New Southbound Policy Portal

เดินท่องไปทั่วเกาะ พานพบกับความมั่นใจแห่งวัฒนธรรมของไต้หวัน

บ้านสามตอนในแถบตี๋ฮั่วเจีย ในแต่ละตอนจะมีช่องเปิดหลังคา เพื่อทำเป็นลานกลางบ้าน หลังผ่านการออกแบบและตกแต่งใหม่ก็เพิ่มความสดชื่นด้วยมวลหมู่พฤกษานานาพันธุ์

บ้านสามตอนในแถบตี๋ฮั่วเจีย ในแต่ละตอนจะมีช่องเปิดหลังคา เพื่อทำเป็นลานกลางบ้าน หลังผ่านการออกแบบและตกแต่งใหม่ก็เพิ่มความสดชื่นด้วยมวลหมู่พฤกษานานาพันธุ์
 

ในวัฒนธรรมของคุณ คำว่า “ชา” ถูกเรียกแบบไหนกันนะ? เป็นเสียงที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ฉา (cha)” หรือ “ที (tea)” ? นี่คือประโยคที่คุณซือจื่อเจิน (施子真) ซึ่งเป็นผู้นำเที่ยวในทริป “เดินท่องไปทั่วเกาะ” มักจะใช้ประโยคเริ่มต้นในการอธิบายต่อชาวต่างชาติ เมื่อต้องการจะพูดถึงเส้นทางการเผยแพร่ของวัฒนธรรมชาจากโลกของคนจีนไปยังทุกแห่งหนทั่วโลก โดยหากเสียงเรียกคำว่า “ชา” ใกล้เคียงกับคำว่า “ฉา (cha)” ก็หมายความว่าการเผยแพร่ของชาไปยังประเทศนั้นๆ เป็นการเดินทางผ่านทางบก (เส้นทางสายไหม) แต่หากออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ที (tea)” ก็หมายความว่าเป็นการเผยแพร่ไปตามทางทะเล โดยพ่อค้าชาวดัชต์และชาวอังกฤษ ซึ่งนำพาใบชาไปยังภูมิภาคยุโรป เนื่องจากการเดินทางออกจากจีนของใบชาจะเป็นการออกไปผ่านมณฑลฮกเกี้ยนหรือไต้หวัน ทำให้ชื่อเรียกชาได้รับอิทธิพลจากภาษาฮกเกี้ยนที่ว่า “เต๊ (te)”

 

การใช้ “ชา” มาเป็นเรื่องเปิดการสนทนาระหว่างชาวไต้หวันกับมิตรสหายจากต่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่เราๆท่านๆมักจะทำกันโดยทั่วไปหากแต่บางทีในร่องรอยที่ขาดหายแห่งประวัติศาสตร์นี้อาจเคยมีการบรรจบพบกันอยู่ในบางช่วงของกาลเวลาก็เป็นได้

“เดินท่องไปทั่วเกาะ” เป็นแบรนด์ด้านการนำเที่ยวทางวัฒนธรรมที่มีจุดเริ่มต้นมาจากบริเวณต้าเต้าเฉิงของกรุงไทเป ผู้ก่อตั้งคือคุณชิวอี้ (邱翊) ซึ่งต้นตระกูลทั้ง 5 รุ่นต่างก็ใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณต้าเต้าเฉิง จะใช้วิธีการเดินนำเที่ยวเพื่อนำพาผู้คนไปรู้จักเรื่องราวต่างๆ ของเมืองแห่งนี้ ก่อนที่สุดท้ายแล้ว มักจะกลายเป็นการเดินทางที่ได้มีโอกาส “ทำความรู้จักกับตัวเอง” ไปโดยปริยาย

 

เดินทำความรู้จักชุมชนและค้นหาเรื่องราวของท้องถิ่น

ในปีค.ศ.2020 เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก แต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องมีมาตรการปิดพรมแดน “เดินท่องไปทั่วเกาะ” จึงได้ออกมารณรงค์ว่า “ไปต่างประเทศไม่ได้ เราเที่ยวในบ้านของเราเองก็ได้” เมื่อไม่สามารถออกไปเพิ่มพูนความรู้และสัมผัสสิ่งแปลกใหม่ในต่างประเทศ เราก็อยู่ในไต้หวันเพื่อทำความรู้จักกับตัวเองให้มากยิ่งขึ้นเป็นการทดแทนก็แล้วกัน

จริงๆ แล้ว “เดินท่องไปทั่วเกาะ” ได้ส่งเสริมการ “ท่องเที่ยวในบ้าน” มานานหลายปีแล้ว โดยการนำเที่ยวครั้งแรกจัดขึ้นในแถบต้าเต้าเฉิง (大稻埕) ตั้งแต่ปีค.ศ.2012 ซึ่ง “เดินท่องไปทั่วเกาะ” ได้พาทุกคนเดินเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ เพื่อรับฟังเรื่องราวอันน่าตื่นตาตื่นใจในหน้าประวัติศาสตร์ของชาไต้หวัน การได้เห็นอาคารเก่าแก่ที่ถูกปรับปรุงใหม่และร้านค้าแนวครีเอตที่ตั้งอยู่สองข้างทางของท้องถนน รวมไปจนถึงการไปหาอะไรอร่อยๆ รับประทานแถวศาลเจ้าฉือเซิ่งกง (慈聖宮) ทำให้เรารู้สึกว่ารากฐานของศิลปวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในต้าเต้าเฉิงเมื่อความดั้งเดิมถูกถ่ายทอดมาสู่ยุคใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ทำให้เราสามารถแวะมาเยี่ยมเยือนที่นี่ได้นับร้อยนับพันครั้งโดยไม่รู้สึกเบื่อเลย

จากนั้นไม่นาน การนำเที่ยวของ “เดินท่องไปทั่วเกาะ” ก็ค่อยๆ ขยายเส้นทางการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมนี้ให้แตกหน่อต่อยอดออกไปมากกว่า 400 เส้นทาง พวกเขาเคยนำเที่ยวตอนตี 3 ครึ่ง เพื่อพาผู้คนไปเยี่ยมชมตลาดค้าส่งตอนเช้ามืด และไปทำความรู้จักกับการให้สัญญาณมือของผู้ที่อยู่ทั้งด้านบนและด้านล่างของเวทีประมูล หรือการเดินตามขบวนแห่เจ้าของศาลเจ้าชิงซานกง (青山宮) ในแถบหมงเจี่ย หรือแม้แต่การสร้างความร่วมมือกับร้านหนังสือ “Brilliant Time” (燦爛時光) ซึ่งเป็นร้านหนังสือจากประเทศอาเซียน รวมไปจนถึงการเชิญแรงงานข้ามชาติจากอินโดนีเซียมาเป็นผู้นำเที่ยวสถานีรถไฟไทเป (Taipei Main Station) ผ่านมุมมองใหม่ๆ ภาพต่างๆ เหล่านี้และเรื่องราวต่างๆ ที่แฝงอยู่เบื้องหลังทำให้เราสัมผัสได้ถึงความห่วงใยที่ “เดินท่องไปทั่วเกาะ” มีต่อประเด็นต่างๆ ที่สังคมให้ความสนใจ เช่น การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม การสร้างชีวิตใหม่ให้อาคารเก่าแก่ สิทธิด้านเพศสภาพ รวมไปจนถึงความเท่าเทียมทางวัฒนธรรม เป็นต้น คุณเหยียนจื้อหาว (顏志豪) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการด้านการตลาดบอกกับเราว่า “การทำความเข้าใจคือก้าวแรกของการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน” ด้วยความคาดหวังว่า ผ่านการทำความรู้จักและเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ ในสังคม

ในช่วงหลายปีมานี้ “เดินท่องไปทั่วเกาะ” ได้มีการขยายเส้นทางไปยังเมืองอื่นๆ เช่น จีหลง อี๋หลาน ซินจู๋ และเจียอี้ด้วย โดยสร้างความร่วมมือกับคนทำงานด้านวัฒนธรรมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยใช้การท่องเที่ยวมากระตุ้นให้คนในพื้นที่ได้มีโอกาสค้นพบจุดเด่นทางวัฒนธรรมของตัวเอง การนำแนวคิดของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมาหลอมรวมเข้าด้วยกันนี้ ก็เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันกับท้องถิ่นนั่นเอง

คุณเหยียนจื้อหาวอธิบายว่า “กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ของ “เดินท่องไปทั่วเกาะ” คือกลุ่มผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะทำความรู้จักกับตัวเองให้มากขึ้น” ทำให้ทางโครงการเห็นว่า ควรเริ่มจากการให้ความรู้กับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาได้รู้จักเมืองที่ตัวเองอาศัยอยู่ และทำให้มีคนรับรู้ว่า ไต้หวันเป็นเกาะที่มีเรื่องราวที่น่าสนใจ

จริงๆ แล้ว เมืองของพวกเราไม่เคยขาดแคลนเรื่องราว แต่ในช่วงชีวิตของเราทั้งการศึกษาและชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่ค่อยมีโอกาสทำความรู้จักกับละแวกบ้านของตัวเอง ซือจื่อเจินก็เริ่มเส้นทางการเป็นผู้นำเที่ยวของ “เดินท่องไปทั่วเกาะ” จากการฝึกอบรมของโครงการ ซึ่งคุณซือจื่อเจิน เล่าว่า “หลังจากได้ฟังเรื่องราวของต้าเต้าเฉิงจากการตามทริปนำเที่ยวเป็นครั้งแรกแล้ว ก็คิดว่าอยากพาเพื่อนกลับมาเที่ยวที่ต้าเต้าเฉิง และบอกเล่าเรื่องราวที่ได้ยินมาให้พวกเขาฟัง”

 

นำเที่ยวตามความต้องการของลูกค้า ปลุกกระแสตอบรับทางวัฒนธรรม

“เดินท่องไปทั่วเกาะ” ไม่เพียงนำพาคนไต้หวันไปรู้จักตัวเองมากขึ้น แต่ยังแนะนำไต้หวันให้กับมิตรสหายจากต่างแดนด้วย

คุณซือจื่อเจิน ซึ่งมักจะได้รับการมอบหมายจากหน่วยงานของรัฐบาล อย่างกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงศึกษาธิการ ให้ช่วยต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากต่างประเทศ มักจะใช้ลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้มาเยือน ด้วยการหาจุดร่วมระหว่างวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่าย คุณซือจื่อเจินจะตั้งใจไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับจักรยานเช่าสาธารณะของโปแลนด์ เพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบในการแนะนำ Youbike ระหว่างให้การต้อนรับเพื่อนชาวโปแลนด์ เมื่อพูดถึงการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ในแถบถนนตี๋ฮั่วเจีย ซือจื่อเจินก็ได้ยกตัวอย่างจากนครนิวยอร์กที่มีการนำระบบการโอนถ่ายอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน หรือค่า FAR (Floor Area Ratio) มาใช้ในการอนุรักษ์โบราณสถานภายในเมือง พร้อมอธิบายว่ารัฐบาลไต้หวันก็นำนโยบายแบบนี้มาใช้ และเมื่อมี URS (Urban Regeneration Station) มาดึงดูดความสนใจของพวกเขา ทำให้เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่ของสองประเทศ

การวางแผนนำเที่ยวตามภูมิหลังของผู้มาเยือน คือบริการพิเศษของ “เดินท่องไปทั่วเกาะ”  ซือจื่อเจินได้เล่าให้เราฟังถึงการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เป็นการอบรมเพื่อเรียนรู้ว่าผู้ฝึกสอนทำการเปลี่ยนมุมมองเพื่อวางแผนการนำเที่ยวสำหรับลูกค้าแต่ละรายที่ไม่เหมือนกันอย่างไรเมื่อได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับลูกค้าผู้นำเที่ยวก็จะสามารถหาจุดร่วมเพื่อเป็นสะพานที่นำไปสู่การสนทนาแม้จะเป็นเพียงการพบหน้ากันครั้งแรก

ทุกครั้งที่ซือจื่อเจินได้รับภารกิจให้การต้อนรับแขกต่างชาติ ก็จะทำการศึกษาภูมิหลังของผู้มาเยือน ทั้งสัญชาติ สถานที่เกิด โรงเรียนที่เคยเรียน ประวัติการศึกษา และความเชี่ยวชาญ โดยค้นหาจากทั้ง Youtube และวิกิพีเดีย คุณซือจื่อเจิน เคยให้การต้อนรับนักวิทยาศาสตร์จากแอฟริกาใต้ ซึ่งเรียนจบจากโรงเรียนคาทอลิกตั้งแต่เล็กจนโต และมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับปัญหาการสูบบุหรี่ในวัยรุ่น เมื่อซือจื่อเจินพาแขกไปถึงศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ได้แนะนำเจ้าพ่อเจ็ดเจ้าพ่อแปดที่เป็นองค์รักษ์ของเจ้าพ่อหลักเมือง และเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณแห่งความยุติธรรม เมื่อนักวิชาการจากตะวันตกได้ฟังแล้ว ก็ได้อธิบายให้ฟังว่าในคริสตจักรก็มีการใช้รูปปั้นและภาพวาดเพื่อถ่ายทอดแนวคิดแห่งความดีให้กับผู้มีจิตศรัทธาที่อ่านหนังสือไม่ออกเช่นเดียวกัน เมื่อผู้มาเยือนเริ่มเปิดใจให้ การแบ่งปันประสบการณ์จึงเหมือนเป็นจุดเริ่มของการทำความรู้จัก และการแลกเปลี่ยนระหว่างกันก็เริ่มต้นขึ้น

แต่ละครั้งที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการต่างประเทศ ภารกิจของ “เดินท่องไปทั่วเกาะ” ก็คือการพยายามเชื่อมโยงวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกันภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้แขกผู้มาเยือนมีแต่ภาพแห่งความประทับใจของไต้หวันในความทรงจำ เหยียนจื้อหาวบอกว่า “เพราะมีเพียงแต่วัฒนธรรมเท่านั้นที่จะทำให้แขกต่างชาติอยากมาเยือนไต้หวัน หรือพูดแทนไต้หวันในพื้นที่ของตัวเอง ทั้งพลังแห่งเทคโนโลยี และอันดับความเป็นประชาธิปไตย ต่างก็เป็นเพียงตัวเลข มีเพียงแต่วัฒนธรรมเท่านั้นที่เชื่อมโยงทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน และเมื่อเกิดเป็นความรู้สึกว่าเรามีอะไรร่วมกัน ก็ถือว่าบรรลุตามเป้าหมายของ “เดินท่องไปทั่วเกาะ” แล้ว”

 

พานพบความมั่นใจแห่งวัฒนธรรมของไต้หวัน

“เดินท่องไปทั่วเกาะ” มีการปรับเปลี่ยนวิธีการนำเที่ยวอยู่เป็นระยะ เช่น พิพิธภัณฑ์ต้าเต้าเฉิง ที่มีแนวคิดคล้ายกับแนวคิดแบบ open house ของต่างประเทศ การเปิดพื้นที่ที่เดิมที “ห้ามเข้าหากไม่ได้รับเชิญ” โดยให้เจ้าของสถานที่มาเป็นผู้แนะนำด้วยตนเอง พวกเขาได้เชิญร้านขายสมุนไพรจีน หรือร้านค้าเก่าแก่ มาบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง แขกผู้มาเยือนก็ได้รับฟังเนื้อหาที่น่าสนใจ ในปีแรกที่วางแผนสำหรับพิพิธภัณฑ์ต้าเต้าเฉิงนั้น เจ้าหน้าที่โครงการต้องไปขอความร่วมมือจากเหล่าเถ้าแก่ของร้านค้าเก่าแก่ต่างๆ ก่อนที่สุดท้าย คุณชิวอี้ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการจะออกหน้ามาเจรจาจนโครงการสำเร็จลุล่วงด้วยดี แต่เมื่อใกล้ถึงวันเริ่มโครงการในปีที่ 2 กลับเป็นร้านค้าเหล่านี้ที่เป็นผู้มาสะกิดเตือนว่าใกล้ถึงเวลาแล้ว แถมยังบอกว่าปีที่แล้วจัดได้ดีมาก ปีนี้จะจัดอีกไหม

เหยียนจื้อหาวบอกว่า “ต้องถูกมองก่อน ถูกชื่นชมและเรียนรู้ก่อน จึงจะมีกำลังใจที่จะพยายามแสดงตัวตนของตัวเองออกมา” ร้านค้าต่างๆ ในละแวกนี้ต่างก็พยายามสังเกตและเรียนรู้จากกันและกัน เด็กที่เติบโตมาในร้านค้าอายุร้อยปี เมื่อได้เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านมานำเที่ยวและให้การต้อนรับ พร้อมเล่าประวัติของร้านของตัวเองด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม บางทีภาพแบบนี้ก็อาจทำให้ลูกหลานรุ่นต่อไปเกิดความรู้สึกภูมิใจในกิจการของตระกูล “การทำให้ผู้ร่วมโครงการได้เห็นไต้หวันที่เปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นในวัฒนธรรม คือพันธกิจสำคัญของเรา” เหยียนจื้อหาวกล่าว

เมื่อคุณได้รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะพบว่าวัฒนธรรมของไต้หวันไม่ใช่มีเพียงด้านเดียว เหมือนกับที่ในแถบต้าเต้าเฉิง เราจะเป็นอาคารตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง ยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน รวมถึงสมัยหลังสงครามโลก ตั้งเรียงรายอยู่ด้วยกัน อาคารแต่ละหลังต่างก็มีเรื่องราวของตัวเอง “ความภาคภูมิใจของผมคือ มันเป็นอะไรที่ต่างก็น่าสนใจเป็นอย่างมาก ไม่จำเป็นว่าของเราจะดีที่สุด ความภูมิใจของผมมาจากประเด็นที่ว่า “ผมมี Story” มาแบ่งปันกับทุกคน” ซือจื่อเจินกล่าวขึ้นด้วยความรู้สึกตื้นตันใจ

เขายังได้ยกตัวอย่างเรื่องราวของการนำเที่ยวให้กับโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในแถบซี่จื่อ หลังจากที่ได้แนะนำประวัติศาสตร์ของต้าเต้าเฉิงจบแล้ว จากนั้นก็ได้หยิบภาพของอาคารทรงฝรั่งและถนนโบราณมาโชว์ให้ดู ปรากฏว่ามีนักเรียนจำได้ว่าเป็นภาพของซี่จื่อ ซึ่งซือจื่อเจินก็พยักหน้ายอมรับว่าใช่ จริงๆ แล้วซี่จื่อกับต้าเต้าเฉิงมีภูมิหลังที่คล้ายกันอยู่ไม่น้อย โดยในตอนนั้น เรือขนาดกลางที่แล่นมาตามแม่น้ำจีหลงจะมาเทียบท่าที่ซี่จื่อ และแถบซี่จื่อมีการปลูกชามาก ทำให้พื้นที่แถบนี้กลายเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายใบชา ส่งผลให้เศรษฐกิจแถบนี้มีความคึกคักเป็นอย่างมาก ซือจื่อเจินจึงหวังว่า วิธีการเล่าเรื่องของ “เดินท่องไปทั่วเกาะ” จะทำให้เด็กๆ กลับไปค้นหาเรื่องราวของซี่จื่อ เพื่อนำเรื่องราวของบ้านเกิดมาบอกเล่าต่อไป

ไม่เพียงแต่จะทำให้มิตรสหายต่างชาติได้พานพบกับความมั่นใจแห่งวัฒนธรรมของไต้หวัน แต่ยังทำให้พวกเราเองได้มีโอกาสรู้จักกับความมั่นใจแห่งวัฒนธรรมของไต้หวันอีกครั้ง “เดินท่องไปทั่วเกาะ” ได้พาเราไปรู้จักไต้หวัน รู้จักตัวเอง  “การท่องเที่ยวกับสัญญาที่มีต่อผืนแผ่นดิน” จึงเป็นเสมือนวิถีอันยั่งยืนที่ดำเนินไปตลอดเวลา