New Southbound Policy Portal

กต.ไต้หวันชี้แจง จุดยืนเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

MOFA วันที่ 14 ก.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ชี้แจงถึงกรณีพิพาทว่าด้วยอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งถือเป็นดินแดนของสาธารณรัฐจีน ดังนี้

 

1. หมู่เกาะในทะเลจีนใต้เป็นดินแดนของสาธารณรัฐจีน ดังนั้นสาธารณรัฐจีนมีสิทธิ์ตามกฎหมายสากลและกฎหมายทะเลเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้และน่านน้ำโดยรอบ โดยไร้ซึ่งข้อกังขา เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ปี 2016 ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ระบุถึง “4 หลักการ” และ “5 วิธีการ” ทั้งนี้ เพื่อร่วมยุติข้อพิพาทในประเด็นหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ร่วมกับประชาคมโลก กต.ไต้หวันจึงขอใช้โอกาสนี้ยืนยัน 4 หลักการดังกล่าวอีกครั้ง ดังนี้

 

(1) ข้อพิพาทในประเด็นหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ควรดำเนินการแก้ปัญหาตามกฎหมายสากลและกฎหมายทะเล ประกอบด้วย อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea, UNCLOS) โดยที่ไต้หวันจะยึดมั่นในสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา
 

(2) ไต้หวันควรเข้ามีส่วนร่วมในกลไกการเจรจาระงับข้อพิพาทระดับพหุพาคี
 

(3) ประเทศที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ร่วมกันธำรงรักษาเสรีภาพในการเดินเรือและการบินในอาณาเขตของทะเลจีนใต้
 

(4) สาธารณรัฐจีนได้เสนอแนะวิธีการยุติข้อพิพาทดังกล่าวด้วย “ปล่อยวางข้อพิพาท ร่วมกันพัฒนา” พร้อมยินดีที่จะร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้อง ธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพระดับภูมิภาคในทะเลจีนใต้ ภายใต้พื้นฐานของการเปิดการเจรจาอย่างเท่าเทียม ตลอดจนร่วมปกป้อง วิจัย และพัฒนาทรัพยากรในทะเลจีนใต้ให้คงอยู่สืบไป

 

2. จุดยืนเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ของไต้หวันไม่เคยสั่นคลอน และจะยังคงยืนหยัดในหลักการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทด้วยสันติวิธีต่อไป อย่างไรก็ตาม ไต้หวันคัดค้านประเทศที่อ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ด้วยการพยายามข่มขู่ บีบบังคับ รวมถึงใช้กำลังอาวุธมาจัดการปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้

 

3. การอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ของประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องสอดคล้องกับกฏหมายสากล รัฐบาลไต้หวันไม่ยอมรับข้อเสนอที่ขัดต่อกฏหมายสากล ไม่ว่าในกรณีใดๆ