New Southbound Policy Portal

สมาชิกรัฐสภาที่มีบทบาทสำคัญในยุโรปกว่า 600 คนร่วมส่งหนังสือเรียกร้องต่อเลขาธิการใหญ่ WHO เพื่อสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วม WHO

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ “สโมสรฟอร์โมซา” ร่วมเป็นแกนนำในการรรวบรวมสมาชิกรัฐสภายุโรปและนานาประเทศ รวม 644 คน จาก 25 ประเทศ ร่วมลงนามและส่งหนังสือเรียกร้องต่อนายแพทย์เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส เลขาธิการใหญ่ของ WHO เพื่อสนับสนุนไต้หวันในการเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้

♦ การที่สมาชิกรัฐสภาคนสำคัญแบบข้ามพรรค ข้ามประเทศในภูมิภาคยุโรป รวม 644 คน ต่างพร้อมใจกันให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก (WHO) นับเป็นเสียงแห่งประชามติของประชาคมโลกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทั่วโลกต่างคาดหวังให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 -11 พ.ย. นี้

♦ หนังสือเรียกร้องฉบับนี้ได้ให้การชื่นชมและยอมรับต่อผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพของไต้หวัน พร้อมชี้ให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมในการการกีดกันให้ไต้หวันอยู่นอกระบบ WHO
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 6 พ.ย. 63

 

“สโมสรฟอร์โมซา” (Formosa Club) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มพันธมิตรไต้หวันจากนานาประเทศ อาทิ รัฐสภายุโรป สหราชอาณาจักร สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐอิตาลี สาธารณรัฐโปรตุเกส สาธารณรัฐสโลวัก ราชอาณาจักรสวีเดน และราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ได้ร่วมเป็นแกนนำในการรรวบรวมสมาชิกรัฐสภายุโรปและนานาประเทศ รวม 644 คน จาก 25 ประเทศ ประกอบด้วย สาธารณรัฐออสเตรีย ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม สาธารณรัฐโครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ก ราชอาณาจักรเดนมาร์ก สาธารณรัฐฟินแลนด์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐเฮลเลนิก ฮังการี สาธารณรัฐไอร์แลนด์ สาธารณรัฐอิตาลี ราชรัฐลักเซมเบิร์ก ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐโปแลนด์ สาธารณรัฐโปรตุเกส โรมาเนีย สาธารณรัฐสโลวัก สาธารณรัฐสโลวีเนีย ราชอาณาจักรสเปน ราชอาณาจักรสวีเดน สหราชอาณาจักร สมาพันธรัฐสวิส ราชอาณาจักรนอร์เวย์ สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ เป็นต้น มาร่วมลงนามและส่งหนังสือเรียกร้องต่อนายแพทย์เทดรอส อาดานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) เลขาธิการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) พร้อมทั้งแจ้งเรื่องให้ Ms. Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และ Mr. Josep Borrell  ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป (EU) ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง (High Representative of the Union for Foreign Affairs and Security Policy) ได้รับทราบ โดยสมาชิกรัฐสภาตามรายชื่อประเทศข้างต้นนี้ต่างพร้อมใจให้การสนับสนุนไต้หวันในการเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้

 

กต.ไต้หวันกล่าวชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า การที่สมาชิกรัฐสภาคนสำคัญแบบข้ามพรรค ข้ามประเทศในภูมิภาคยุโรป รวม 644 คน ต่างพร้อมใจกันให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก (WHO) นับเป็นเสียงแห่งประชามติของประชาคมโลกอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทั่วโลกต่างคาดหวังให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 -11 พ.ย. นี้ กต.ไต้หวันจึงขอแสดงความขอบคุณต่อพันธมิตรในยุโรปที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในการให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

โดยผู้ที่ร่วมลงนามในหนังสือเรียกร้องในครั้งนี้ ประกอบด้วย Mr. Milos Vystrcil ประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็ก พร้อมด้วย Mr. Jan Hornik และ Ms. Miluse Horska รองประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็ก Mr. Petr Fiala รองประธานสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐเช็ก Ms. Nicola Beer รองประธานรัฐสภายุโรปสัญชาติเยอรมัน Ms. Heidi Hautala รองประธานรัฐสภายุโรปสัญชาติฟินแลนด์ Mr. Fabio Massimo Castaldo รองประธานรัฐสภายุโรปสัญชาติอิตาลี Mr. David Habib รองประธานสมัชชาแห่งชาติสาธารณรัฐฝรั่งเศส Mr. Lord Rogan รองประธานสภาสามัญชนสหราชอาณาจักร Mr. Gabor Grendel , Mr. Milan Laurencik และ Mr. Juraj Seliga รองประธานรัฐสภาสโลวัก และ Mr. ‪Bjorn Levi Gunnarsson รองประธานรัฐสภาไอซ์แลนด์ รวมถึงประธานและรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศจากนานาประเทศ และสมาชิกรัฐสภาคนสำคัญของแต่ละประเทศ ต่างมีส่วนร่วมลงนามในหนังสือเรียกร้องในครั้งนี้

 

ทั้งนี้ หนังสือเรียกร้องฉบับนี้ได้ให้การชื่นชมและยอมรับต่อผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพของไต้หวัน พร้อมชี้ให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมในการการกีดกันให้ไต้หวันอยู่นอกระบบ WHO ซึ่งนอกจากจะเป็นการริดลอนสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพเบื้องต้นของประชาชนชาวไต้หวัน 23 ล้านคนแล้ว ยังเป็นการสร้างช่องโหว่ให้กับเครือข่ายการป้องกันโรคระบาดทั่วโลกอีกด้วย ขณะเดียวกัน ก็ได้เรียกร้องให้นพ.เกเบรเยซุส ปฏิบัติตามเป้าหมายที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า “หากไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงความปลอดภัย ก็ไม่มีใครที่จะปลอดภัยจริงๆ” (No one is safe until everyone is safe) ด้วยการส่งจดหมายเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHAในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีกำหนดการจะจัดขึ้นภายในเดือนนี้ พร้อมทั้งจัดให้ไต้หวันเข้าร่วมในกิจกรรม และกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของ WHO อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสอดคล้องกับผลประโยชน์ของทุกภาคส่วน