New Southbound Policy Portal

ไต้หวันจัดงานแถลงข่าวก่อนการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ไต้หวันได้จัดงานแถลงข่าวก่อนการประชุมรัฐมนตรีเอเปคขึ้นเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 พ.ย.

♦ ไต้หวันได้เสนอความเห็นว่า ในอนาคตเอเปคต้องเร่งวางแนวทางในการตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนยึดมั่นในสปิริต “ยึดหลักมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง” ในการดำเนินภารกิจด้านการค้าและการลงทุนอย่างเสรี

♦ เนื่องจากในปีนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ยิ่งเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าช่วยในด้านการมอบการบริการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพสูงและสามารถเข้าถึงได้

♦ ขณะนี้ไต้หวันได้เตรียมวางแผนบูรณาการข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการแพทย์เข้าไว้ด้วยกัน พร้อมประสานความร่วมมือกับกลุ่มสมาชิกเอเปคที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อผนึกกำลังในการเร่งผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล
.-------------------------------------------
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 16 พ.ย.

 

การประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting, AMM) ครั้งที่ 31 ได้เปิดฉากขึ้นเมื่อช่วงค่ำเวลา 20:00 – 23:45 น. ตามเวลาในกรุงไทเป โดยเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 พ.ย. ไต้หวันได้จัดงานแถลงข่าวก่อนการประชุมขึ้น ณ ที่ทำการคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council, NDC) โดยมีนายกงหมิงซิน ประธาน NDC และนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาการค้าของสำนักงานเจรจาการค้าแห่งสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการชี้แจงแผนการประชุมในครั้งนี้

 

เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั่วโลก การประชุมรัฐมนตรีเอเปคในครั้งนี้จึงได้เปลี่ยนมาจัดขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นครั้งแรก โดยหัวข้อการประชุมเอเปคประจำปีนี้คือ “การใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพมนุษย์เพื่ออนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่านการกำหนดความสำคัญ การจัดลำดับความสำคัญ และความก้าวหน้า” (Optimising Human Potential Towards a Resilient Future of Shared Prosperity : Pivot. Prioritise. Progress) โดยทางประเทศเจ้าภาพอย่างมาเลเซียได้จัดแบ่งการประชุมครั้งนี้ออกเป็น 2 รอบภายใต้ 2 หัวข้อ ประกอบด้วย “รอบที่ 1 : ส่งเสริมการเจรจาหารือว่าด้วยประเด็นทางการค้าและการลงทุน” (Improving the Narrative of Trade and Investment) โดยมีรมว.เติ้งฯ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการชี้แจงแสดงความคิดเห็น “รอบที่ 2 : ส่งเสริมการเข้าร่วมกลไกความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ผ่านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจแบบดิจิทัล” (Inclusive Economic Participation through Digital Economy and Technology) โดยมีนายกงฯ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการชี้แจงแสดงความคิดเห็น หลังเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว จึงได้มีการประกาศแถลงการณ์ของเหล่ารัฐมนตรีตามรูปแบบแต่เดิมมา โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นตั้งใจและความพยายามในการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปค ในการสกัดกั้นโรคโควิด – 19 รวมถึงความร่วมมือและฉันทามติของกลุ่มความร่วมมือทางเอเปคในด้านต่างๆ อาทิ การค้าและการลงทุน เทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และความร่วมมือทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ เป็นต้น

 

รมว.เติ้งฯ กล่าวชี้แจงในระหว่างการประชุม โดยเรียกร้องให้เอเปคดำเนินบทบาทในเชิงบวก ภายใต้บริบทของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ด้วยการส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัวในการหมุนเวียนเวชภัณฑ์ที่จำเป็นในกลุ่มสมาชิกเอเปค รวมถึงกระตุ้นให้เกิดความต่อเนื่องในการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือในโครงการต่างๆ สืบเนื่องจากไต้หวันบังเกิดผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญที่ไต้หวันเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมรักษาการค้าเสรีและการหมุนเวียนของเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ให้ยังคงสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้เสนอความเห็นว่า ในอนาคตเอเปคต้องเร่งวางแนวทางในการตอบสนองต่อความต้องการของภาคธุรกิจด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนยึดมั่นในสปิริต “ยึดหลักมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง” ในการดำเนินภารกิจด้านการค้าและการลงทุนอย่างเสรี

 

นายกงฯ กล่าวชี้แจงว่า เนื่องจากในปีนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ยิ่งเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าช่วยในด้านการมอบการบริการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพสูงและสามารถเข้าถึงได้ โดยในขณะนี้ไต้หวันได้เตรียมวางแผนบูรณาการข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการแพทย์เข้าไว้ด้วยกัน พร้อมประสานความร่วมมือกับกลุ่มสมาชิกเอเปคที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อผนึกกำลังในการเร่งผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อร่วมสร้างคุณประโยชน์ในการเสริมสร้างอนาคตที่เปี่ยมด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน และสามารถพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืนให้เกิดแก่ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกสืบไป