New Southbound Policy Portal
สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย กล่าวว่า ในเป้าหมายระยะสั้นนี้ ไต้หวันและไทยสามารถริเริ่มประสานความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไทเป โดยส่งเสริมให้สถานที่แห่งนี้เป็นต้นแบบของเขตสาธิตที่สำคัญของนักธุรกิจไต้หวันในไทย
♦ ในปัจจุบัน มีนักธุรกิจไต้หวันจำนวนมากที่เข้าลงทุนในไทยเป็นเวลานาน อาทิ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ จำกัด ซึ่งตราบจนทุกวันนี้ได้ขยายตัวเติบโตเป็นธุรกิจต้นแบบในไทย ซึ่งนอกจากจะสร้างโอกาสงานให้กับประชาชนชาวไทยแล้ว ยังได้ผลักดันการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างยืดหยุ่น นำมาซึ่งผลกระทบในทางที่ดีต่อการพัฒนาองค์กร
♦ ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย แสดงความเห็นว่า ไต้หวัน – ไทยควรที่จะร่วมเปิดการเจรจาความตกลง BIA ในเร็ววัน เพื่อดึงดูดให้นักธุรกิจไต้หวันเดินทางมาลงทุนในไทยเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น
-------------------------------------------
TECO วันที่ 3 ธ.ค. 63
นายหลี่อิ้งหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย ได้ตอบรับคำเชิญของดร. คณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EECO) ในการเดินทางมาเยือนสำนักงานฯ พร้อมรับฟังรายงานสถานการณ์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
“โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” เป็นนโยบายหลักแห่งการพัฒนาประเทศชาติของไทยเป็นอันดับต้นๆ โดยสำนักงานโครงการฯ สามารถยื่นรายงานต่อนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง และสามารถมอบสิทธิประโยชน์ให้กับนักธุรกิจหลักในการลงทุน ประเทศไทยตั้งอยู่บนใจกลางสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับภาพรวมของโครงการ EEC ถูกรวบรวมไว้ในพื้นที่ภาคกลางของไทยเป็นหลัก จึงอาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ทางภาคกลางของไทยเป็น “แกนกลางของหัวใจสำคัญ” โดยในอนาคต EEC จะขานรับต่อโครงการก่อสร้างท่าอากาศยาน ท่าเรือน้ำลึก และรถไฟความเร็วสูง เพื่อเสริมสร้างให้โลจิสติกส์การขนส่งภายในภูมิภาคสามารถเชื่อมโยงกับโลกนานาชาติได้ผ่านโครงการดังกล่าว
หลังจากเสร็จสิ้นการรับฟังรายงาน นายหลี่ฯ นอกจากจะให้การยอมรับต่อความสำคัญของ EEC ในความร่วมมือด้านการลงทุนระยะยาวระหว่างไต้หวัน – ไทยแล้ว นายหลี่ฯ ยังได้ชี้แจงว่า ในเป้าหมายระยะสั้นนี้ ไต้หวันและไทยสามารถริเริ่มประสานความร่วมมือในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไทเป โดยส่งเสริมให้สถานที่แห่งนี้เป็นต้นแบบของเขตสาธิตที่สำคัญของนักธุรกิจไต้หวันในไทย ซึ่งบรรดานักธุรกิจไต้หวันสามารถวางรากฐานใหม่ในภูมิภาคอาคเนย์ได้ ณ ที่แห่งนี้ สรรค์สร้างให้เกิดเป็นชุมชนอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมอบโซลูชันรูปแบบอัจฉริยะสำหรับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในด้านการผลิต สถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้าง การจราจร และพลังงาน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นการส่งเสริมให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ มองเห็นถึงศักยภาพทางเทคโนโลยีด้าน AI , IoT และบิ๊กดาต้าของไต้หวันได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการขยายโอกาสธุรกิจในตลาดนานาชาติต่อไป
ในปัจจุบัน มีนักธุรกิจไต้หวันจำนวนมากที่เข้าลงทุนในไทยเป็นเวลานาน อาทิ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ จำกัด ซึ่งตราบจนทุกวันนี้ได้ขยายตัวเติบโตเป็นธุรกิจต้นแบบในไทย ซึ่งนอกจากจะสร้างโอกาสงานให้กับประชาชนชาวไทยแล้ว ยังได้ผลักดันการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างยืดหยุ่น นำมาซึ่งผลกระทบในทางที่ดีต่อการพัฒนาองค์กร โดยนายหลี่ฯ ได้เชิญชวนให้ดร. คณิตจัดวางตารางเวลาในการเดินทางไปเยือนบริษัทเหล่านี้
นอกจากนี้ นายหลี่ฯ ยังได้ชี้แจงต่อดร. คณิต ว่าในช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันได้ทยอยลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน – อินเดีย และไต้หวัน – เวียดนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันความคุ้มครองอย่างครอบคลุมให้กับนักลงทุนไต้หวัน และเพื่อรับประกันสิทธิพื้นฐานของทั้งสองฝ่าย โดยนายหลี่ฯ เห็นว่า ไต้หวัน – ไทยก็ควรที่จะร่วมเปิดการเจรจาความตกลง BIA ในเร็ววัน เพื่อดึงดูดให้นักธุรกิจไต้หวันเดินทางมาลงทุนในไทยเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โครงการ EEC ยังคงได้รับความสำคัญจากประชาคมโลกเป็นอย่างมาก โดยเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 3 ธ.ค. คณะตัวแทนของสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council, USABC) ได้เดินทางเข้าพบปะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย โดยในระหว่างการพูดคุย พล.อ. ประยุทธ์ ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ด้านการลงทุนในโครงการ EEC ต่อนักธุรกิจที่เข้าร่วมการประชุมในสหรัฐอเมริกา ผ่านการไลฟ์สด นอกจากนี้ Mr. Michael George DeSombre เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้ระบุว่า ทางสหรัฐฯ มีความสมัครใจที่จะย้ายฐานการผลิตมายัง EEC ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโครงการ EEC มีแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาที่ดีที่สามารถคาดการณ์ได้ ซึ่งสมควรแก่การที่ไต้หวันและไทยจะประสานความร่วมมือในการสร้างการลงทุนระหว่างกันต่อไปในอนาคต