New Southbound Policy Portal

ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ปี 2020 ของ IMD ไต้หวันขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 11 ของโลก

NDC วันที่ 16 มิ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council, NDC) แถลงว่า สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศผลดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกประจำปี 2020 (IMD World Competitiveness Yearbook) ซึ่งผลการจัดอันดับในปีนี้ปรากฎว่า ไต้หวันครองอันดับที่ 11 จากทั้งหมด 63 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเป็นอันดับที่ดีขึ้น 5 อันดับจากปี 2019 และดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกแล้ว มีผลการจัดอันดับที่แซงหน้าจีนซึ่งอยู่อันดับที่ 20 เกาหลีใต้ซึ่งอยู่อันดับที่ 23 ญี่ปุ่นซึ่งอยู่อันดับที่ 34 และเป็นรองเพียงสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับที่ 1 และฮ่องกงซึ่งอยู่อันดับที่ 5

 

โดยความก้าวหน้าในผลการจัดอันดับของไต้หวัน สามารถเห็นได้จาก :
 

1. ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธรุกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ไต่อันดับดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พิจารณาจาก 4 หมวด คือ “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” “ประสิทธิภาพของภาครัฐ” “ประสิทธิภาพของภาคธรุกิจ” และ “โครงสร้างพื้นฐาน” ซึ่งในปีนี้ มีอันดับอยู่ที่ 17 , 9 , 12 , 15 ตามลำดับ โดยในจำนวนนี้ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ล้วนไต่อันดับดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประสิทธิภาพของภาครัฐที่มีอันดับดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ติด 1 ใน 10 อันดับแรกของทั่วโลก

 

2. รายการประเมินต่างๆ หลายรายการ ต่างอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก

รายการประเมินต่างๆ ทั้งหมด 20 รายการ มี 15 รายการที่มีความก้าวหน้าขึ้นจากปีที่แล้ว โดยในจำนวนนี้ “นโยบายภาษีค่าเช่า” “การบริหารจัดการ” “โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์” และ “โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี” ซึ่งมีอันดับอยู่ที่ 4 , 6 , 7 , 8 ตามลำดับ ต่างได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศ

 

3. เกณฑ์การจัดอันดับในปีนี้ของไต้หวัน แบ่งออกเป็น 4 หมวดหลักๆ ได้แก่

หมวดแรก สมรรถนะทางเศรษฐกิจ : ในปีนี้ตกมาอยู่ในอันดับที่ 17 จากอันดับที่ 15 ในปีที่แล้ว แต่ “เศรษฐกิจในประเทศ” กลับดีดตัวขึ้นจากอันดับที่ 15 ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 10 โดยสาเหตุหลักมาจาก การปรับอัตราการขยายตัวของการสะสมทุนถาวรเบื้องต้นที่ครองสัดส่วนใน GDP รวมถึงอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติมวลรวม และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว มีอันดับดีขึ้นกว่าเดิม

 

หมวดที่ 2 ประสิทธิภาพของภาครัฐ : ขยับขึ้นจากอันดับที่ 12 มาอยู่อันดับที่ 9 โดยในหมวดนี้ “สถานการณ์ทางการเงิน” ขยับขึ้น 1 อันดับมาอยู่อันดับที่ 11 ในจำนวนนี้ อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP และประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการคลัง ต่างมีอันดับที่ดีขึ้น

 

หมวดที่ 3 ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ : ขยับขึ้นจากอันดับที่ 14 มาอยู่อันดับที่ 12 โดยในหมวดนี้ “ประสิทธิภาพและกำลังการผลิต” ขยับขึ้น 4 อันดับมาอยู่อันดับที่ 13 ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก กำลังการผลิตของแรงงานเปี่ยมด้วยศักยภาพการแข่งขัน ประกอบกับธุรกิจดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ และการที่ภาคธุรกิจส่วนมากมักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มกำลังการผลิต นอกจากนี้ “ตลาดแรงงาน” ขยับขึ้น 7 อันดับมาอยู่อันดับที่ 25 สะท้อนให้เห็นว่าพนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานสูง ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการฝึกอบรมพนักงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอันดับที่ดีขึ้น

 

หมวดที่ 4 โครงสร้างพื้นฐาน : ขยับขึ้นจากอันดับที่ 19 มาอยู่อันดับที่ 15 โดยในหมวดนี้ “โครงสร้างขั้นพื้นฐาน” ขยับขึ้น 7 อันดับมาอยู่อันดับที่ 32 แสดงให้เห็นถึง การบริหารผังเมืองและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และพลังงาน มีการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น ส่วน “โครงสร้างทางเทคโนโลยี” ขยับขึ้น 5 อันดับมาอยู่อันดับที่ 8 แสดงให้เห็นว่า ความครอบคลุมด้านเครือข่าย 3G และ 4G ของไต้หวันครองอันดับ 1 ของโลก ในด้านความเร็วของอินเทอร์เน็ตและความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต ต่างมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงสามารถรักษาระดับเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี