New Southbound Policy Portal
สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ในช่วงที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้ผ่าน 2 ญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน โดยมีเนื้อหาที่ระบุถึงการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) และสนับสนุนการร่วมลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน-สหภาพยุโรป (EU)
♦ รัฐสภายุโรปได้เรียกร้องให้คณะกรรมมาธิการยุโรปกำหนดขอบเขตการเจรจา (Scoping Exercise) และเร่งดำเนินภารกิจการประเมินผลกระทบ (impact assessment) ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเปิดเจรจาการค้ากับไต้หวันอย่างเป็นทางการ
♦ รัฐสภายุโรปได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกของ EU ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมใน WHO ในฐานะผู้สังเกตการณ์ พร้อมทั้งให้การชื่นชมยอมรับผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาด รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาคมโลกของไต้หวัน
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 27 พ.ย. 63
ในระหว่างวันที่ 25 – 26 พ.ย. ที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้ผ่าน 2 ญัตติที่มีสาระสำคัญที่แสดงความเป็นมิตรต่อไต้หวันด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วย “รายงานว่าด้วยผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่มีต่อนโยบายต่างประเทศ” (Report on Foreign Policy Consequences of the COVID-19 Outbreak) และ “รายงานว่าด้วยการพิจารณาทบทวนนโยบายด้านการค้าสหภาพยุโรป” (EU Trade Policy Review) โดยญัตติทั้งสองฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาที่ระบุถึงการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) และสนับสนุนการร่วมลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน - สหภาพยุโรป (EU) ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขรวมถึงเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน – EU ให้เกิดความแนบแน่นยิ่งขึ้น กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอแสดงความขอบคุณต่อรัฐสภายุโรปด้วยใจจริง
ในญัตติ “รายงานว่าด้วยการพิจารณาทบทวนนโยบายด้านการค้าสหภาพยุโรป” รัฐสภายุโรปได้เรียกร้องให้คณะกรรมมาธิการยุโรปกำหนดขอบเขตการเจรจา (Scoping Exercise) และเร่งดำเนินภารกิจการประเมินผลกระทบ (impact assessment) ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเปิดเจรจาการค้ากับไต้หวันอย่างเป็นทางการ ซึ่งนี่เป็นอีกครั้งที่รัฐสภายุโรป สมัยที่ 9 ได้แสดงความสนับสนุนต่อการลงนาม BIA ระหว่างไต้หวัน – EU ผ่านการลงมติในญัตติที่เกี่ยวข้อง ต่อเนื่องจากที่รัฐสภายุโรปได้ผ่านญัตติ “นโยบายการค้าร่วม” เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา
โดยญัตติฉบับนี้ยังได้เน้นย้ำว่า ภายใต้บริบทที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความท้าทายที่เกิดจากสถานการณ์โควิด – 19 EU ควรเร่งเสริมสร้างนโยบายการค้า “Open Strategic Autonomy” พร้อมยกระดับความยืดหยุ่นของอุตสาหกรรมภายในประเทศ ตลอดจนให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกระหว่าง EU – สหรัฐอเมริกา รวมไปถึงพันธมิตรเชิงกลยุทธ์
สำหรับญัตติ “รายงานว่าด้วยผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่มีต่อนโยบายต่างประเทศ” รัฐสภายุโรปได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกของ EU ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมใน WHO ในฐานะผู้สังเกตการณ์ พร้อมทั้งให้การชื่นชมยอมรับผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาด รวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาคมโลกของไต้หวัน นอกจากนี้ รัฐสภายุโรปยังได้แสดงความเสียใจที่ไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบ WHO อันเนื่องมาจากการขัดขวางของจีน พร้อมนี้ยังได้เน้นย้ำว่า จีนประยุกต์ใช้สถานการณ์โควิด - 19 ในการประชาสัมพันธ์ตัวเองในวงกว้าง โดยหวังที่จะแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่ประเทศต่างๆ หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากองค์กรความร่วมมือระดับพหุภาคี ซึ่งจะเห็นได้จากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับฮ่องก งในการโจมตีการชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง การเพิ่มความถี่ในการบุกรุกรานพื้นที่ในทิเบตและทะเลจีนใต้ การคุกคามชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง และการสร้างความกดดันแก่บุคคลสำคัญทางการเมืองและประเทศสมาชิก EU อาทิ ประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็ก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของสวีเดน เป็นต้น