New Southbound Policy Portal
กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 5 ก.ค. 63
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) (Ministry of Economic Affairs, MOEA) แถลงว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ อาทิ สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ กระแสการลงทุนในระหว่างประเทศ และการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก จะเห็นได้ว่า นโยบายมุ่งใต้ใหม่ถือเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่ง MOEA จะดำเนินการผลักดันต่อไป พร้อมนี้ MOEA ได้ตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1. โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ส่งผลกระทบต่อความต้องการของทั่วโลก รวมถึงตลาดในประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ด้วย ประกอบกับราคาวัตถุดิบตั้งต้นของโลกก็ปรับตัวลดลง ส่งผลให้การส่งออกของไต้หวันหดตัว ทำให้ประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ต่างทยอยใช้มาตรการปิดประเทศชั่วคราว (Lock Down) เพื่อรับมือกับโรคโควิด – 19 ส่งผลให้การผลิตและการลงทุนชะลอตัวลง ประกอบกับความต้องการของตลาดปลายทาง เช่นสหรัฐฯ และประเทศในภูมิภาคยุโรปก็หดตัวลง อีกทั้งราคาวัตถุดิบในโลกก็ปรับตัวลดลงไปด้วย ทำให้ประเทศนโยบายมุ่งใต้ใหม่ลดการนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากไต้หวัน โดยเฉพาะด้านปิโตรเคมีภัณฑ์ สิ่งทอ และโลหะขั้นมูลฐาน
2. สัดส่วนการนำเข้าของประเทศและเขตเศรษฐกิจเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ มีการหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด โดยจากสถิติในปัจจุบันชี้ว่า การนำเข้าของสิงคโปร์ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 9.3% การนำเข้าของอินโดนีเซียในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ก็ลดลง 7.13% ในขณะที่ไทยก็ลดลง 7.99% ด้านการนำเข้าของฟิลิปปินส์ในช่วงไตรมาสแรก หดตัวลง 11.15% ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตัวเลขที่สูงกว่าอัตราการหดตัวของการส่งออกสินค้าจากไต้หวัน ไปยังประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ที่ลดลงเพียง 5.1 %
3. เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้แล้ว ถือว่าการส่งออกของไต้หวันยังมีศักยภาพในการแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ยอดส่งออกสะสมของญี่ปุ่นไปยังประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ หดตัวลง 12.30% ส่วนเกาหลีใต้หดตัว 13.83% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าไต้หวันถึง 2 เท่าตัว แสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกของไต้หวัน ยังอยู่ในระดับที่เหนือกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ได้ผ่านการลงนามความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement, FTA) กับกลุ่มประเทศอาเซียน ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการค้าระหว่างประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด – 19 ในครั้งนี้
4. นโยบายมุ่งใต้ใหม่เป็นทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองในระดับนานาชาติ สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ และโรคโควิด – 19 ระบาดในครั้งนี้ นักธุรกิจของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้บางส่วน ได้ย้ายรากฐานธุรกิจออกจากจีนไปยังประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ เช่น เวียดนามและไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวันเป็นทิศทางที่ถูกต้อง และมีความสอดคล้องกับมุมมองในระดับนานาชาติ โดยหลายปีมานี้ ประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ต่างก็เร่งรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก โดยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และขยายการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตในพื้นที่อย่างเต็มที่ เพื่อลดการพึ่งพาในการนำเข้า
5. สัดส่วนการส่งออกของไต้หวันไปยังจีน ยังคงมีแนวโน้มที่มีเสถียรภาพ ช่วงที่ผ่านมานี้ ความต้องการด้านเทคโนโลยี AI , 5G และเศรษฐกิจระยะไกล ได้สร้างความต้องการทางชิ้นส่วนอะไหล่ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มมากขึ้น จีนเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน โดยสองฝั่งช่องแคบได้มีการเสริมสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมระหว่างกันอย่างแนบแน่น ตลอด 5 ปีที่ผ่านมานี้ ยอดส่งออกของไต้หวันไปจีนรวมถึงฮ่องกงและมาเก๊า ครองสัดส่วนอยู่ที่ 40 % - 41.5 % ซึ่งเป็นแนวโน้มที่มีเสถียรภาพอย่างเห็นได้ชัด
6. MOEA ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยกระดับสู่ความเป็นดิจิทัล และได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเพิ่มยอดสั่งซื้อแก่ผู้ประกอบการในประเทศ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นจริงและรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากขณะนี้โรคระบาดยังคงลุกลามไปทั่วโลกอย่างรุนแรง หลังโรคโควิด – 19 สงบลง รัฐบาลจะเสริมสร้างกลไกการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผ่านการผลักดันการค้ารูปแบบดิจิทัลและธุรกิจอีคอมเมิรซ์ อาทิ การจัดตั้งโซนสินค้าป้องกันโรคระบาดและการใช้ประโยชน์จากการบริโภคที่บ้าน (Stay at Home Economy) การจัดนิทรรศการรูปแบบออนไลน์ การจัดแสดงสินค้าผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เป็นต้น นอกจากนี้ หลังจากที่โรครระบาดสงบลง รัฐบาลไต้หวันจะเชิญผู้ซื้อจากต่างประเทศเดินทางมาทำการสั่งซื้อสินค้าที่ไต้หวัน ผ่านการผลักดันของสำนักงานตัวแทนไต้หวันในต่างประเทศ รวมถึงการจัด Theme Pavilion ภายใต้หัวข้อพิเศษ ในงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติต่อไป