New Southbound Policy Portal

ครั้งแรกในประวัติการณ์! สภาบริหารไต้หวันนำเสนอรายงานแห่งชาติ ภายใต้ชื่อ “กติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับ”

สภาบริหาร วันที่ 29 มิ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมงานแถลงข่าวนำเสนอรายงานแห่งชาติครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “กติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับ” (Third Report on the ICCPR and ICESCR) ประกอบด้วย “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) และ “กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม” (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights, ICESCR) พร้อมกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้นำเสนอรายงานแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อ “กติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับ” ในนามของสภาบริหาร คาดหวังให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันก้าวเดินไปข้างหน้า ส่งเสริมให้ไต้หวันดียิ่งขึ้น ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อบรรลุอุดมการณ์ที่เพิ่มมากขึ้น


 

นรม.ซูฯ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มุ่งมั่นดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา อาทิ ภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักนิติธรรมและการบัญญัติกฎหมาย ในด้านการปฎิบัติจริงนั้น ก็ได้ดำเนินการภารกิจต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม ผลักดันให้ภารกิจแต่ละภาคส่วนพัฒนาไปอย่างรุดหน้า ซึ่งนอกจากจะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว เมื่อปี 2019 ยังได้มีการผ่านกฎหมายว่าด้วยการจดทะเบียนสมรสของคนรักเพศเดียวกัน พร้อมมีผลบังคับใช้ทันที โดยจากการทำโพลสำรวจความเห็นของภาคประชาชนในปีนี้ จะเห็นได้ว่า สังคมได้เปลี่ยนผ่านจากความฉงนและการไม่ยอมรับ มาเป็นการสนับสนุนและได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนเกินครึ่งของทั้งประเทศ


 

นรม.ซูฯ เน้นย้ำว่า “กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของสภาตรวจสอบ” ได้มีการบัญญัติอย่างเป็นทางการแล้ว โดยสภาตรวจสอบ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มีกำหนดการจะจัดตั้ง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน” ขึ้นในวันที่ 1 ส.ค. นี้


 

กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ไต้หวันได้มีการนำเสนอรายงานแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อ “กติการะหว่างประเทศ 2 ฉบับ” ไปเมื่อปี 2012 และปี 2016 และได้ร่วมหารือแก้ไขและปรับปรุงในส่วนของข้อกฎหมายและแผนปฏิบัติการด้านการบริหาร ที่คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบระดับนานาชาติได้ให้คำแนะนำในส่วนที่ยังมีข้อบกพร่อง ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานหลักประกันสิทธิมนุษยชนของไต้หวัน และส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงกับนานาชาติ