New Southbound Policy Portal

ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกัวเตมาลา ร่วมจัดการประชุมนานาชาติตามกรอบ GCTF ในรูปแบบออนไลน์ในพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียนและภูมิภาคลาตินอเมริกาเป็นครั้งแรก

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :

 

♦ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐกัวเตมาลา ได้ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยเทคโนโลยีการป้องกันโรคโควิด – 19 รูปแบบออนไลน์ ตามกรอบความร่วมมือ GCTF ในพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียนและภูมิภาคลาตินอเมริกา

 

♦ ประสบการณ์การป้องกันโรคระบาด “รูปแบบไต้หวัน” (Taiwan Model) ที่ประสบความสำเร็จ สามารถเป็นต้นแบบให้แก่ประชาคมโลกนำไปอ้างอิงและประยุกต์ใช้ได้

 

♦ คุณค่าแห่งประชาธิปไตยของไต้หวัน ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไต้หวัน และผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากประชาคมโลก

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
MOFA วันที่ 9 ก.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ตามเวลาในกรุงไทเป สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐกัวเตมาลา ได้ร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยเทคโนโลยีการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) รูปแบบออนไลน์ ตามกรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (Global Cooperation and Training Framework, GCTF) ในพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียนและภูมิภาคลาตินอเมริกา โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการป้องกันโรคระบาด เจ้าหน้าที่ภาครัฐของประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศในภูมิภาคฯ นักวิชาการ รวมถึงผู้สื่อข่าวกว่า 200 คนจาก 25 ประเทศ เข้าร่วมในการประชุมรูปแบบออนไลน์ในครั้งนี้


 

ขณะเริ่มการประชุม ตัวแทนประเทศเจ้าภาพทั้ง 4 ได้ทยอยกันขึ้นกล่าวปราศรัย ประกอบด้วย Ms. Julie Chung รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการซีกโลกตะวันตก กล่าวขณะปราศรัยว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ GCTF ได้จัดการประชุมโดยมุ่งเน้นไปในพื้นที่แถบทะเลแคริบเบียนและภูมิภาคลาตินอเมริกาเป็นครั้งแรก พร้อมนี้ Ms. Julie ยังได้ให้การยอมรับต่อคุณูปการด้านการส่งเสริมประชาธิปไตยและการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ไต้หวันได้สร้างคุณประโยชน์ให้แก่พื้นที่ดังกล่าว ตลอดจนส่งเสริมให้ประเทศพันธมิตรของไต้หวันและนานาประเทศทั่วโลก เร่งประสานความร่วมมือกับไต้หวันอย่างกระตือรือร้นและขยายความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างกัน


 

Mr. Pedro Brolo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐกัวเตมาลา เน้นย้ำถึงผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่มีต่อทุกภาคส่วนในประชาคมโลก พร้อมให้การยอมรับว่า การประชุมในครั้งนี้มีส่วนช่วยในการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดระหว่างนานาชาติ ร่วมจับมือกันก้าวข้ามอุปสรรคครั้งใหญ่ นอกจากนี้ Mr. Pedro ยังได้แสดงความขอบคุณต่อทุกฝ่ายที่มีส่วนสนับสนุนให้กัวเตมาลา ร่วมเป็นหนึ่งในเจ้าภาพจัดกิจกรรมในครั้งนี้


 

นายเฉาลี่เจี๋ย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวชี้แจงขณะปราศรัยว่า ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ไต้หวันได้เร่งประสานความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อสกัดกั้นโรคระบาดอย่างกระตือรือร้น พร้อมแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพของไต้หวันที่พร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศในภูมิภาคฯ ขณะเดียวกัน รัฐบาลไต้หวันก็ขอแสดงความขอบคุณต่อสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ประเทศพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ที่ได้ให้การสนับสนุนแผนผลักดันเข้าร่วม “องค์การอนามัยโลก” (WHO) ของไต้หวันอย่างหนักแน่น พร้อมยืนยันว่า ไต้หวันจะพิสูจน์ให้ประชาคมโลกประจักษ์ถึงความสำคัญที่ทั่วโลกจำเป็นต้องยอมรับให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมด้วยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป


 

Mr. Hiroyasu Izumi ตัวแทนสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการป้องกันโรคระบาด พร้อมให้การยอมรับต่อประสบการณ์การป้องกันโรคระบาด “รูปแบบไต้หวัน” (Taiwan Model) ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถเป็นต้นแบบให้แก่ประชาคมโลกนำไปอ้างอิงและประยุกต์ใช้ได้ ขณะเดียวกัน Mr. Hiroyasu ได้เน้นย้ำอย่างชัดเจนว่า ญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนกรอบความร่วมมือ GCTF ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป


 

นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งนี้ยังได้เชิญถังฟ่ง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารไต้หวัน Dr. Kamran Khan ประธานกรรมการบริหารของบริษัท BlueDot แห่งแคนาดาและอาจารย์แพทย์คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโตรอนโต รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันโรคระบาดของญี่ปุ่น เข้าร่วมบรรยายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสำหรับการป้องกันโรคระบาด พร้อมทั้งเปิดให้ผู้เข้าร่วมในระบบออนไลน์ซักถามข้อสงสัย ซึ่งบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคึกคัก


 

โดยการประชุมในครั้งนี้ มี Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT- Taipei office) ทำหน้าที่เป็นผู้กล่าวสรุปเพื่อปิดการประชุม โดย Mr. William ได้ชื่นชมยอมรับคุณค่าแห่งประชาธิปไตยของไต้หวัน ความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไต้หวัน รวมถึงผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวันที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากประชาคมโลก


 

กต.ไต้หวันขอแสดงความขอบคุณแขกผู้เกียรติทุกท่านที่เข้ามีส่วนร่วมในการประชุมครั้งนี้ โดยในอนาคต ไต้หวันจะร่วมแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือตามกรอบ GCTF กับนักการเมือง นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญของประเทศพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ภายใต้ประเด็นสำคัญที่นานาชาติจับตาและให้ความสนใจต่อไป ตลอดจนร่วมเสริมสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดแก่ประชาคมโลกสืบไป