New Southbound Policy Portal
MOFA วันที่ 17 ก.ค. 63
เมื่อวันที่ 15 ก.ค. กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ไต้หวันและสหภาพยุโรป (European Union, EU) ได้ร่วมจัดการประชุมปรึกษาหารือว่าด้วยสิทธิมนุษยชนประจำปี ครั้งที่ 3 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างธำรงรักษาและส่งเสริมค่านิยมสากลที่มีร่วมกันอย่างกระตือรือร้น ประกอบด้วย ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม เป็นต้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เช่นนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ประสานความร่วมมือในการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 รวมถึงสนับสนุนความสำคัญของค่านิยมสากล ผ่านการเจรจาหารือ ผนึกกำลังประสานความร่วมมือ
ระหว่างการประชุมในครั้งนี้ ไต้หวันและ EU ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสถานการณ์และนโยบายว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างกัน โดยเจ้าหน้าที่ไต้หวันได้ชี้แจงถึงความคืบหน้าในภารกิจหลักที่สำคัญๆ ว่า ขณะนี้ได้ร่าง “แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ฉบับแรก และได้จัดตั้ง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ขึ้นแล้ว ซึ่งภารกิจเหล่านี้ถือเป็นก้าวสำคัญของการสร้างหลักประกันและปรับปรุงสิทธิมนุษยชนของไต้หวันให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดียิ่งขึ้น ส่วน EU ได้ชี้แจงความคืบหน้าในการพัฒนานโยบายหลัก อาทิ “แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ปี 2020 – 2024”
นอกจากนี้ ไต้หวันและ EU ยังได้ร่วมหารือกันในประเด็นการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย สิทธิแรงงานประมงและแรงงานรับจ้างทำความสะอาดบ้าน อนึ่ง EU ได้ร่วมแสดงความยินดีกับไต้หวัน สำหรับความคืบหน้าของภารกิจต่างๆ ตาม “แผนปฏิบัติการว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน” ที่ใกล้จะแล้วเสร็จในเร็ววันนี้ พร้อมยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ไต้หวัน นอกจากนี้ EU ยังได้เน้นย้ำถึงการสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนให้กับแรงงาน เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบและการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างได้แสดงจุดยืนของตนในประเด็นความผิดอาญาขั้นอุกฤษฏ์โทษ โดย EU แสดงความคัดค้านอย่างรุนแรงต่อการที่ไต้หวันมีมติลงโทษประหารชีวิตนักโทษที่มีความผิดขั้นสูงสุด รายล่าสุดไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ปี 2020 พร้อมเรียกร้องให้ไต้หวันฟื้นนโยบายชะลอการประหารชีวิตและผลักดันการยกเลิกโทษประหารชีวิต นอกจากนี้ ไต้หวันและ EU ยังได้เข้าตรวจการณ์สถานกักกันนักโทษและเรือนจำในไต้หวัน โดยไต้หวันได้เรียกร้องให้ EU สร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของพลเมืองไต้หวันที่ถูกจับหรือถูกกักกันตัวในเขตแดนของ EU ซึ่งไต้หวันได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีของนายหลี่หมิงเจ๋อ มา ณ ที่นี้ด้วย
ท้ายนี้ ไต้หวันและ EU ได้ร่วมแบ่งปันในประเด็นการยกระดับความเสมอภาคทางเพศในประเทศของตน รวมถึงสถานการณ์การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการพัฒนานโยบายของกลุ่มบุคคล LGBTI ประกอบด้วย หญิงรักหญิง (Lesbian) ชายรักชาย (Gay) คนรักสองเพศ (Bisexual) คนข้ามเพศ (Transgender) และเพศกำกวม (Intersex) โดยเฉพาะความคืบหน้าหลังจากปี 2019 เป็นต้นมา ที่ไต้หวันได้ผ่านกฎหมายการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายก็ได้เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ในภายภาคหน้า ไต้หวันและ EU จะผลักดันการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือแบบทวิภาคีในประเด็นที่ทำการหารือในการประชุมครั้งนี้ต่อไป