New Southbound Policy Portal

นายเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ นักเขียนชาวไทยที่ได้รับรางวัลซีไรต์ แบ่งปันประสบการณ์การเดินทางมาพำนักที่หมู่บ้านศิลปินของไต้หวัน ในงานเปิดตัวผลงานวรรณกรรมเรื่อง “ฝูงนกอพยพ”

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ เมื่อช่วงปลายปี 2018 นายเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ นักเขียนชาวไทยที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ได้เดินทางมาพำนักที่หมู่บ้านศิลปินของไต้หวัน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมเรื่อง “ฝูงนกอพยพ” (Birds on A Wire)

♦ “ฝูงนกอพยพ” เปรียบได้กับสถานการณ์การย้ายถิ่นฐานของผู้คนในสังคม โดยจะเห็นได้จาก “ฝูงนกอพยพ” ที่บินจากไทยสู่ไต้หวัน สะท้อนให้เห็นว่าทุกคนมีความคาดหวังที่จะลองเสี่ยงดูสักตั้ง เพื่อหลุดพ้นจากความยากจน และมอบคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับสมาชิกในครอบครัว

♦นายเรวัตร์กล่าวว่า ตนคาดหวังที่จะให้หนังสือเล่มนี้ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านภาษาและวัฒนธรรม ส่งเสริมให้ผู้อ่านต่างชาติพันธุ์ ต่างเพศ ต่างสัญชาติ สามารถทำความเข้าใจในชีวิตและแสวงหาความหมายของชีวิตให้กับตนเอง
-------------------------------------------
กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 3 ต.ค. 63

 

เมื่อช่วงปลายปี 2018 นายเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ นักเขียนชาวไทยที่ได้รับรางวัลซีไรต์ ได้เดินทางมาพำนักที่หมู่บ้านศิลปินของไต้หวัน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมเรื่อง “ฝูงนกอพยพ” (Birds on A Wire) เพื่อนำเสนอผลสัมฤทธิ์ด้านการแลกเปลี่ยนผลงานวรรณกรรมระหว่างไต้หวัน – ไทย เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา ฝ่ายวัฒนธรรม ประจำประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้ติดต่อเชิญนายเรวัตร์จัดเวทีเปิดตัวหนังสือวรรณกรรมเรื่อง “ฝูงนกอพยพ” ในมหกรรมหนังสือระดับชาติของไทย โดยภายในงานยังได้เชิญดร. อรองค์ ชาคร นักวิจารณ์ผลงานวรรณกรรม และนายจางเจิ้ง ผู้อำนวยการสถานีวิทยุเรดิโอไต้หวันอินเตอร์เนชั่นแนล (RTI) เข้าร่วมพูดคุยกับนักเขียนผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์อีกด้วย

 

ในระหว่างงานเปิดตัวผลงาน นายเรวัตร์ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับในระหว่างที่พำนักอยู่ในหมู่บ้านศิลปินของไต้หวัน พร้อมทั้งถ่ายทอดวัฒนธรรมและประเพณีของไต้หวันให้แก่ผู้อ่านชาวไทยได้รับทราบ

 

นายเรวัตร์กล่าวว่า หมู่บ้านศิลปินของไต้หวันมีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ และได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นในการริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมเรื่อง “ฝูงนกอพยพ” เล่มนี้ นอกจากนี้ นายเรวัตร์ยังเคยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวไทยที่เดินทางมาทำการสัมภาษณ์ในระหว่างที่ตนพำนักอยู่ในไต้หวัน โดยระบุว่า “ไต้หวันคือดินแดนแห่งความฝัน” เนื่องจากไต้หวันให้ความเคารพและเป็นมิตรต่อศิลปิน ซึ่งสร้างความประทับใจให้เขาเป็นอย่างมาก ภายในระยะเวลา 3 เดือนแห่งการเรียบเรียงผลงานวรรณกรรมชิ้นนี้ นายเรวัตร์ได้ทำการสัมภาษณ์แรงงานชาวไทยจำนวนมาก และนำเรื่องราวในชีวิตจริงของพวกเขามาร้อยเรียงเป็นองค์ประกอบในผลงานที่ประจักษ์แก่สายตาผู้อ่านในวันนี้ นอกเหนือจากนี้ นายเรวัตร์ยังได้ถ่ายทอดเรื่องราวและมุมมองความคิดเห็นที่มีต่อชีวิต ธรรมชาติ และสังคมตามความเข้าใจของตนเองลงในผลงานด้วยเช่นกัน อนึ่ง “ฝูงนกอพยพ” เปรียบได้กับสถานการณ์การย้ายถิ่นฐานของผู้คนในสังคม โดยจะเห็นได้จาก “ฝูงนกอพยพ” ที่บินจากไทยสู่ไต้หวัน สะท้อนให้เห็นว่าทุกคนมีความคาดหวังที่จะลองเสี่ยงดูสักตั้ง เพื่อหลุดพ้นจากความยากจน และมอบคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับสมาชิกในครอบครัว

 

เรื่องราวในผลงานวรรณกรรมชิ้นนี้ เริ่มต้นปูเรื่องจากความฝันของนายสงกรานต์ แรงงานหนุ่มชาวไทย ไปจนถึงการหลอกลวงทางโทรศัพท์จากแก๊งมิจฉาชีพแบบข้ามชาติระหว่างไต้หวัน – ไทย โดยหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ มากมาย อาทิ การแข่งขันทางการเมือง ปัญหาสังคม อุปสรรคทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางวัฒนธรรม เป็นต้น นายเรวัตร์กล่าวว่า ตนคาดหวังที่จะให้หนังสือเล่มนี้ก้าวข้ามข้อจำกัดด้านภาษาและวัฒนธรรม ส่งเสริมให้ผู้อ่านต่างชาติพันธุ์ ต่างเพศ ต่างสัญชาติ สามารถทำความเข้าใจในชีวิตและแสวงหาความหมายของชีวิตให้กับตนเอง

 

นอกจากนี้ นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทยและคณะตัวแทน ต่างเดินทางมาเข้าร่วมในงานเปิดตัวผลงานครั้งนี้ด้วย เพื่อให้การยอมรับว่ากิจกรรมในครั้งนี้ได้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัดในด้านการแลกเปลี่ยนผลงานวรรณกรรมระหว่างไต้หวัน – ไทย สำหรับแขกผู้มีเกียรติชาวไทยที่ให้เกียรติเดินทางมาเข้าร่วม ประกอบด้วย นางชมัยภร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติและที่ปรึกษากระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นางสาวกมลพชร โทสินธิติ รองนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และนายศักดิ์ชัย วิจัยธรรมฤทธิ์ เลขาธิการ PUBAT เป็นต้น

 

เมื่อปี 2017 นายเรวัตร์ได้รับจดหมายเชิญจากกระทรวงวัฒนธรรมของไต้หวัน ให้เดินทางมาเข้าร่วมเทศกาลบทกวีอาเซียนในไต้หวัน จากการเดินทางมาเข้าร่วมในครั้งนั้น ทำให้นายเรวัตร์ได้รับทราบข้อมูลว่า ตนสามารถยื่นขออนุมัติการเดินทางมาพำนักที่หมู่บ้านศิลปินของไต้หวันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมได้ ท้ายที่สุด นายเรวัตร์ก็ได้รับโอกาสในการเดินทางมาพำนักที่หมู่บ้านศิลปิน Treasure Hill Artist Village เมื่อช่วงปลายปี 2018