกิจการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันบังเกิดผลสัมฤทธิ์อันโดดเด่น ไต้หวันมีความยินดี และมีศักยภาพในการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การป้องกันโรคระบาด กับบรรดาผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลของทุกประเทศทั่วโลก และพร้อมที่จะเรียนรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่า การที่ไต้หวันไม่ได้ถูกรับเชิญ นอกจากจะเป็นความสูญเสียของไต้หวันแล้ว ยังถือเป็นความสูญเสียของมวลมนุษยชาติด้วยเช่นกัน
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า แม้ว่าในครั้งนี้ไต้หวันจะไม่ได้ถูกรับเชิญเข้าร่วมประชุม WHA แต่พลังเสียงสนับสนุนของประชาคมโลกที่มีต่อไต้หวัน นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นและเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น สำหรับการยื่นญัตติของประเทศพันธมิตรนั้น สืบเนื่องจากตารางการประชุมของ WHA ในครั้งนี้ ได้ถูกร่นเวลาการประชุมให้สั้นลงมาก ตัวแทนของทุกประเทศต่างคาดหวังให้ใช้เวลาทั้งหมดของการประชุมที่มีอยู่อย่างจำกัด ไปกับการอภิปรายในประเด็นการสกัดกั้นโรคโควิด – 19 ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไต้หวันจึงตัดสินใจดำเนินการตามคำแนะนำของประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันและประเทศพันธมิตร ซึ่งก็คือ รอให้การประชุมกลับมาจัดในรูปแบบเดิมในช่วงปลายปี แล้วค่อยยื่นเสนอแผนการสนับสนุนของประเทศพันธมิตรไต้หวันในระหว่างนั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันว่า แผนการสนับสนุนที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน จะได้รับความสนใจและส่งผลให้เกิดการอภิปรายในเชิงลึกจากทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตาม รมว. อู๋ฯ ได้ประณามวิธีการตีสองหน้าและการกระทำที่เป็นการขัดขวางทุกรูปแบบของรัฐบาลจีน ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมา จีนมักจะประกาศตัวแสดงความห่วงใยไต้หวันและป่าวประกาศว่า จีนได้ให้การดูแลด้านสาธารณสุขและสุขภาพแก่ประชาชนชาวไต้หวัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว จีนกลับแย่งชิงและลิดรอนสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขของประชาชนชาวไต้หวันทั้ง 23 ล้านคน ตลอดจนขัดขวางการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวันทุกวิถีทาง ซึ่งการกระทำเหล่านี้ ล้วนเป็นการตอกย้ำให้ประชาชนชาวไต้หวันรู้สึกเกลียดชังการกระทำอันป่าเถื่อนของจีนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความสามัคคีในประเทศ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาคมโลก พร้อมต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศต่อไป
ทั้งนี้ รมว.อู๋ฯ เรียกร้องให้สำนักเลขาธิการของ WHO รับฟังเสียงเรียกร้องที่เปี่ยมด้วยเหตุผลและความหนักแน่นจากประชาคมโลก ยึดมั่นในจุดยืนความเป็นมืออาชีพและทางสายกลาง ปฏิเสธการแทรกแซงทางการเมืองจากจีน ส่งเสริมให้ไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม กิจกรรม และกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของ WHO อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังเน้นย้ำว่า ญัตติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN) ฉบับที่ 2758 และญัตติที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ฉบับที่ 25.1 แก้ไขปัญหาเฉพาะในประเด็น “สิทธิ์อันชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของจีนในเวทีสหประชาชาติ” แต่ไม่ได้ระบุถึงไต้หวันเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งไต้หวันไม่เคยมอบอำนาจให้สาธารณรัฐประชาชนจีน มีสิทธิ์ในการเป็นตัวแทนของไต้หวันในเวทีนานาชาติ ไต้หวันเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพโดยสมบูรณ์ และมีเพียงรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนชาวไต้หวัน 23 ล้านคนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์เป็นตัวแทนของชาวไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ