New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วม “การประชุมวิชาการระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11”

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ แผนยุทธศาสตร์ 6 อุตสาหกรรมหลักของไต้หวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อสรรค์สร้างให้ไต้หวันกลายเป็นศูนย์กลางแห่ง “การผลิตขั้นสูง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง ฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย และการพัฒนาพลังงานสีเขียว” ภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่เดิม

♦ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างจีน – สหรัฐฯ ที่เป็นไปอย่างดุเดือด ได้ส่งเสริมให้ไต้หวันที่เป็นอาณาจักรแห่งการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ก้าวขึ้นสู่บทบาทสำคัญที่ทั่วโลกมิอาจมองข้ามได้

♦ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด – 19 ไต้หวันกลับเป็นเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ยังคงสามารถรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของไต้หวันในปีนี้ ขึ้นครองอันดับ 1 ในบรรดาสี่เสือแห่งเอเชีย

♦ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ในการที่จะผลักดันแผนยุทธศาสตร์ 6 อุตสาหกรรมหลักของไต้หวัน ให้มีความก้าวหน้าต่อไป
-------------------------------------------
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 21 ธ.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “การประชุมวิชาการระดับชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 11” พร้อมแถลงว่า แผนยุทธศาสตร์ 6 อุตสาหกรรมหลักของไต้หวัน มีวัตถุประสงค์เพื่อสรรค์สร้างให้ไต้หวันกลายเป็นศูนย์กลางแห่ง “การผลิตขั้นสูง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูง ฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย และการพัฒนาพลังงานสีเขียว” ภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่เดิม โดยปธน.ไช่ฯ ยึดมั่นในอุดมการณ์ “การผลักดันให้ไต้หวันเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม เปี่ยมด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน และมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี 2030” ซึ่งนอกจากจะเร่งส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แล้ว ยังต้องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนตอบสนองต่อความต้องการใหม่ของสังคม สรรค์สร้างสังคมอัจฉริยะที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

 

ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ในปี 2020 ทั่วโลกต่างเผชิญหน้ากับความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของทั่วโลก

 

ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการดำเนินภารกิจด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ได้รับการยอมรับและเป็นที่จับตามองของประชาคมโลก นอกจากนี้ การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างจีน – สหรัฐฯ ที่เป็นไปอย่างดุเดือด ได้ส่งเสริมให้ไต้หวันที่เป็นอาณาจักรแห่งการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ก้าวขึ้นสู่บทบาทสำคัญที่ทั่วโลกมิอาจมองข้ามได้

 

ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า หน้าที่ของรัฐบาลคือ สรรค์สร้างสภาพแวดล้อมด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสม และผลักดันให้ไต้หวันกลายเป็นฐานแห่งนวัตกรรมและการวิจัยพัฒนา ด้วยการประยุกต์ใช้กฎหมายที่เป็นมิตรและทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์

 

ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด – 19 ไต้หวันกลับเป็นเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ยังคงสามารถรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 ของไต้หวันในปีนี้ ขึ้นครองอันดับ 1 ในบรรดาสี่เสือแห่งเอเชีย เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ของสังคมและการเปลี่ยนแปลงของโลก พวกเราจำเป็นต้องเร่งวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจโดยภาพรวมในประเทศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

ปธน.ไช่ฯ แสดงความคิดเห็นว่า การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ในการที่จะผลักดันแผนยุทธศาสตร์ 6 อุตสาหกรรมหลักของไต้หวัน ให้มีความก้าวหน้าต่อไป

 

ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หลักการ “การผลักดันให้ไต้หวันเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม เปี่ยมด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน และมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี 2030” โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในแวดวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอภิปรายและหารือร่วมกัน คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากการส่งเสริมการเจรจาด้านเทคโนโลยีและมนุษยนิยมในครั้งนี้ จะสามารถผลักดันการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและตอบสนองความต้องการใหม่ของสังคม สรรค์สร้างสังคมอัจฉริยะที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

 

ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า การหารือแนวทางการปฏิบัติและมาตรการในการประชุมครั้งนี้ จะกลายเป็นฐานข้อมูลอ้างอิงที่สำคัญในโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีของรัฐบาลไต้หวันในอีก 4 ปีข้างหน้า คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นไต้หวันครองบทบาทสำคัญด้านเศรษฐกิจระดับโลก จากการประยุกต์ใช้ข้อเสนอและข้อสรุปจากการประชุมในครั้งนี้ต่อไป