New Southbound Policy Portal

โรงเรียนส่งเสริมภาษาจีนของสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมฝึกอบรมศิลปะการถักเชือก

สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย วันที่ 1 ก.ค. 63

 

เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมพื้นบ้านแบบจีนและบ่มเพาะครูอาจารย์ที่จะทำหน้าที่เป็นเมล็ดพันธุ์ด้านศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา โรงเรียนส่งเสริมภาษาจีนของสมาคมจงหัวแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมครูอาจารย์ในต่างแดนเพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ด้านวัฒนธรรม ในวันวัฒนธรรมศิลปะถักเชือกแบบจีนขึ้น โดยเดิมทีกิจกรรมนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 24 พ.ค. 2020 แต่เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) จึงทำให้มีความจำเป็นต้องเลื่อนกิจกรรม มาจัดขึ้นในวันที่ 27 มิ.ย. แทน


 

เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 27 มิ.ย. นายเกาเจียฟู่ หัวหน้าฝ่ายกิจการชาวจีนโพ้นทะเลของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) ได้รับเชิญให้เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว โดยนายเกาฯ ได้เข้าเยี่ยมชมการเรียนการสอน พร้อมให้กำลังใจแก่ครูอาจารย์ที่เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ โรงเรียนส่งเสริมภาษาจีนได้นายจงซิ่งหง ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการถักเชือกแบบจีน มาเป็นผู้บรรยายและสาธิตทักษะการถักเชือกแบบจีนเป็นรูปทรงต่างๆ รวมทั้งให้คำชี้แนะแก่ผู้เข้าเรียนในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง


 

กิจกรรมฝึกอบรมในครั้งนี้ มีนางเฉินซิ่วหลิง ผู้อำนวยการโรงเรียนส่งเสริมภาษาจีนทำหน้าที่เป็นประธาน โดยมีครูอาจารย์ในโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 20 กว่าคน คาดว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะช่วยบ่มเพาะครูอาจารย์ที่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ในการนำเอาศิลปวัฒนธรรม ไปเผยแพร่ให้กับนักเรียนในประเทศไทยต่อไป


 

โดยนายเกาฯ ได้แสดงความชื่นชมว่า ครูอาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างมีความตั้งใจในการเรียนรู้เป็นอย่างมาก กิจกรรมในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมให้ครูอาจารย์มีส่วนร่วมในการรับบทบาทหน้าที่เป็นผู้สืบทอดทางวัฒนธรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนส่งเสริมภาษาจีนแห่งนี้ ได้ผลักดันการศึกษาภาษาจีนรูปแบบตัวเต็มในประเทศไทยมาเป็นเวลายาวนาน และเป็นแหล่งรวมด้านการศึกษาของชาวจีนโพ้นทะเลที่สำคัญในต่างประเทศ “กิจกรรมฝึกอบรมครูอาจารย์ที่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ในการสืบสานทางวัฒนธรรมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากการเรียนการสอนภาษาจีนแล้ว ทางโรงเรียนฯ ยังมีความมุ่งมั่นในการผลักดันด้านวัฒนธรรมจีน เพื่อให้ศิลปวัฒนธรรมจีนได้รับการสืบสานให้คงอยู่ในต่างแดนสืบไป”