New Southbound Policy Portal
สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ แผนผลักดันเข้าร่วม “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) ของไต้หวันในปีนี้ ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกมากสุดเป็นประวัติการณ์ เสียงสนับสนุนไต้หวันจากหน่วยงานสภานิติบัญญัติของนานาประเทศ ต่างก็ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ รายงานข่าวเชิงบวกจากสื่อนานาชาติก็ทำสถิติแซงหน้าจากปีที่ผ่านๆ มา
♦ ในระหว่างการประชุม WHA ประเทศพันธมิตรของไต้หวันต่างทยอยแสดงการชื่นชมยอมรับต่อ “รูปแบบไต้หวัน” ที่บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่โดดเด่นในด้านการป้องกันโรคระบาด พร้อมกำชับต่อ WHO ว่าสมควรในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของไต้หวัน
♦ กต.ไต้หวันยังได้จัดทำภาพยนตร์สั้นที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หัวข้อ “พลิกชีวิต” (Looking Up Again) และ “ไม่ยอมจำนนต่อโรคระบาด” (Never Give Up) เพื่อประชาสัมพันธ์ผลสัมฤทธิ์ด้านการแพทย์ของไต้หวัน
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 14 พ.ย. 63
สืบเนื่องจากในปีนี้ที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ส่งผลให้ประชาคมโลกล้วนแต่มีความเห็นพ้องต่อความจำเป็นในการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในกลไกความร่วมมือด้านการป้องกันโรคระบาดทั่วโลก ภายใต้ความพยายามร่วมกันของภาครัฐบาลและภาคเอกชน ทำให้แผนผลักดันเข้าร่วม “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) ของไต้หวันในปีนี้ ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกมากสุดเป็นประวัติการณ์ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง พร้อมระบุว่าไต้หวันมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งในการเสนอแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม WHA ต่อไปในอนาคต
สืบเนื่องจากการประชุม WHA ครั้งที่ 73 ในปีนี้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด – 19 จึงได้มีการจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ขึ้นทั้งในเดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายน โดยแผนผลักดันที่ประเทศพันธมิตรของไต้หวันรวม 14 ประเทศร่วมกันยื่นเสนอต่อ WHO ในดือนพฤษภาคม ภายใต้หัวข้อ “เรียกร้องต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) จัดเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHAในฐานะผู้สังเกตการณ์” ได้รับการอภิปรายในการประชุม WHA ที่ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 13 พ.ย. ที่ผ่านมา แม้ว่าระยะเวลาในการแสดงความคิดเห็นของแต่ละตัวแทนประเทศที่ถูกกำหนดไว้ในตารางการประชุมทั้งสองรอบจะมีจำกัด แต่ประเทศพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ต่างร่วมแสดงการสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม WHO อย่างเต็มกำลัง สร้างความประทับใจให้กับไต้หวันเป็นอย่างมาก
ในระหว่างการประชุม WHA ประเทศพันธมิตรของไต้หวัน อาทิ สาธารณรัฐนาอูรู ราชอาณาจักรแห่งเอสวาตินี สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ และสาธารณรัฐฮอนดูรัส ต่างทยอยแสดงการชื่นชมยอมรับต่อ “รูปแบบไต้หวัน” ที่บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่โดดเด่นในด้านการป้องกันโรคระบาด พร้อมกำชับต่อ WHO ว่าสมควรในการเรียนรู้จากประสบการณ์ของไต้หวัน นอกจากนี้ Mr. Andrew Bremberg เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ยังได้เผยแพร่วิดีทัศน์ที่มีความยาว 3 นาทีในระหว่างที่ประเทศพันธมิตรของไต้หวันร่วมอภิปรายในแผนผลักดันให้ไต้หวันได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม WHA ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องต่อนายแพทย์ ทีโดรส อัดฮานอม กีเบรเยซุ (Tedros Adhanom Ghebreyesus) เลขาธิการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ปฏิบัติตามแบบอย่างที่ดีในช่วงระหว่างปี 2009 ถึง 2016 ด้วยการเชิญไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์อีกครั้ง นับเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจแน่วแน่ในการสนับสนุนไต้หวันอย่างไม่สั่นคลอนของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ แผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม WHA ของไต้หวันได้รับความสนใจและเสียงสนับสนุนจากทั่วโลกเป็นอย่างมาก โดยในช่วงปลายปีนี้ แผนผลักดันเข้าร่วม WHA ของไต้หวันได้รับการสนับสนุนอย่างหนักแน่นจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของนานาประเทศ ประกอบด้วย Mr. Shinzo Abe อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น Mr. Katsunobu Kato เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น Mr. Scott Morrison นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Ms. Jacinda Ardern นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ Mr. Mike Pompeo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา Mr. Alex Azar II รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ Mr. Jean-Yves Le Drian รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศส Mr. Jeppe Kofod รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเดนมาร์ก Mr. Stef Blok รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ Ms. Ann Linde รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดน Mr. Niels Annen รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี และ Lord Ahmad of Wimbledon รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ เป็นต้น
เสียงสนับสนุนไต้หวันจากหน่วยงานสภานิติบัญญัติของนานาประเทศ ต่างก็ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ตราบจนปัจจุบัน มีสมาชิกรัฐสภาจำนวน 1,700 คน จาก 80 กว่าประเทศในภูมิภาคยุโรป สหรัฐฯ ลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ล้วนแต่ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผย สหภาพรัฐสภาของกลุ่มพันธมิตรจีน (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) ที่เกิดจากการรวมตัวระหว่างสมาชิกรัฐสภาของ 18 ประเทศใน 5 ทวีปทั่วโลกและรัฐสภายุโรป สมาคมการแพทย์โลก (World Medical Association, WMA) ซึ่งเป็นองค์กรการแพทย์ระดับนานาชาติ ต่างได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมกันอย่างเปิดเผย เพื่อให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม กิจกรรม และกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของ WHO อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ รายงานข่าวเชิงบวกจากสื่อนานาชาติก็ทำสถิติแซงหน้าจากปีที่ผ่านๆ มา ต่อเนื่องจากเมื่อเดือนพฤษภาคมที่สื่อระดับแนวหน้าของหลายประเทศได้รายงานข่าวเกี่ยวกับแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม WHA ของไต้หวัน ในช่วงปลายปีมานี้ เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) ของสหรัฐฯ หนังสือพิมพ์ Asahi Shimbun ของญี่ปุ่น สำนักข่าว Agence France Presse (AFP) ของฝรั่งเศส สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) ของอังกฤษ สำนักข่าว The Times of India ของอินเดีย ต่างทยอยตีพิมพ์รายงานข่าวที่เป็นมิตรต่อแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุมของไต้หวัน ซึ่งตราบจนปัจจุบัน มีรายงานข่าวที่ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม WHO แล้วกว่า 3,000 ฉบับจาก 60 กว่าประเทศ ควบคู่ไปกับการเผยแพร่บทความ บทวิจารณ์ และคอลัมน์พิเศษของนายเฉินสือจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลก นอกเหนือจากนี้ กต.ไต้หวันยังได้จัดทำภาพยนตร์สั้นที่เกี่ยวข้อง ภายใต้หัวข้อ “พลิกชีวิต” (Looking Up Again) และ “ไม่ยอมจำนนต่อโรคระบาด” (Never Give Up) เพื่อประชาสัมพันธ์ผลสัมฤทธิ์ด้านการแพทย์ของไต้หวัน โดยมียอดผู้เข้าชมรวมเป็นจำนวนกว่า 16 ล้านครั้ง
กต.ไต้หวันชี้แจงถึงแผนผลักดันในอนาคต โดยระบุว่า ไต้หวันจะร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าร่วมการประชุม WHA ในปีหน้าร่วมกับประเทศพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป พร้อมเรียกร้องให้ WHO ยึดมั่นในจุดยืนของความเป็นมืออาชีพและทางสายกลาง ปฏิเสธการแทรกแซงทางการเมือง คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพและสวัสดิการของมวลมุนษยชาติ รวมถึงการประสานความร่วมมือในภารกิจฟื้นฟูและป้องกันโรคระบาด ด้วยการส่งเสริมให้ไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม กิจกรรม และกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของ WHO อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมาย “สุขภาพดีถ้วนหน้า” (Health for All) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ตราไว้ในกฎบัตรของ WHO ในเร็ววัน