New Southbound Policy Portal
กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 11 มิ.ย. 63
เพื่อแสดงความชื่นชมต่อนักศึกษาชาวต่างชาติ ที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลไต้หวันและทุนเรียนภาษาจีนระยะสั้น (Huayu Enrichment Scholarship, HES) ซึ่งมีผลการเรียนดีเด่นทั้งในด้านวิชาการและกิจกรรมนอกห้องเรียน ตลอดระหว่างการเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในไต้หวัน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไต้หวัน จึงได้ร่วมกันจัด “พิธีมอบรางวัล Outstanding Performance แก่บัณฑิตที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลไต้หวันและทุน HES ที่สำเร็จการศึกษาตามเป้าหมาย” ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ได้คัดเลือกนักศึกษาดีเด่นจากร้อยกว่าคนเหลือเพียง 13 คน โดยจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาจากศธ.ไต้หวันรวม 9 คน ส่วนอีก 4 คนเป็นผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาจากกต.ไต้หวัน โดยผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ต่างมีความประพฤติที่ดีทั้งในด้านการให้บริการทางสังคมและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของตน รวมถึงด้านอื่นๆ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถคว้ารางวัลเกียรติยศมาครองได้สำเร็จ ด้วยคะแนนเสียงอันเป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการ
ในปี 2019 มีบัณฑิตที่ได้รับทุนการศึกษาจากไต้หวัน จำนวนทั้งสิ้น 560 คนจาก 66 ประเทศ เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในไต้หวัน ทั้งหมด 62 แห่ง โดยในจำนวนมี Mr. Manoj Kumar Panigrahi นักศึกษาชาวอินเดียที่เข้าศึกษาในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเอเชียแปซิฟิกศึกษา (International Doctoral Program in Asia - Pacific Studies, IDAS) ของมหาวิทยาลัยเจิ้งจื้อ (National Chengchi University, NCCU) Mr. Manoj ได้ทุ่มเทในภารกิจการให้บริการทางสังคม ซึ่งเขาเคยไปกล่าวสุนทรพจน์ในโรงเรียนประถม - มัธยมศึกษาในไต้หวัน 50 กว่าแห่ง โดยมุ่งมั่นผลักดันความรู้ด้านกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอันหลากหลายของอินเดีย เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นประถม - มัธยมศึกษาได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับอินเดียมากยิ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้ Mr. Manoj เคยเดินทางมาแลกเปลี่ยนที่ไต้หวันเป็นเวลา 1 ภาคการศึกษา และได้ค้นพบว่าไต้หวันรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังมีสังคมที่เปี่ยมด้วยความเป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพ ตลอดจนมีทรัพยากรข้อมูลด้านการวิจัยนโยบายสองฝั่งช่องแคบไต้หวันที่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตัดสินใจเดินทางมาศึกษาต่อในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตที่ไต้หวัน
นอกจากนี้ ยังมี Mr. Ahmet Faruk Isik นักศึกษาชาวตุรกีที่ศึกษาอยู่ใน NCCU เขาสามารถสื่อสารภาษาจีนได้อย่างคล่องแคล่ว โดยเขาได้เดินทางมาศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ หลักสูตรระดับปริญญาโทที่ไต้หวัน และทำการวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของตุรกีและเอเชียตะวันออก เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Mr. Ahmet ได้ยื่นรายงานต่อผู้สื่อข่าวของสื่อมวลชนในตุรกี โดยได้วิเคราะห์และยกย่องชื่นชมมาตรการการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ของไต้หวัน ตามการสังเกตการณ์ของตนเอง นอกจากนี้ Mr. Ahmet ยังได้ร่วมเรียบเรียงบทความในหนังสือที่ตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ “ไต้หวันศึกษาในตุรกี ด้านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” (Taiwan Studies in Turkey – II (History, Economy & International Relations)) ซึ่งเป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยเอเชีย - แปซิฟิกศึกษาของมหาวิทยาลัยอังการา และกลุ่มตัวแทนของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปในกรุงอังการา ตลอดจนรับหน้าที่เป็นผู้เขียนร่วมของคลังสมอง Bosphorus Center for Asian Studies (BAAM) ของตุรกีอีกด้วย
ศธ.ไต้หวันได้จัดตั้งทุนการศึกษาไต้หวัน นับตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาชาวต่างชาติที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมเดินทางมาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมีทุน HES ไว้เพื่อส่งเสริมให้ชาวต่างชาติจากนานาประเทศทั่วโลก เดินทางมาศึกษาภาษาจีนแบบดั้งเดิมที่ไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบ่มเพาะบุคลากรนานาชาติที่จะสามารถเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นๆ กับไต้หวันต่อไปในอนาคต
ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในไต้หวัน นอกจากเหล่านักศึกษาชาวต่างชาติจะสามารถทำความเข้าใจกับสภาพแวดล้อมทางการศึกษาและวัฒนธรรมในไต้หวันแล้ว ยังสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาชาวไต้หวัน และขยายวิสัยทัศน์สู่ความเป็นสากลให้กับนักศึกษาชาวไต้หวัน อีกทั้งการที่พวกเขามีส่วนร่วมในรั้วมหาวิทยาลัยและสังคมไต้หวัน ยังถือเป็นการแต่งแต้มสีสันความเป็นนานาชาติอันหลากหลายให้กับไต้หวันอีกด้วย