New Southbound Policy Portal

OIE อนุมัติให้ไต้หวันเป็นประเทศปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่

คกก.การเกษตร วันที่ 17 มิ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. คณะกรรมการการเกษตร สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties, OIE) ได้ให้การรับรองว่า ทุกเขตพื้นที่ในไต้หวัน เกาะเผิงหูและมาจู่ เป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ โดยไม่ต้องพึ่งวัคซีน ซึ่งถือเป็นหลักชัยที่สำคัญในการมุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจป้องกันโรคระบาดสัตว์ มาเป็นเวลากว่า 23 ปี นับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา ที่ไต้หวันถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ ผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและภาคประชาชนทุกคน และเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ได้มาไม่ง่ายเลย


 

OIE เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานด้านสุขภาพของสัตว์โลก ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกรวม 182 ประเทศ ซึ่งไต้หวันนับรวมอยู่ในจำนวนดังกล่าวนี้ด้วย ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ไต้หวันจะส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาประจำปีซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมทั้งผลักดันความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในกิจการต่างๆ ของ OIE กับประเทศสมาชิกอย่างกระตือรือร้น


 

ต่อกรณีการยื่นขออนุมัติต่อ OIE ในการรับรองให้ทุกเขตพื้นที่ในไต้หวัน เกาะเผิงหูและมาจู่เป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ โดยไม่มีการฉีดวัคซีน เดิมทีมีกำหนดการพิจารณาและลงมติในที่ประชุมสมัชชา ครั้งที่ 88 แต่เนื่องจากในขณะนี้ ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) การประชุมดังกล่าวจึงจำเป็นต้องเลื่อนไปจัดขึ้นในปีหน้า ส่วนประเด็นสำคัญจะทำการลงมติผ่านทางออนไลน์ เพื่อคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพในการบริหารภารกิจขั้นพื้นฐานต่อไป


 

เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ของการป้องกันโรคระบาดสัตว์ของไต้หวัน เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนชาวไต้หวันตามกำหนดการของปีนี้ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ไต้หวันได้ทำการเจรจากับ OIE แล้ว ได้รับอนุมัติให้กรณีข้างต้นเข้าสู่กระบวนการพิจารณารับรอง รอบพิเศษ (Adapted Procedure) โดยตัวแทนของทุกประเทศสมาชิกได้ร่วมลงมติ และในวันที่ 16 มิ.ย. OIE แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ไต้หวันว่า ทุกเขตพื้นที่ในไต้หวัน รวมถึงเกาะเผิงหูและมาจู่ ได้รับอนุมัติให้เป็นเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ โดยไม่มีการฉีดวัคซีน พร้อมประกาศลงในเว็บไซต์ทางการของ OIE และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป และจะจัดพิธีมอบหนังสือรับรองอย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติ ในการประชุมประจำปีของ OIE ในปีหน้า


 

คกก.การเกษตรฯ ชี้แจงว่า หลังจากปี 1997 ที่ไต้หวันถูกจัดเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่ ส่งผลกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมไต้หวันอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 170,000 ล้านเหรียญไต้หวัน อีกทั้งยังถูกปิดช่องทางการส่งออกเนื้อสุกรไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ในเดือนมิถุนายน ปี 2016 สภาบริหารไต้หวันได้กำชับให้ คกก.การเกษตรเร่งหาหนทางแก้ไขวิกฤตนี้โดยเร็ว โดยกำหนดเป้าหมายหลักคือ ทำให้ไต้หวันเข้าสู่รายชื่อการเป็นประเทศปลอดโรคระบาดโดยเร็ว เมื่อได้รับมอบหมายแล้ว คกก.การเกษตรฯ ได้เร่งผนึกกำลังของภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาควิชาการและการวิจัย ในการร่วมวางแผนและดำเนินการตามโครงการแก้ไขปัญหาอย่างไม่รีรอ


 

คกก.การเกษตรแถลงเพิ่มเติมว่า โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคระบาดรุนแรง ที่มักเกิดกับสัตว์กีบคู่อย่างวัวและสุกร ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยในการผลิตของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในประเทศ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนอกจากจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการเลี้ยงสุกรแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสุกรไปจำหน่ายยังตลาดการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย ขณะนี้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสุกรของไต้หวันสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเก๊าได้แล้ว โดยในอนาคต ภาครัฐมีแผนการที่จะยื่นขออนุมัติการส่งออกเนื้อสุกรสด ไปจำหน่ายยังต่างประเทศต่อไป


 

ความกดดันของไต้หวันที่มาจากโลกภายนอกไม่เคยสิ้นสุดลง โรคปากและเท้าเปื่อยนับเป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดแสนสาหัส และเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ที่ฝังใจแก่ทุกภาคส่วน ด้วยเหตุนี้ เมื่อเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever, ASF) ไต้หวันจึงได้ออกมาตรการป้องกันโรคระบาดแบบล่วงหน้าโดยทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ ASFอย่างเข้มงวด ในปัจจุบันมี 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ประสบกับการแพร่ระบาดของ ASF ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีเพียงไต้หวันและญี่ปุ่นเท่านั้น ที่ยังไม่พบการแพร่ระบาดของ ASF ภายในประเทศ โดยในอนาคต คกก.การเกษตรฯ จะเร่งประสานความร่วมมือกับทุกแวดวงเพื่อเสริมสร้างมาตรการตรวจสอบที่รัดกุมต่อไป เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นต้นแบบของประเทศปลอดโรคระบาด ASF และรักษาไว้ซึ่งผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่ได้มาไม่ง่าย ตลอดจนเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย วางใจ และความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชนชาวไต้หวันสืบไป