New Southbound Policy Portal
สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ภายใต้หัวข้อการประชุมเอเปคประจำปีนี้ ทางการมาเลเซียได้กำหนดให้การประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นการร่วมหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโควิด – 19 รวมถึงประเด็นการยอมรับซึ่งกันและกัน เศรษฐกิจดิจิทัล และนวัตกรรมที่ยั่งยืน เป็นต้น
♦ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันในไตรมาสที่ 3 แตะระดับร้อยละ 3.33 ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ยังคงรักษาการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้บริบทที่ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายจากสถานการณ์โควิด – 19
♦ ไต้หวันยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการสกัดกั้นโรคระบาดแก่ประเทศสมาชิกเอเปค ขณะเดียวกันก็เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการด้านเวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ในการรุกขยายตลาดต่างประเทศ
♦ เพื่อเร่งฟื้นฟูศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี ไต้หวันได้ประยุกต์ใช้มาตรการฟื้นฟูและเยียวยาในมุมมองเพศสถานะ โดยอ้างอิงโรดแมปว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิสตรีและการยอมรับซึ่งกันและกันของเมืองลาเซเรนา
.-------------------------------------------
NDC วันที่ 17 พ.ย. 63
การประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting, AMM) ครั้งที่ 31 ได้จัดขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในช่วงค่ำตั้งแต่เวลา 20.00 น.ของวันที่ 16 พ.ย. จนถึงเวลา 00.40 ของวันที่ 17 พ.ย. ตามเวลาในกรุงไทเป โดยมีนายกงหมิงซิน ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council, NDC) และนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาการค้าแห่งสำนักงานเจรจาการค้า สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไต้หวัน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
หัวข้อการประชุมเอเปคประจำปีนี้ที่จัดโดยประเทศมาเลเซียคือ “การใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพมนุษย์เพื่ออนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความรุ่งเรืองร่วมกัน” (Optimising Human Potential Towards a Resilient Future of Shared Prosperity) ภายใต้หัวข้อดังกล่าว ทางการมาเลเซียได้กำหนดให้การประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นการร่วมหารือในประเด็นที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโควิด – 19 รวมถึงประเด็นการยอมรับซึ่งกันและกัน เศรษฐกิจดิจิทัล และนวัตกรรมที่ยั่งยืน เป็นต้น โดยในระหว่างการประชุม ปธ.กงฯ และรมว.เติ้งฯ ได้ร่วมชี้แจงถึงผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน พร้อมกล่าวแสดงความคิดเห็นที่ขานรับต่อประเด็นและภารกิจสำคัญที่เกี่ยวข้องของเอเปคประจำปีนี้
รมว.เติ้งฯ แบ่งปันผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จของไต้หวัน พร้อมเรียกร้องให้เอเปคเร่งดำเนินบทบาทในเชิงบวก ภายใต้บริบทของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 อีกทั้งเร่งส่งเสริมวิสัยทัศน์และศักยภาพให้เกิดแก่ภูมิภาค ตลอดจนช่วยให้มวลมนุษยชาติในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกหลุดพ้นจากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ในเร็ววัน รวมถึงส่งเสริมการค้าและการลงทุนในเชิงลึกควบคู่ไปด้วย
นอกจากนี้ รมว.เติ้งฯ ยังได้ร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไต้หวัน โดยระบุว่า ตราบจนปัจจุบัน มีประชาชนไต้หวันจำนวนกว่า 13.44 ล้านคนได้รับประโยชน์จากมาตรการรูปแบบต่างๆ ของรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ช่วยพยุงให้ผู้ประกอบการจำนวนกว่า 120,000 บริษัทหลุดพ้นจากการประสบกับภาวะล้มละลาย ตลอดจนสร้างหลักประกันว่าด้วยการคุ้มครองผลประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันในไตรมาสที่ 3 แตะระดับร้อยละ 3.33 ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ยังคงรักษาการขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้บริบทที่ทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายจากสถานการณ์โควิด – 19 อนึ่ง รมว.เติ้งฯ ยังได้ชี้แจงถึงความคาดหวังว่า ไต้หวันยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการสกัดกั้นโรคระบาดแก่ประเทศสมาชิกเอเปค ขณะเดียวกันก็เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการด้านเวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ในการรุกขยายตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ ปธ.กงฯ ได้กล่าวชี้แจงถึงความสำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าสู่ระบบการให้บริการด้านการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงได้ ภายใต้บริบทของโรคโควิด – 19 ซึ่งขณะนี้ทางการไต้หวันได้เตรียมวางแผนบูรณาการข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการแพทย์เข้าไว้ด้วยกัน โดยคาดหวังที่จะผนึกกำลังร่วมกับประเทศสมาชิกที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกที่ต้องการความช่วยเหลือ ตลอดจนยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และการยอมรับซึ่งกันและกันในภูมิภาคเอเปค
นอกจากนี้ ปธ.กงฯ ยังได้ระบุว่า ไต้หวันตระหนักถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เท่าเทียมที่สตรีได้รับ อันเกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อเร่งฟื้นฟูศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี ไต้หวันได้ประยุกต์ใช้มาตรการฟื้นฟูและเยียวยาในมุมมองเพศสถานะ โดยอ้างอิงโรดแมปว่าด้วยการส่งเสริมสิทธิสตรีและการยอมรับซึ่งกันและกันของเมืองลาเซเรนา (The La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth) ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างสิทธิทางเศรษฐกิจของสตรีให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน