New Southbound Policy Portal
หวงเยี่ยนหนี (ขวา) และเซี่ยทิงน่า (ซ้าย) ต่างก็ทำงานอื่นไปด้วย เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของร้านครัว IBU ทั้งสองร่วมมือร่วมใจสานฝันให้เป็นจริง
ในวันที่มีแดดจ้าซึ่งหาได้ยาก ท่ามกลางถนนโล่งๆ ในย่านดาวน์ทาวน์ของตำบลตงซัน เมืองอี๋หลาน หลัวจี้คุน (羅濟坤) นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กำลังนำคณะทัวร์เยี่ยมชม “ถนนโบราณตงซัน” เจาะลึกเข้าไปในตรอกซอยทั่วๆ ไป และมาหยุดอยู่ตรงหน้าตึกแถว 3 ชั้นที่ดูร่มรื่น
“ที่นี่เป็นร้านอาหารที่เปิดโดยผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งความพิเศษอยู่ที่ “การผลัดเวร” โดยคุณแม่ชาวอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือเวียดนาม จะผลัดกันมาเข้าครัว วัตถุประสงค์ในการเปิดร้านอาหารแห่งนี้ไม่ใช่เพื่อแสวงหากำไร แต่เพื่อเป็นสถานที่ให้แรงงานต่างชาติและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ได้เรียนรู้ภาษาและพบปะแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่เดิมเป็นสิ่งที่ภาครัฐจัดขึ้น เพื่อให้แรงงานต่างชาติและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ใช้ภาษาจีนไม่คล่อง ได้เรียนรู้ภาษาจีนและยืมหนังสืออ่านฟรี ตามแนวคิดส่งต่อหนังสือมือสอง”
หลัวจี้คุนเล่าต่อด้วยน้ำเสียงสบายๆ ไม่เร่งรีบว่า “ผมก็สนับสนุนให้ทุกคนมาอ่านหนังสือที่นี่ หากยืนอ่านไม่เสียสตางค์ แต่ถ้านั่งอ่านจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ใครมีหนังสือก็เอามาบริจาคได้ จะมากินข้าวที่นี่ก็ได้ การสนับสนุนพวกเขาถือเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาสังคม นี่เป็นจุดที่ทำให้ผมรู้สึกซาบซึ้งใจ”
สัมผัสกลิ่นอายบ้านเกิด คลายความคิดถึงบ้าน
ที่นี่ยังเป็นสถานที่แห่งแรกภายใต้ “โครงการอุดหนุนการฟื้นฟูอาคารเก่า” ของเทศบาลตำบลตงซัน เมืองอี๋หลาน หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านหนังสือตงกวาซัน คือ ผศ.เหลียงลี่ฟาง (梁莉芳) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติตงหัว (National Dong Hwa University : NDHU) เมื่อตอนที่เขาทำการสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อสุขภาพของแรงงานต่างชาติ ได้รู้จักกับเฮนนี คาร์ทิกา (Henny Kartika) หรือชื่อจีนว่า หวงเยี่ยนหนี (黃燕妮) ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวอินโดนีเซีย ซึ่งทำงานเป็นล่ามที่ท่าเรือหนานฟางอ้าว ขณะที่ทั้งสองนั่งรถไปด้วยกัน หวงเยี่ยนหนีได้พูดถึงความฝันที่อยู่ในใจของเธอมานานหลายปี
หวงเยี่ยนหนีซึ่งแต่งงานมาอยู่ไต้หวันนานกว่า 20 ปี อยากจะมีพื้นที่สำหรับแบ่งปันอาหารของภูมิภาคอาเซียน โชคดีที่ทางเทศบาลตำบลตงซันกำลังเริ่มผลักดันโครงการฟื้นฟูอาคารเก่า อาจจะทำให้ความฝันของเธอเป็นจริงขึ้นมาได้
ความคิดของหวงเยี่ยนหนี ที่จริงอาจเป็นความในใจเช่นเดียวกับเจ้าสาวผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานต่างชาติอีกหลายๆ คน อย่างตัวเธอเองต้องจัดเตรียมอาหารให้ที่บ้านสามีวันละ 3 มื้อ แต่สามีของเธอและพ่อแม่สามีไม่คุ้นกับกลิ่นกะทิและเครื่องเทศ ขนาดลูกๆ ก็ไม่ชอบกินอาหารอินโดนีเซีย ส่วนตัวเธอนั้นเคยชินกับการกินอาหารที่ในแต่ละคำต้องมีพริกอยู่ด้วย ในช่วงดึกสงัดเธอจึงทำอาหารที่ตัวเองคุ้นเคยอยู่เสมอ ถือเป็นการช่วยปลอบประโลมความรู้สึกคิดถึงบ้าน ขณะที่ต้องอยู่โดดเดี่ยวในต่างบ้านต่างเมือง
“ครัว IBU” เปิดร้านเมื่อปลายปี 2019 คำว่า IBU ในภาษาอินโดนีเซียหมายถึง “แม่” เพราะคนที่มีหน้าที่ทำอาหาร ก็คือบรรดาคุณแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แต่งงานมาแล้วย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ในไต้หวันนั่นเอง
ความหอมหวนของเครื่องเทศ คือความอร่อยบนโต๊ะอาหาร
ปัจจุบันเชฟประจำร้านคือ ดีนา บูชาร์ด (Deena Bouchard) หรือชื่อจีนว่า เซี่ยทิงน่า (夏汀娜) ชาวฟิลิปปินส์ และหวงเยี่ยนหนี ชาวอินโดนีเซีย ในบางครั้งเมื่อถึงวันอาทิตย์จะมีบรรดาคุณแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวเวียดนามและชาวไทยคนอื่นๆ มาเข้าร่วมด้วย แต่เนื่องจากปัจจัยด้านต้นทุนและกำไร ทำให้ในวันธรรมดาเชฟทั้งสองจะทำงานสอนภาษาอินโดนีเซียและภาษาอังกฤษไปด้วย ดังนั้นร้านอาหารจึงเปิดทำการเฉพาะวันพฤหัสบดีถึงวันอาทิตย์เท่านั้น
เซี่ยทิงน่า เกิดที่เมืองบาเกียวของฟิลิปปินส์ สามีเป็นคนไต้หวันสัญชาติอเมริกัน เธอตามสามีมาอยู่ไต้หวันเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ปัจจุบันทั้งคู่ได้แปลงสัญชาติมาเป็นสัญชาติไต้หวันแล้ว เซี่ยทิงน่าที่ฝันมาตลอดว่าอยากเปิดร้านอาหารของตัวเอง ได้นำกล้วยหอมสดมาทำเป็นซอสมะเขือเทศผสมกล้วยหอม ทำให้สปาเกตตีมีรสชาติเปรี้ยวและหวานมากขึ้น จนเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ เป็นอย่างมาก
เซี่ยทิงน่ามีฝีมือในการทำซินนามอนโรลไส้ฟักทองบดและทิรามิสุอะโวคาโดสไตล์ฟิลิปปินส์ ส่วนฤดูร้อนจะทำเป็นทิรามิสุมะม่วงแทน ครีมชีสที่เธอเป็นผู้ทำและนำมาราดลงไปบนซินนามอนโรลไส้ฟักทองบดมีกลิ่นหอมสดชื่นของมะนาวและกลิ่นหอมอบอวลของมะพร้าว เป็นของหวานที่ลูกค้าสั่งทานในร้านหรือสั่งกลับบ้านอยู่เสมอ
ข้าวเนื้อไก่ราดซอสกะทิเขียวเป็นอาหารรสเด็ดที่ลูกค้านิยมสั่ง นำใบเตยสดๆ ที่ปลูกในสวนมาคั้นน้ำทำเป็นข้าวหมกใบเตยหอมอ่อนๆ ส่วนเนื้อไก่หมักเป็นพิเศษด้วยขมิ้น ผักชี ยี่หร่า และตะไคร้ ทำให้มีกลิ่นหอมกรุ่นเป็นอย่างมาก
ครัว IBU จะจัดงาน “ค่ำคืนแห่งสะเต๊ะ” แล้วแต่วาระเหมาะสม หวงเยี่ยนหนีจึงเตรียมสะเต๊ะทั้งที่มีรสชาติแบบเมดันและแบบชวา โดยขอให้แรงงานอินโดนีเซียช่วยย่างให้ สะเต๊ะแบบเมดันค่อนข้างรสจัด นอกจากมีรสของถั่วลิสงแบบเข้มข้นแล้ว ยังเต็มไปด้วยรสเครื่องเทศหลายชั้น โดยเธอยึดถือหลักการในการทำอาหารว่า ต้องพิถีพิถันในทุกขั้นตอน และไม่ทำอย่างลวกๆ สะเต๊ะที่ย่างเสร็จแล้ว นอกจากจะราดด้วยซอสสะเต๊ะที่ทำเองและซีอิ๊วดำของชาวอินโดนีเซียแล้ว ยังโรยหอมเจียว และรับประทานคู่กับข้าวเปล่า ทำให้ทุกคนกินกันอย่างเอร็ดอร่อยไม่มีเบื่อ เหล่าแรงงานต่างชาติและเพื่อนชาวไต้หวันที่นั่งอยู่ที่โต๊ะอาหาร ต่างก็มาด้วยจิตใจที่อยากมาลองลิ้มชิมรสชาติของอาหาร และเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้คำทักทายขั้นพื้นฐาน อันถือเป็นการช่วยลดช่องว่างระหว่างกันไปในตัว
เห็นถึงความต้องการของแรงงานต่างชาติ
ครัว IBU ยังมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ร้านหนังสือตงกวาซัน” (冬瓜山書店) บนชั้นหนังสือจะมีป้ายเขียนว่า “ร้านหนังสือชั่นลั่นสือกวง (Brilliant Time) สาขาตงซัน” หมายถึงที่นี่ได้รับการถ่ายทอดจิตวิญญาณจากร้านหนังสือชั่นลั่นสือกวง ซึ่งก็คือ “ให้ยืมเท่านั้น ไม่ขาย” ตามแนวคิดของการแบ่งปันหนังสือมือสองให้ผู้อื่นนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
นอกจากจัดเป็นพื้นที่สำหรับอ่านหนังสืออย่างผ่อนคลายแล้ว อุดมการณ์แรกเริ่มในการก่อตั้งร้านหนังสือตงกวาซัน ก็เพื่อช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคในการใช้ชีวิตหรือการทำงานในไต้หวันของแรงงานต่างชาติ ดังนั้น ปัจจุบันร้านหนังสือแห่งนี้ยังเปิดสอนภาษาจีนให้เหล่าผู้อนุบาลชาวต่างชาติทุกวันพุธ และสอนภาษาจีนสำหรับแรงงานอินโดนีเซียในโรงงานทุกวันเสาร์ ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ภาษาจีนที่ใช้ในการทำงาน ซึ่งมีแรงงานต่างชาติจำนวนมากนั่งรถแท็กซี่มาไกลจากตำบลซันซิง เมืองอี๋หลาน เพื่อมาเรียน พวกเขาบอกว่าช่วยเติมเต็มให้กับชีวิตมากขึ้น ทำให้ในช่วงวันหยุดพักผ่อนจะได้ไม่เอาแต่เล่นมือถือ
แบ่งปันรสชาติของบ้านเกิดในภูมิภาคอาเซียน ช่วยลดการปรับตัวไม่ได้ในไต้หวันของแรงงานต่างชาติ การที่เธอสามารถเข้าอกเข้าใจถึงความต้องการเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี นั่นเป็นเพราะหวงเยี่ยนหนีเองก็เคยประสบปัญหาเหล่านี้มาก่อน เธอมาจากเกาะสุมาตรา มีเชื้อสายจีนครึ่งหนึ่ง เติบโตในอินโดนีเซียในยุคที่มีกระแสต่อต้านชาวจีนอย่างรุนแรง ตอนแต่งงานมาอยู่ไต้หวันใหม่ๆ ภาษาจีนยังไม่ค่อยได้ เคยถูกเพื่อนบ้านดูแคลน หาว่าเธอแต่งงานมาไต้หวันเพื่อเงิน หวงเยี่ยนหนีจึงใช้การกระทำแสดงให้เห็นว่า ตัวเธอก็ช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของครอบครัวได้ด้วยเช่นกัน เธอเรียนภาษาจีนโดยตามลูกชายไปเรียนที่โรงเรียนประถม เริ่มเรียนตั้งแต่เปอ เพอ เมอ เฟอ จนได้รับประกาศนียบัตร ปัจจุบันเธอใช้ภาษาจีนกลางและภาษาไต้หวัน (ไถอวี่) ได้อย่างคล่องแคล่ว และทำงานเป็นล่ามให้กับแรงงานต่างชาติ จึงค่อยๆ สร้างความมั่นใจในการทำงานให้ตัวเธอเองมากขึ้น
เหลียงลี่ฟางซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับผู้อนุบาลต่างชาติในครัวเรือน รวมถึงผู้ย้ายถิ่นฐานเนื่องจากการสมรสมาเป็นเวลานานกล่าวว่า ในไต้หวัน ทุก 30 คน จะมี 1 คนที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่หรือแรงงานต่างชาติ แต่ที่จริงแล้วสังคมไต้หวันกลับมองไม่เห็นพวกเขา เมื่อตอนที่เธอพานักศึกษาที่อยู่ในความดูแลไปทำวิจัยภาคสนาม และพบว่าผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานต่างชาติมีความรู้สึกโดดเดี่ยวเมื่ออยู่ต่างบ้านต่างเมือง ขาดความช่วยเหลือจากอุปสรรคในการสื่อสาร และต้องการความช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ร้านหนังสือตงกวาซันจึงมีการจัดงานบรรยายแนะนำหนังสือใหม่และจัดคอนเสิร์ตในภาษาอินโดนีเซียเพื่อแรงงานต่างชาติ ทำให้นอกจากพวกเขาจะทุ่มเทให้แก่การค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมอีกด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับหวงเยี่ยนหนีแล้ว ลูกชายของเธอซึ่งกำลังเรียนในมหาวิทยาลัยก็ยอมหันมาเริ่มเรียนภาษาอินโดนีเซียจากเธอแล้ว ในการโยกย้ายของชีวิต ไต้หวันไม่ได้เป็นดินแดนต่างถิ่นอีกต่อไป แต่กลายเป็นบ้านที่สามารถสานฝันให้เป็นจริง และได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นอีกด้วย