New Southbound Policy Portal

แผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม UN ของไต้หวันในปีนี้ ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามจากประชาคมโลก กต.ไต้หวันขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ไต้หวันเป็นประเทศต้นแบบที่สามารถสกัดกั้นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบที่เกี่ยวข้องของ UN ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และหลักการที่ UN ยึดมั่นในด้าน “การยอมรับซึ่งกันและกัน” และ “ความเป็นสากล”

♦ ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่างให้การสนับสนุนแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม UN ของไต้หวันผ่านวิธีการอันหลากหลาย

♦ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ UN ที่ไต้หวันมีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างการประชุมของ UN รวมทั้งหมด 3 รอบนั้น จะเปลี่ยนรูปแบบมาดำเนินการจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์แทน โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเป้าหมาย SDGs สตรีและการพัฒนาระหว่างประเทศ
-------------------------------------------

MOFA วันที่ 2 ต.ค. 63

 

ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 75 (The 75th session of the UN General Assembly (UNGA 75) ประจำปี 2020 รัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ใช้วิธีการอันหลากหลายในการเรียกร้องประชาคมโลกร่วมให้การสนับสนุนไต้หวัน ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ในการส่งเสริมให้ทุกแวดวงทั่วโลกเข้าใจต่อข้อเรียกร้องในแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม UN ของไต้หวันอย่างลึกซึ้ง รวมไปถึงความคาดหวังของประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23.5 ล้านคนที่มีต่อการเข้าร่วมในเครือข่าย UN อีกทั้งยังเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงในการผลักดันการเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ที่มีกำหนดการจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

 

ไต้หวันในฐานะประเทศสมาชิกของ UN ในปีนี้ประเทศพันธมิตรของไต้หวันทั้ง 14 ประเทศได้ใช้วิธีการร่วมลงนามและการทยอยส่งหนังสือเรียกร้องต่อ Mr. Antonio Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ ส่งจดหมายเชิญให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในเครือข่าย UN โดยประเทศพันธมิตรของไต้หวันต่างได้ระบุเน้นย้ำในหนังสือเรียกร้องอย่างชัดเจนว่า ไต้หวันเป็นประเทศต้นแบบที่สามารถสกัดกั้นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบที่เกี่ยวข้องของ UN ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และหลักการที่ UN ยึดมั่นในด้าน “การยอมรับซึ่งกันและกัน” และ “ความเป็นสากล” ด้วยเหตุนี้ บรรดาประเทศพันธมิตรของไต้หวันจึงได้ให้การเสนอแนะอย่างหนักแน่นว่า ความพยายามในการส่งเสริมการฟื้นฟูในภาคส่วนต่างๆ ของทั่วโลกและการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ UN เร่งส่งเสริม ไม่ควรขาดการมีส่วนร่วมของไต้หวัน

 

ในระหว่างการอภิปรายทั่วไป (General Debate) ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของ 12 ประเทศพันธมิตรไต้หวันต่างทยอยเป็นกระบอกเสียงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับไต้หวัน โดยผู้นำระดับสูงดังกล่าว ประกอบด้วย ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐปาเลา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐปารากวัย ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเฮติ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐนาอูรู นายกรัฐมนตรีแห่งตูวาลู นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรสวาซิแลนด์ นายกรัฐมนตรีแห่งเซนต์วินเซนต์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธรัฐเซนต์คิตส์และเนวิส นายกรัฐมนตรีแห่งเซนต์ลูเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งเบลิซ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐนิการากัว ได้ร่วมกันเรียกร้องให้ UN บรรลุคำมั่นที่ว่า “ไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง” ด้วยการส่งจดหมายเชิญให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม UN อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้ไต้หวันประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกในการรับมือกับการฟื้นฟูในภาคส่วนต่างๆ หลังยุคโควิด – 19 ตลอดจนสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้นร่วมกัน

 

ทั้งนี้ ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่างให้การสนับสนุนแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม UN ของไต้หวันผ่านวิธีการอันหลากหลาย ในจำนวนนี้ Ms. Kelly Craft ผู้แทนถาวรของสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ได้ร่วมหารือกับนายหลี่กวงจาง ผู้อำนวยการสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำนครนิวยอร์ก ในประเด็นที่ว่าทางสหรัฐฯ พร้อมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม UN อย่างเต็มกำลัง นอกจากนี้ Ms. Craft ยังได้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ UN ที่ร่วมจัดโดยไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ภายใต้กรอบความร่วมมือและฝึกอบรมนานาชาติ (Global Cooperation and Training Framework, GCTF) และทำหน้าที่กล่าวปราศรัยในฐานะแขกกิตติมศักดิ์ในงานด้วย

 

นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปีนี้ยังบังเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมากมาย นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เผยแพร่บทความในหัวข้อพิเศษ โดยเรียกร้องให้ UN ตั้งมั่นอยู่ในหลักการพื้นฐานของการก่อตั้ง UN อันว่าด้วย “ความเป็นสากล” และ “ความเสมอภาค” ด้วยการเชิญให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วม โดยบทความของรมว.อู๋ฯ ได้รับการเผยแพร่โดยสื่อของประเทศต่างๆ รวมกว่า 217 ฉบับ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แคนาดา เป็นต้น นอกจากนี้ ภาพยนตร์สั้นในแผนผลักดันฯ ภายใต้หัวข้อ “คำอวยพรจากไต้หวัน” ยังได้รับความสนใจจากประชาคมโลก โดยมียอดวิวกว่า 11.2 ล้านครั้ง อีกทั้งยังได้โพสต์บทความที่เกี่ยวข้องลงบนเฟซบุ๊กทางการของ กต.ไต้หวันจำนวนกว่า 1.96 ล้านครั้ง

 

เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ UN ที่ไต้หวันมีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างการประชุมของ UN รวมทั้งหมด 3 รอบนั้น จะเปลี่ยนรูปแบบมาดำเนินการจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์แทน โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเป้าหมาย SDGs สตรีและการพัฒนาระหว่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์และคุณูปการที่ไต้หวันได้สร้างขึ้นในกับหลากหลายแวดวงที่เกี่ยวข้องในประชาคมโลก

 

รัฐบาลไต้หวันขอแสดงความขอบคุณประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศที่ร่วมสนับสนุนแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม UN ของไต้หวัน กต.ไต้หวันเน้นย้ำว่า ความตั้งใจแน่วแน่ที่ไต้หวันต้องการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ การประสานความร่วมมือกับทั่วโลกและ UN ตลอดจนร่วมมือในการยกระดับสวัสดิการของมวลมนุษยชาติและการบรรลุเป้าหมาย SDGs จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง