New Southbound Policy Portal
OCAC วันที่ 13 ส.ค. 63
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมา นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทยคนใหม่และภริยา ได้เดินทางไปประจำการที่ไทยด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ ซึ่งมีนักธุรกิจไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลจำนวน 120 คนร่วมเดินทางไปด้วย โดยนายถงเจิ้นหยวน ประธานคณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล (OCAC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายธงชัย ชาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ประจำกรุงไทเป (TTEO) ได้เดินทางมาส่งที่ท่าอากาศยานด้วยตนเอง พร้อมทั้งนางเหอซู่เจิน กรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกิจการชาวจีนโพ้นทะเล และนายหลิวซู่เทียน นายกสมาคมหอการค้าเอเชียไต้หวัน (Asia Taiwanese Chambers of Commerce, ASTCC) ก็ได้เดินทางมาเป็นตัวแทนของชาวจีนโพ้นทะเลในการส่งมอบคำอวยพรให้ผู้แทนหลี่ฯ เดินทางโดยสวัสดิภาพ
นายถงฯ กล่าวว่า ผู้แทนหลี่ฯ “แม้ตัวจะอยู่ไกล แต่ใจพร้อมแล้ว” โดยถึงแม้จะยังไม่ได้ไปเข้าประจำตำแหน่งในไทยโดยสมบูรณ์ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ผู้แทนหลี่ฯ ได้ทำการรวบรวมผู้ประกอบการไต้หวันรวม 6 บริษัท ผนึกกำลังบริจาคหน้ากากอนามัยจำนวน 1 ล้านชิ้นเพื่อส่งมอบน้ำใจให้กับไทย อีกทั้งยังได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับนายธงชัยฯ หลายครั้ง เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าภายใต้การนำของผู้แทนหลี่ฯ ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ไทยจะพัฒนาขึ้นไปสู่อีกขั้นหนึ่งได้อย่างแน่นอน และเพื่อส่งเสริมความเข้าใจให้กับผู้แทนหลี่ฯ ในด้านภารกิจและนโยบายต่างๆ ในระหว่างที่นายถงฯ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย นายถงฯ ได้ส่งมอบคู่มือ “มิตรภาพไต้หวัน-ไทย นโยบายมุ่งสู่ใต้ใหม่” ให้กับผู้แทนหลี่ฯ ในวาระนี้ด้วย
ทั้งนี้ นายหลี่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อนายถงฯ ที่ได้เสริมสร้างรากฐานความสัมพันธ์อันมั่นคงระหว่างไต้หวัน – ไทยตลอดระยะที่ดำรงตำแหน่งผู้แทนรัฐบาลไต้หวันในไทย ประกอบกับความมุ่งมั่นพยายามของผู้แทนฯ ในสมัยที่ผ่านๆ มา โดยไต้หวัน – ไทยต่างมีความเข้าใจระหว่างกันอย่างลึกซึ้ง นายหลี่ฯ กล่าวว่า ในอนาคต สำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทย (TECO) จะสนองนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของรัฐบาล และมุ่งเน้นผลักดันการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยชี้อีกว่า ความต้องการของไทยในส่วนของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารเทศ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการไทยแลนด์ 4.0 เมืองอัจฉริยะ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ต่างก็ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ไต้หวันมีความโดดเด่น จึงเชื่อว่าการสร้างความร่วมระหว่างกันของทั้งสองฝ่าย จะกลายเป็นแรงผลักดันที่มีอานุภาพเป็นอย่างยิ่ง และจะช่วยเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นในภูมิภาคสืบไป
นอกจากนี้ นายหลี่ฯ ยังมีแนวคิดที่จะสร้างความใกล้ชิดระหว่างสองประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนด้านศิลปะวัฒนธรรม อาทิ นาฏศิลป์ไทยและภาพยนตร์ไทย ต่างมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมาก ส่วนไต้หวันก็มีคณะนักแสดงอย่าง U – Theatre , Cloud Gate และ Paper Windmill Theatre ซึ่งมีผลงานการแสดงที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หากส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในเชิงลึก นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เช่นนี้ จะเห็นได้ว่ากิจกรรมการแลกเปลี่ยนในแวดวงชาวจีนโพ้นทะเลมีจำนวนลดน้อยลงตามไปด้วย โดยนายหลี่ฯ กล่าวว่า ในอนาคตจะเร่งเสริมสร้างการช่องการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างชาวจีนโพ้นทะเล ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลและเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ต่างๆ