New Southbound Policy Portal
สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ นายอู๋เจาเซี่ย รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Mr. Kristoffer Ronneberg ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Aftenposten โดยรมว.อู๋ฯ ได้ร่วมหารือเชิงลึกในประเด็นต่างๆ กับผู้สื่อข่าว อาทิ การระบุสัญชาติในบัตรถิ่นที่อยู่ของนักศึกษาชาวไต้หวันในนอร์เวย์ที่ไม่เหมาะสม การที่ไต้หวันไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมใน “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐอเมริกา สถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน เป็นต้น
♦ การกีดกันไต้หวันไม่ให้เข้าร่วมการประชุม WHA เปรียบเสมือนการริดลอนสิทธิมนุษยชนในด้านสุขภาพและสิทธิการได้รับข้อมูลอย่างทันท่วงทีของประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23.5 ล้านคน
♦ รมว.อู๋ฯ ชี้ว่าไต้หวันมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตยที่อยู่แนวหน้าในการเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการ รมว.อู๋ฯ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าประชาธิปไตยจะได้รับชัยชนะในที่สุด
-------------------------------------------
MOFAวันที่ 24 พ.ย. 63
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Mr. Kristoffer Ronneberg ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Aftenposten ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แนวหน้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในนอร์เวย์ โดยบทสัมภาษณ์จะทยอยนำออกเผยแพร่ผ่านพ็อดคาสท์ (Podcast) และตีพิมพ์ลงใน นสพ. Aftenposten ฉบับวันที่ 20 พ.ย. และ 23 พ.ย. ตามลำดับ โดยในระหว่างการสัมภาษณ์ รมว.อู๋ฯ ได้ร่วมหารือเชิงลึกในประเด็นต่างๆ กับผู้สื่อข่าว อาทิ การระบุสัญชาติในบัตรถิ่นที่อยู่ของนักศึกษาชาวไต้หวันในนอร์เวย์ที่ไม่เหมาะสม การที่ไต้หวันไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมใน “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐอเมริกา สถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน เป็นต้น
สำหรับช่องสัญชาติที่ปรากฎบนบัตรถิ่นที่อยู่ของนักศึกษาชาวไต้หวันที่พำนักอยู่ในนอร์เวย์ ได้ถูกระบุว่า “มณฑลหนึ่งในจีน” ก่อนหน้านี้มีการยื่นฎีกาต่อศาลสูงสุดของนอร์เวย์แต่ศาลไม่รับฎีกา ต่อกรณีนี้ รมว.อู๋ฯ ชี้แจงว่า ประชาชนชาวไต้หวันต่างรู้สึกต่อต้านกับการถูกระบุด้วยข้อความดังกล่าวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการระบุที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง โดยรมว.อู๋ฯ ได้อ้างอิง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (Universal Declaration of Human Rights) ของสหประชาชาติ (UN) มาตราที่ 15 ที่ระบุไว้ว่า “มวลมนุษยชาติทุกคนมีสิทธิในการถือครองสัญชาติ โดยสิทธินี้ไม่สามารถถูกริดลอนโดยผู้ใดได้ตามอำเภอใจ” นอกจากนี้ ยังได้กล่าวอ้างอิงถึงมาตรา 6 ในอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights) ที่ระบุไว้ว่า “ทุกคนสมควรได้รับสิทธิในการพิจารณาในคดีอย่างเป็นธรรม” (Right to fair trial) ในระหว่างการหารือในประเด็นดังกล่าวด้วย
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน การตัดสินของศาลฎีกานอร์เวย์เป็นการตัดสินที่ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้ถูกกระทำ ทำให้สิทธิของนักศึกษาชาวไต้หวันไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็น รมว.อู๋ฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลนอร์เวย์ให้ความสำคัญกับปัญหานี้ พร้อมเร่งแก้ไขปัญหาข้างต้นโดยเร็ว โดยกต.ไต้หวันจะให้การสนับสนุนนักศึกษาชาวไต้หวันอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งมอบการช่วยเหลือที่จำเป็นต่อไป
ต่อกรณีที่ไต้หวันยังคงได้รับการถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประชุม WHA ที่ในปีนี้เลื่อนมาจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ประกอบกับในระหว่างที่ประเทศพันธมิตรร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันนั้น ถูกเจ้าหน้าที่จีนขัดจังหวะหลายครั้ง รมว.อู๋ฯ ได้แสดงความเสียใจ พร้อมกล่าวว่าการกีดกันไต้หวันไม่ให้เข้าร่วมการประชุม WHA เปรียบเสมือนการริดลอนสิทธิมนุษยชนในด้านสุขภาพและสิทธิการได้รับข้อมูลอย่างทันท่วงทีของประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23.5 ล้านคน ทางส่วนของไต้หวันก็ไม่สามารถสร้างคุณประโยชน์ในการร่วมแบ่งปันประสบการณ์และทรัพยากรให้แก่ประชาคมโลกได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเป้าหมาย “สุขภาพดีถ้วนหน้า” (Health for All) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ตราไว้ในกฎบัตรของ “องค์การอนามัยโลก” (WHO)
ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวันค่อนข้างตึงเครียด รมว.อู๋ฯ ชี้ว่าไต้หวันมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตยที่อยู่แนวหน้าในการเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการ ดังเช่นเดวิดต่อกรกับโกไลแอธ (David & Goliath) ซึ่งรมว.อู๋ฯ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าประชาธิปไตยจะได้รับชัยชนะในที่สุด นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังระบุว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าประชาคมโลกต่างเห็นข่าวที่เกี่ยวกับกฎหมายความมั่นคงของฮ่องกงได้ริดลอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งรวมไปถึง สิทธิในการให้บริการแก่ภาคประชาชนของเหล่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้
นสพ. Aftenposten ได้รับการก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1860 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองออสโล นับจนปัจจุบันถือได้ว่าเป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่สุดของนอร์เวย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก และได้รับความนิยมในหมู่ปัญญาชนของนอร์เวย์