New Southbound Policy Portal
“นี่คือเจ้าสาวในวันนี้ คุณดูสิ “เธอ” มีสีสันสดใสที่สุด ดอกเหลืองอร่ามที่สุด สามารถเลือกเธอมาผสมเกสร หลังผสมเกสรแล้ว พรุ่งนี้จะเริ่มมีผลมะระออกมา และค่อยๆ เติบโตขึ้น หลังจากนั้น 15 วัน ผลมะระก็จะโตเต็มที่”
แสงแดดเจิดจ้าในช่วงเดือนตุลาคมซึ่งเป็นฤดูใบไม้ร่วงสาดส่องลงมา ส่งผลให้อุณหภูมิภายในเรือนกระจกสูงถึง 30 องศาเซลเซียส เรือนกระจกจึงกลายเป็น “เรือนร้อน” ไปโดยปริยาย
คุณฉวนจงเหอ (全中和) ผู้ช่วยนักวิจัยแผนกปรับปรุงพันธุ์พืช สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียน คณะกรรมการการเกษตร สภาบริหารสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทันทีที่มาถึงสถานที่ทำงาน สิ่งแรกที่เขาทำคือ ตรงดิ่งไปที่ “สวนเพาะพันธุ์” เพื่อผสมเกสรให้แก่ “ต้นแม่พันธุ์” มะระขี้นกและเก็บเมล็ดพันธุ์
ต้นแม่พันธุ์มะระ สุดยอดในปฐพี
คุณฉวนจงเหอกล่าวพลางใช้มือข้างหนึ่งพยุงเครือมะระที่เขียวขจีว่า “นี่คือต้นแม่พันธุ์ที่ออกดอกตัวเมียในสัดส่วนสูง เป็นสมบัติล้ำค่าของไต้หวัน”
โดยทั่วไป มะระต้นหนึ่งจะออกดอกประมาณ 100 ดอก แต่จะมีดอกตัวเมียประมาณ 2-10 ดอกเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่าจะให้ผลมะระเพียงประมาณ 2-10 ลูก แต่ต้นแม่พันธุ์ที่ได้ชื่อว่า “ออกดอกตัวเมียในสัดส่วนสูง” ต้นนี้ หลังผ่านการผสมพันธุ์มาถึง 5 รุ่น สามารถออกดอกตัวเมียได้มากถึง 80-90 ดอก จากทั้งหมด 100 ดอก หากคำนวณเป็นปริมาณผลผลิตต่อพื้นที่เพาะปลูก จากเดิมจะได้ผลผลิต 1 ตันต่อพื้นที่ 1 เฮกตาร์ (เท่ากับประมาณ 6 ไร่ 1 งาน) ในแต่ละฤดูกาลผลิต จะทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6-10 ตันเลยทีเดียว
ต้นกำเนิดมะระขี้นก
คัมภีร์เปิ๋นเฉ่ากังมู่บันทึกไว้ว่า มะระยังมีชื่อเรียกว่า ลิ้นจี่ดิ้นทอง (錦荔枝) หรือองุ่นขี้เรื้อน (癩葡萄) ในยุคทศวรรษที่ 1980 ร้านอาหารซีฟู้ดและอาหารป่าที่เมืองฮัวเหลียนได้เปิดตัวเมนูมะระป่าผัดไข่เค็มและมะระยัดไส้หมูสับให้ลูกค้าได้ลองลิ้มชิมรสกัน ต่อมาในปี 1989 สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียนได้เริ่มวิจัยและปรับปรุงพันธุ์มะระขี้นก ตลอดจนพัฒนาเทคนิคการเพาะปลูก เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
ปีค.ศ.1996 คุณฉวนจงเหอเริ่มเพาะพันธุ์มะระ จนกระทั่งประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ “มะระฮัวเหลียนหมายเลข 1, 2 และ 3” ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ติดผลดก ในปีค.ศ.2005 และอีก 3 ปีติดต่อกัน จากการที่ผลมะระมีขนาดกลางและเล็ก เหมาะกับครอบครัวขนาดเล็ก ผลมะระที่มีขนาดเท่ากับความยาวของปากกาลูกลื่น 1 ด้าม น้ำหนักประมาณ 160 กรัม เท่ากับ 1 ใน 3 ของมะระสีขาวลูกใหญ่ จึงกลายเป็นสินค้ายอดนิยมในซูเปอร์มาร์เก็ต
จากนั้น มะระพันธุ์ “ฮัวเหลียนหมายเลข 6” ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ออกมาเมื่อปีค.ศ.2016 โดยถือกำเนิดมาจากต้นแม่พันธุ์กับพ่อพันธุ์ ซึ่งต่างเป็นมะระสายพันธุ์ท้องถิ่นในฮัวเหลียน โดยคุณฉวนจงเหอได้เริ่มกระบวนการทำพันธุ์ให้บริสุทธิ์ (purification) คัดเลือกและผสมพันธุ์ ตั้งแต่ปีค.ศ.1998 เป็นต้นมา หลังใช้ความเพียรพยายามนานถึง 10 ปี จึงประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์มะระคุณภาพเยี่ยมที่ให้ผลผลิตสูงถึง 14 ตันต่อเฮกตาร์ ตลอดช่วงฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวเป็นเวลา 1.5 เดือน
จุดเด่นของมะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 6 คือ ผลมะระสามารถรับประทานสดๆ ได้ ผิวมะระมีสีเขียวสดไล่ขึ้นเป็นลำดับชั้น เปล่งประกายมันวาว มีรสกรอบและอมเปรี้ยวนิดๆ เหมือนรสชาติของแอปเปิล หากนำไปแช่เย็นจะขจัดรสขมให้หมดไป ผลมะระสดเหมาะสำหรับการนำไปทำสลัด หรือน้ำผักปั่นเพื่อสุขภาพ
เราเดินทางมาถึงฟาร์ม Chi-Lai Green Land ซึ่งเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่เพาะปลูกมะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 2 และหมายเลข 6 คุณไช่จื้อเฟิง (蔡志峰) ผู้จัดการฟาร์ม เล่าว่า “มะระพันธุ์ที่มาจากการปรับปรุงสายพันธุ์โดยสถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียนให้ผลผลิตสูง ในฤดูแห่งการเก็บเกี่ยวสามารถเก็บเกี่ยวผลมะระได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่เพาะปลูก 2,000 ตารางเมตร จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้วันละ 1 ตัน ปัจจุบันเรามีพื้นที่เพาะปลูกที่ผ่านการรับรองด้านเกษตรอินทรีย์ 30 กว่าเฮกตาร์ นอกจากจัดส่งให้ร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว ยังได้ทำการเกษตรพันธสัญญากับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพด้วย”
การแปลงโฉมของมะระขี้นก
การเพาะพันธุ์มะระของคุณฉวนจงเหอ นอกจากเพื่อการบริโภคแล้ว ยังถูกนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยในโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรชีวภาพแห่งชาติ (National Science and Technology Program for Agricultural Biotechnology) ซึ่งดำเนินการโดยสภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Science Council, NSC) ในช่วงระหว่างปี 2005-2011 โดยได้เชิญหน่วยงานด้านวิชาการ อาทิ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University, NTU) และมหาวิทยาลัยการแพทย์จีน (China Medical University, CMU) เข้าร่วมศึกษาวิจัยสรรพคุณของยามาอิโมะ (Yamaimo) หรือมันภูเขา และว่านไหมนา โดยหวังว่าจะพัฒนาให้เป็นสมุนไพรจีนและอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ต่อมาในปีค.ศ.2006 จึงได้มีการศึกษาวิจัยสรรพคุณของมะระที่มีต่อการปรับระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด และต้านมะเร็ง แต่เนื่องจากมะระที่หน่วยงานวิจัยนำมาใช้ในการทดลองเพื่อศึกษาสรรพคุณด้านสมุนไพรถูกซื้อมาจากตลาด ซึ่งในแต่ละครั้งจะได้มะระที่มีสายพันธุ์และแหล่งเพาะปลูกที่ต่างกัน จึงทำให้สรรพคุณทางสมุนไพรบางครั้งเห็นผล แต่บางครั้งก็ไม่ได้ผล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของผลการวิจัย
ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ NSC ทำให้หน่วยงานทางวิชาการในไต้หวันหลายแห่งมุ่งค้นคว้าวิจัย “สารสกัดจากมะระ” จนสามารถขอสิทธิบัตรขั้นตอนการผลิตและสรรพคุณด้านการบำรุงสุขภาพของผลิตภัณฑ์ได้มากกว่า 46 รายการ
ยกตัวอย่างเช่น การศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์เจิ้งเสวี่ยหลิง (鄭雪玲) แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง (National Pingtung University of Science and Technology, NPUST) ที่ใช้เวลานานถึง 10 ปี จึงสามารถสกัดสารกลุ่มไตร
เทอร์พีน (Triterpene) และซาโปนิน (Saponin) จากมะระสายพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 2 ซึ่งคล้ายคลึงกับสารที่สกัดได้จากเครือและผลมะระเขียวของโอกินาวา เมื่อนำมาทดลองกับเซลล์และหนูทดลองพบว่า สามารถลดภาวะดื้อต่ออินซูลินของเซลล์ได้ แสดงให้เห็นว่า มะระมีศักยภาพเพียงพอที่จะนำไปพัฒนาเป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2
ขณะที่ศาสตราจารย์สวีเสวี่ยอิ๋ง (徐雪瑩) แห่งภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งมีชีวิต มหาวิทยาลัยฉือจี้ (Tzu Chi University, TCU) ใช้เวลาตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นำสารสกัดจากมะระมาใช้ในการวิจัยเกี่ยวกับเซลล์มะเร็ง ซึ่งผลการวิจัยพบว่า สารประกอบบางตัวในสารสกัดจากมะระมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่ศ.สวีเสวี่ยอิ๋งย้ำว่า การป้องกันสำคัญกว่าการรักษา ต้องรับประทานมะระเขียวเป็นประจำจึงจะมีผลดีต่อสุขภาพ แต่สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย หากเพิ่งจะมารับประทานในตอนนี้ก็ถือว่าสายไปเสียแล้ว
จากผลสำเร็จของทีมวิจัยโครงการ NSC อาจกล่าวได้ว่า ถือเป็นแสงสว่างแห่งอนาคตสำหรับมะระขี้นก ทำให้ทีมวิจัยและพัฒนาของสถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียน เบนเข็มรุกวิจัยและพัฒนาเพื่อเพาะพันธุ์มะระขี้นกเพื่อการดูแลสุขภาพ
ปีค.ศ.2008 ทีมงานของคุณฉวนจงเหอได้รับลิขสิทธิ์การคุ้มครองพันธุ์พืชของ “มะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4” ต่อมาในปีค.ศ.2010 สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียน ยังพัฒนามะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 5 ซึ่งได้เริ่มทำการปรับปรุงพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2002 ผลมะระมีรูปทรง “เตี้ย อ้วน สั้น” ส่วนผิวเปลือกจะ “ขรุขระเป็นปุ่มแหลม” มีสีเขียวเข้ม รูปลักษณ์ภายนอกไม่สวยงามนัก แต่ “อย่าตัดสินมะระจากรูปลักษณ์ภายนอก” จากการทดลองของสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร (Food Industry Research and Development Institute) พบว่า มะระสองสายพันธุ์นี้เหมาะที่จะนำไปพัฒนาเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
คุณฉวนจงเหอกล่าวว่า มะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4 และหมายเลข 5 มีความดีเด่นของพันธุ์ลูกผสม (Heterosis) ซึ่งก็เหมือนกับมนุษย์ ที่จะมีปรากฏการณ์ลูกผสมรุ่นที่ 1 ซึ่งจะค่อนข้างเฉลียวฉลาด มะระสายพันธุ์ดังกล่าวจะให้ผลผลิตมากและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
แม่พันธุ์ฝ่าวิบากกรรม สร้างรุ่นหลังให้มีคุณภาพ
สิ่งที่ควรค่าแก่การนำมากล่าวถึงเป็นพิเศษคือ ที่มาของต้นแม่พันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4 และหมายเลข 5 ที่ผ่านวิบากกรรมทั้งลมทั้งฝนมาอย่างโชกโชน คุณฉวนจงเหอเล่าว่า เมืองฮัวเหลียนต้องเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นเป็นประจำทุกปี มีอยู่ปีหนึ่ง พายุไต้ฝุ่นพัดกระหน่ำแปลงต้นกล้ามะระในสวนเพาะพันธุ์จนเสียหายยับเยิน หลังไต้ฝุ่นพัดผ่านไป คนงานตัดเครือมะระทิ้ง “คืนนั้นหลังเข้านอนช่วงกลางดึกในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่น ผมฉุกคิดถึงเครือมะระต้นนั้นว่า มันน่าจะยังไม่ตาย” คุณฉวนจงเหอไม่ยอมรอจนฟ้าสาง เขารีบไปที่แปลงต้นกล้า ซึ่งก็พบว่าเครือมะระต้นนั้นยังไม่ถูกเก็บไปทิ้ง หลังจากที่กู้ชีวิตของมันกลับคืนมา และผ่านการผสมข้ามสายพันธุ์กับต้นอื่นที่ยังเหลือรอดมา ทำให้ได้ต้นแม่พันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4 และหมายเลข 5 “ต้นแม่พันธุ์ที่ออกดอกตัวเมียในสัดส่วนสูง” นอกจากไม่ได้สูญหายไปจากโลกนี้ แต่ยังทำให้สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียนได้รับเงินอุดหนุนอย่างน้อยหลายล้านเหรียญไต้หวัน ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์มะระที่มีคุณภาพสูงในรุ่นต่อไป
Aquavan Technology Co. เป็นบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้รับลิขสิทธิ์พันธุ์พืชของมะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4 ดร.หลิวจี้โหมว (劉技謀) ผู้จัดการทั่วไปของ Aquavan Technology Co. เปิดเผยว่า พวกเขานำเทคโนโลยี “Supercritical Fluid Extraction” ซึ่งเป็นการสกัดสารด้วยของไหลยิ่งยวด มาใช้ในการสกัดและแยกสารบริสุทธิ์จากสารสกัดเบื้องต้นของมะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 4 ซึ่งได้นำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพมากมายหลายชนิด และสามารถส่งออกไปจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกาและจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาและทดลองใช้มะระ มาผลิตเป็นยารักษาโรคอีกด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ( Food and Drug Administration : FDA) ของสหรัฐอเมริกา และการขอสิทธิบัตรทั่วโลก
สถานีวิจัยและส่งเสริมการเกษตรเมืองฮัวเหลียนยังได้เพาะพันธุ์ “ฮัวเหลียนหมายเลข 7” ซึ่งเป็นมะระพันธุ์ใหม่ที่มีสีขาว ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างขอสิทธิในพันธุ์พืชจากคณะกรรมการการเกษตรไต้หวัน ตราบจนถึงปัจจุบัน มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีการเพาะปลูกมะระพันธุ์ฮัวเหลียนหมายเลข 1 ถึงหมายเลข 6 ให้แก่ฟาร์มเกษตรและบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพแล้วรวมทั้งสิ้น 13 ราย ซึ่งได้มีการนำมะระไปพัฒนาเป็นซุปไก่ตุ๋นมะระสกัด น้ำมันเมล็ดมะระ ชามะระ และมะระแคปซูล ตลอดจนต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง
คุณฉวนจงเหอกล่าวว่า “ความใฝ่ฝันของผมคือ สักวันหนึ่งมะระขี้นกจะถูกพัฒนาไปเป็นยาต้านมะเร็ง และมะระจะเหมือนกับถั่วแระที่กลายเป็นต้นแบบผลผลิตทางการเกษตรแปรรูป ที่ได้รับความสำคัญจากคณะกรรมการการเกษตรและสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ”