New Southbound Policy Portal

รัฐบาลไต้หวันดันแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม UN เรียกร้องให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความคาดหวังของประชาชนชาวไต้หวัน 23.5 ล้านคนในการเข้ามีส่วนร่วมใน UN

MOFA วันที่ 28 ส.ค. 63

 

การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 75 (The 75th session of the UN General Assembly (UNGA 75) มีกำหนดการเปิดการประชุมขึ้นในวันที่ 15 ก.ย. ตามเวลาในนครนิวยอร์ก ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) และมีกำหนดการจัดอภิปรายทั่วไป (General Debate) ในระหว่างวันที่ 22 – 26 ก.ย. และ 29 ก.ย. สืบเนื่องจากทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ด้วยเหตุนี้ การจัดอภิปรายทั่วไปในครั้งนี้จึงได้จัดตั้งขึ้นภายใต้หัวข้อ “อนาคตที่พวกเราเฝ้ารอคอย สหประชาชาติที่พวกเราต้องการ : ยืนยันในคำมั่นสัญญาที่มีต่อกลุ่มความร่วมมือพหุภาคี : ร่วมสกัดกั้นโรคโควิด – 19 ด้วยแนวทางการดำเนินการแบบพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ”


 

เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงความมุ่งมั่นและความคาดหวังในการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การสหประชาชาติ (United Nations, UN) ของประชาชนชาวไต้หวัน พร้อมทั้งกระตุ้นให้ทุกแวดวงทั่วโลกตระหนักเห็นว่า ไต้หวันมีความยินดีและมีศักยภาพในการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ของ UN ด้วยเหตุนี้ แผนผลักดันในปีนี้ของรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงยึดมั่นในประเด็นดังกล่าวเป็นหลัก โดยนอกจากจะเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในการจัดอภิปรายทั่วไปแล้ว ยังขอให้ประเทศพันธมิตรร่วมส่งหนังสือเรียกร้องต่อ Mr. Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ให้ยึดมั่นในหลักการยอมรับซึ่งกันและกัน และไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง ซึ่งเป็นหลักการที่ UN เน้นย้ำมาโดยตลอด ทั้งนี้ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาที่ไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบ UN มาเป็นระยะเวลานาน


 

ข้อเรียกร้อง 3 ประการในแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุมฯ ของรัฐบาลไต้หวันในปีนี้ เป็นการสานต่อจากปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย ประการแรก UN ควรเร่งแก้ไขปัญหาสภาพการณ์ที่ประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23.5 ล้านคนถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบของ UN อย่างเป็นรูปธรรม ประการที่ 2 UN ควรเร่งแก้ไขปัญหาการลิดรอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อไต้หวัน ในการเข้าเยี่ยมชม การมีส่วนร่วมในที่ประชุม หรือการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของ UN ประการสุดท้าย UN ควรรับประกันสิทธิความเสมอภาคในการเข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกลไกและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในการสร้างคุณูปการให้แก่ประชาคมโลก เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)


 

เพื่อให้ประชาคมโลกรับรู้และเข้าใจข้อเรียกร้องข้างต้นของไต้หวัน นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ออกแถลงการณ์ภายใต้หัวข้อ “ประสานความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์หลังโควิด - 19 - ไต้หวันช่วยได้” (Recover Better Together – Taiwan can help) นอกจากนี้ กต.ไต้หวันยังได้วางแผนจัดทำวิดีทัศน์สั้น เพื่อนำเสนอให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จของไต้หวัน พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่แวดวงต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศในการร่วมสกัดกั้นโรคระบาด


 

ทั้งนี้ รัฐบาลไต้หวันยังได้จัดกิจกรรมรูปแบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของโลกในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)” เพื่อวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างให้ประชาคมโลกทำความเข้าใจกับผลสัมฤทธิ์และคุณูปการ ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ตลอดจนแสดงให้เห็นว่าไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งของโลก ในด้านการป้องกันและเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19


 

รัฐบาลไต้หวันขอแสดงความขอบคุณประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศ ที่ให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือในแผนผลักดันการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ พร้อมเรียกร้องว่า เพื่อเสริมสร้างยุคหลังโควิด – 19 ที่ดียิ่งขึ้น เปี่ยมด้วยการยอมรับซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น และมีการพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น UN ควรยอมรับการเข้ามีส่วนร่วมของประชาชนชาวไต้หวัน 23.5 ล้านคนอย่างเป็นรูปธรรม