New Southbound Policy Portal
สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย เดินทางไปเยี่ยมชมสถานประกอบการของนักธุรกิจไต้หวันในไทย 2 แห่ง เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์การดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ ทิศทางการพัฒนาในอนาคต และส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ
♦ รัฐบาลไต้หวันคาดหวังที่จะสร้างความร่วมมือในรูปแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันกับประเทศอาเซียน เอเชียใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
-------------------------------------------
สำนักงานตัวแทนไต้หวันในไทย วันที่ 15 ก.ย. 63
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการเศรษฐกิจได้เดินทางไปเยี่ยมชมสถานประกอบการของนักธุรกิจไต้หวันในไทย 2 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท Apex Circuit (Thailand) Co.,Ltd. และบริษัท Cal-Comp Electronics (Thailand) PCL เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์การดำเนินกิจการของผู้ประกอบการ ทิศทางการพัฒนาในอนาคต และส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ
โดยสถานประกอบการแห่งแรกที่นายหลี่ฯ เดินทางไปเยือนคือ บริษัท Cal-Comp Electronics (Thailand) โดยนายโจวข่งสวิ้น ผู้จัดการทั่วไปพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงได้ให้การต้อนรับ พร้อมชี้แจงถึงสถานการณ์การบริหารงานในปัจจุบัน และพาชมขั้นตอนการดำเนินงานในสถานประกอบการซึ่งผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในเครือ New Kinpo Group ที่ก่อตั้งมานับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 1989 โดยสินค้าหลัก ได้แก่ เครื่องปริ้นเตอร์ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์แบบพกพา กล่องแปลงสัญญาณ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลอัจฉริยะที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (NAS) เป็นต้น โดยสถานประกอบการในไทยได้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) เทคโนโลยีบิ๊กดาต้า และแขนกลอัจฉริยะ มาเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการผลิตยุค 4.0
นายโจวฯ ชี้แจงให้เจ้าหน้าที่รัฐทราบว่า ข้อเสียเปรียบของนักธุรกิจไต้หวันในไทยแบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ บุคลากรและห่วงโซ่อุปทาน จึงขอให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือดังต่อไปนี้ : (1) ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไต้หวันในการสร้างรากฐานธุรกิจในไทยเพื่อเป็นการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม (2) สืบเนื่องจากไต้หวันมีบุคลากรชั้นเลิศเป็นจำนวนมาก จึงคาดหวังให้ภาครัฐช่วยส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการสำหรับนักธุรกิจไต้หวันในไทยและแวดวงการศึกษาในไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อมอบเวทีในการสำแดงความเชี่ยวชาญเฉพาะทางให้กับบุคลากรไต้หวัน และเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่นักธุรกิจไต้หวันในการค้นหาบุคลากรชั้นเลิศเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน
สถานประกอบการอีกแห่งในตารางการเยี่ยมชมในครั้งนี้ คือบริษัท Apex Circuit (Thailand) โดยนายหวังซู่มู่ ประธานกรรมการบริษัทได้นำคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ร่วมชี้แจงถึงแนวทางการบริหารและสถานการณ์ในปัจจุบันของสถานประกอบการ โดยบริษัทนี้ก่อตั้งมานับตั้งแต่ปี 2001 ณ จังหวัดสมุทรสาคร เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากภาพรวมรายได้ของบริษัทที่เติบโตขึ้นจาก 100 ล้านบาทในปีแรกจนปัจจุบันขยับมาอยู่ที่ 13,000 ล้านบาทต่อปี มีพนักงานเป็นจำนวนทั้งสิ้น 7,000 คน ปัจจุบันนี้ บริษัทดังกล่าวขึ้นชื่อว่าเป็นซัพพลายเออร์แผงวงจรชั้นนำในด้านการผลิตโทรทัศน์และเครื่องปริ้นเตอร์ระดับโลก
เจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของบริษัทApex Circuit (Thailand) ระบุว่า ตลาดส่งออกของบริษัทApex Circuit ครอบคลุมไปทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีเพียงบริษัทประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันเท่านั้น ที่ยังไม่ได้นำเข้าสินค้าจากบริษัท Apex Circuit ซึ่งทางบริษัทฯ คาดหวังให้รัฐบาลช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการของไต้หวันหันมาสั่งซื้อสินค้ากับทางบริษัทฯ มากขึ้น
นายหลี่ฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2016 ที่รัฐบาลไต้หวันเร่งผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ได้มุ่งเน้นภารกิจใน 4 มิติ ดังนี้ “ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า” “การแลกเปลี่ยนระหว่างบุคลากร” “การแบ่งปันทรัพยากร” และ “การเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค” โดยรัฐบาลไต้หวันคาดหวังที่จะสร้างความร่วมมือในรูปแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันกับประเทศอาเซียน เอเชียใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย โดยบริษัทข้างต้นทั้ง 2 แห่งได้สร้างรากฐานและประกอบกิจการในไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน พร้อมทั้งได้สร้างความสัมพันธ์แบบเอื้อประโยชน์ระหว่างกันกับผู้ถือหุ้น พนักงานในพื้นที่ ซัพพลายเออร์ และลูกค้ามาเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง โดยแนวคิดและผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินกิจการนั้น สอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่เป็นอย่างมาก