New Southbound Policy Portal
สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวัน 2020 ได้จัดพิธีเปิดขึ้น ณ โรงภาพยนตร์ House Samyan โดยในครั้งนี้ได้คัดเลือกภาพยนตร์รวม 9 เรื่อง ภาพยนตร์สั้นรวม 3เรื่องของไต้หวันเข้าร่วมจัดฉายภายในงาน
♦ สาระเนื้อหาภาพยนตร์ของไต้หวันเปี่ยมด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแนวดราม่าหรือแนวสารคดี ก็ล้วนแต่ชวนให้ติดตาม โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้ขยายขอบเขตสู่ 6 พื้นที่ในไทย
♦ ไต้หวันและไทยมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน จึงทำให้ผลงานภาพยนตร์ที่กำกับโดยนายหยางเต๋อชาง (Edward Yang) ได้รับความนิยมในไทยเป็นอย่างมาก
-------------------------------------------
TECO วันที่ 5 พ.ย. 63
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 4 พ.ย. เทศกาลภาพยนตร์สารคดีไต้หวัน 2020 (Taiwan Documentary Film Festival in Thailand 2020) ได้จัดพิธีเปิดขึ้น ณ โรงภาพยนตร์ House Samyan โดยมีนายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความขอบคุณต่อมิตรสหายชาวไทยที่ให้การสนับสนุนภาพยนตร์ของไต้หวันกันอย่างคึกคัก นอกจากนี้ คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ของไทย ก็ได้เดินทางมาเข้าร่วมแสดงความชื่นชมและยอมรับต่อภาพยนตร์ไต้หวัน โดยภายในงานมีแฟนคลับภาพยนตร์ชาวไทยจำนวนมากให้ความสนใจเข้าร่วม บรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก
เทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้ร่วมจัดขึ้นโดยสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) คลังสารคดีไต้หวัน (Taiwan Docs) สโมสรสารคดีไทย (Documentary Club) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์ภาพยนตร์หลายแห่งของไทย ภายใต้ความช่วยเหลือของกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสถาบันภาพยนตร์และโสตทัศน์ของไต้หวัน (TFAI) โดยเทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งในปีนี้เริ่มต้นจัดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. เป็นต้นไป สถานที่จัดฉายประกอบด้วย House Samyan และ Lido Connect ในกรุงเทพมหานคร Untitled for Film ในจังหวัดเชียงใหม่ Lorem Ipsum Space ในอำเภอหาดใหญ่ a.e.y.Space ในจังหวัดสงขลา Bookhemian ในจังหวัดภูเก็ต และ TCDC ในจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น โดยสถานที่จัดฉายต่างๆ ข้างต้นครอบคลุม 6 จังหวัดทั่วไทย
ทั้งนี้ เทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้ได้คัดเลือกภาพยนตร์รวม 9 เรื่อง ภาพยนตร์สั้นรวม 3 เรื่องของไต้หวันเข้าร่วมจัดฉายภายในงาน เพื่อขยายการบริการที่ครอบคลุมมากขึ้นให้กับแฟนคลับภาพยนตร์ที่มีความสนใจต่อภาพยนตร์ของไต้หวัน พร้อมทั้งเยียวยาผลกระทบที่ส่งผลต่อโรงภาพยนตร์อันเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) เทศกาลภาพยนตร์รูปแบบออนไลน์ในครั้งนี้จึงได้ขยายระยะเวลาในการจัดรวมทั้งสิ้น 21 วัน โดยมีกำหนดการจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 พ.ย. จนถึง 10 ธ.ค.
นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย กล่าวขณะปราศรัยว่า สาระเนื้อหาภาพยนตร์ของไต้หวันเปี่ยมด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแนวดราม่าหรือแนวสารคดี ก็ล้วนแต่ชวนให้ติดตาม โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้ขยายขอบเขตสู่ 6 พื้นที่ในไทย นายหลี่ฯ จึงได้เชิญชวนให้มิตรสหายชาวไทยเข้าร่วมรับชมผลงานภาพยนตร์อันยอดเยี่ยมของไต้หวันด้วยตนเอง หรือสามารถเข้าร่วมรับชมเสน่ห์ของภาพยนตร์ไต้หวันได้ผ่านรูปแบบออนไลน์ คุณชลิดาชี้ว่า ไต้หวันและไทยมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน จึงทำให้ผลงานภาพยนตร์ที่กำกับโดยนายหยางเต๋อชาง (Edward Yang) ได้รับความนิยมในไทยเป็นอย่างมาก นายกิตติภัค ทองอ่วม ผู้กำกับภาพยนตร์ตุ๊ดซี่ส์ แอนด์ เดอะเฟค แขกผู้มีเกียรติที่ได้รับเชิญให้เดินทางมาเข้าร่วมในงาน กล่าวว่า เมื่อกล่าวถึงประเด็นอันหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับ “ความรัก” ไต้หวันได้ผลิตผลงานภาพยนตร์ต่างๆ มากมายที่สร้างความประทับใจให้กับเขาเป็นอย่างมาก อาทิ “Blue Gate Crossing” , “Eternal Summer” เป็นต้น ซึ่งผลงานเหล่านี้มีส่วนช่วยในการสร้างแรงบันดาลใจและพลังความคิดสร้างสรรค์ให้กับเขาในระหว่างที่รับชม
โดยไฮไลท์ของเทศกาลภาพยนตร์ในครั้งนี้ ได้แก่การนำเสนอผลงานสุดคลาสสิคเรื่อง “Yi Yi : A one and a two” ที่กำกับโดยนายหยางฯ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการสร้างสรรค์ในปี 2000 และเป็นผลงานที่สามารถคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์คานส์ ครั้งที่ 53 มาครองได้สำเร็จ นอกจากนี้ ผลงานเรื่องนี้ยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคศตวรรษที่ 21 อีกด้วย นอกจากนี้ ก็ยังได้คัดเลือก 3 ผลงานของนายเลี่ยวเค้อฟา ผู้กำกับหน้าใหม่เข้าร่วมจัดฉายในเทศกาลครั้งนี้ด้วย ได้แก่ “The Tree Remembers” , “Nia's Door” และ “Buoluomi” รวมไปถึง “The Price of Democracy” ซึ่งเป็นผลงานกำกับของนายเลี่ยวเจี้ยนหัว ก็ถือเป็นภาพยนตร์ที่ดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสาระสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้นำเสนอให้เห็นถึงเรื่องราวตามหลักประชาธิปไตยในสังคมของไต้หวัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบรรดาเยาวชนรุ่นใหม่ของไทยเป็นอย่างมาก อนึ่ง กิจกรรมต่างๆ ภายในเทศกาลยังประกอบด้วย เวทีเสวนาหลังจบการฉาย เวทีการบรรยายของบรรดาผู้เชี่ยวชาญ และการประชุมสัมมนารูปแบบออนไลน์ โดยภายในงานได้ติดต่อเชิญนายเลี่ยวเค้อฟาและนายเลี่ยวเจี้ยนหัว รวมถึงแฟนคลับเข้าร่วมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยคาดหวังที่จะเปิดวิสัยทัศน์และมุมมองการแลกเปลี่ยนใหม่ๆ ให้กับแฟนๆ ในไทยได้รับประโยชน์จากกิจกรรมครั้งนี้กันโดยถ้วนหน้า