New Southbound Policy Portal
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 28 ส.ค. 63
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 ส.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กล่าวชี้แจงในประเด็นสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ณ ห้องโถงทำเนียบฯ โดยระบุว่า ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางเกณฑ์กำหนดค่าระดับปริมาณสารแรคโตพามีน (Ractopamine) ตกค้างในเนื้อสุกรที่ใช้บริโภค (Maximum Residue Limits, MRLs) โดยจะต้องอ้างอิงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และมาตรฐานสากล ภายใต้บริบทที่ต้องคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งผ่อนปรนกฎระเบียบการนำเข้าเนื้อวัวสหรัฐอเมริกาที่มีอายุ 30เดือนขึ้นไป
ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ทำการประเมิณสถานการณ์ในภาพรวมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีความคิดเห็นว่าการตัดสินใจอนุญาตให้นำเข้าเนื้อสุกรและเนื้อวัวจากสหรัฐฯ นอกจากจะเป็นการตัดสินใจที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ภาพรวมของประเทศ และเป้าหมายการพัฒนายุทธศาสตร์ในอนาคตแล้ว ยังเป็นการตัดสินใจที่สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ให้เกิดความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเป็นการตัดสินใจที่สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหาร ตลอดจนเป็นการตัดสินใจที่สร้างหลักประกันให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรอดพ้นจากการได้รับผลกระทบ โดยรัฐบาลจะดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างละเอียดถี่ถ้วน เสริมสร้างมาตรการตรวจคัดกรองและทดสอบสารเร่งเนื้อแดงตกค้างในเนื้อสุกรนำเข้าอย่างรัดกุม และจะดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์รับรองผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเคร่งครัด ด้วยเหตุนี้ ปธน.ไช่ฯ จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนกล้าที่จะก้าวสู่การพัฒนา พร้อมเชื่อว่าประเทศชาติจะก้าวสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้น
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า นี่เป็นการตัดสินใจภายใต้บริบทของการพิจารณาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ในอนาคต ขณะนี้เศรษฐกิจของไต้หวันกำลังยืนอยู่ในจุดพลิกผันทางประวัติศาสตร์ พวกเราจำเป็นต้องคว้าโอกาสเชิงยุทธศาสตร์ ร่วมกันขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่ขวางกั้น เปิดช่องทางใหม่ๆ ให้กับไต้หวัน ก้าวไปสู่เวทีเศรษฐกิจโลกอย่างเต็มภาคภูมิ
ปธน.ไช่ฯ แถลงว่า ตนเชื่อมั่นว่าหากพวกเราสามารถมุ่งสู่ก้าวสำคัญในประเด็นเนื้อสุกรและเนื้อวัวจากสหรัฐฯ ได้ จะเป็นการเปิดโฉมใหม่แห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจแบบครบวงจรระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ โดยในอนาคต ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและการค้าของพวกเรา จะมีความคล่องตัวและมีขีดความสามารถที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งนี่จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 และจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดั้งเดิม
ขณะนี้ สุกรที่ผลิตในประเทศครองสัดส่วนในตลาดกว่าร้อยละ 90 และกำลังอยู่ในระหว่างการยกระดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก โดยพวกเราได้จัดตั้ง “กองทุนอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกร” มูลค่า 1 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน เพื่อสร้างหลักประกันทางรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร
ทั้งนี้ พวกเราจะยกระดับความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกร ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรของไต้หวันก้าวสู่หลักชัยใหม่ หลังจากที่เอาชนะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่มาได้ โดยในปัจจุบัน เนื้อสุกรของไต้หวันสามารถส่งออกไปยังสิงคโปร์และมาเก๊าได้แล้ว ในลำดับต่อไป พวกเราจะเร่งขยายตลาดนานาชาติให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เนื้อสุกรที่มีศักยภาพในการแข่งขันระดับโลก สามารถจำหน่ายสู่นานาประเทศทั่วโลกได้
กล่าวโดยสรุป สำหรับประเด็นการนำเข้าเนื้อสุกรและเนื้อวัวจากสหรัฐฯ ในด้านความปลอดภัยทางอาหาร “หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ มาตรฐานสากล และสัญลักษณ์รับรองผลิตภัณฑ์อาหาร” ถือเป็นหลักการการนำเข้าที่สำคัญของไต้หวัน ในด้านอุตสาหกรรม การสร้างหลักประกันทางรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกเนื้อสุกรของไต้หวัน ขยายช่องทางการตลาดนานาชาติ นับเป็นเป้าหมายหลักของพวกเรา
นี่เป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะผลักดันให้ไต้หวันสามารถก้าวไปสู่เวทีนานาชาติในระดับโลก พวกเราได้ตัดสินใจแล้ว จึงขอเรียกร้องให้ประชาชนกล้าหาญที่จะก้าวไปพร้อมกันกับเรา เชื่อว่าประเทศชาติจะก้าวไปสู่อนาคตที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน