New Southbound Policy Portal
เซี่ยเพ่ยอวี๋และคุณย่าคิดถึงช่วงเวลาที่อาชิวอยู่ที่ไต้หวันมาก และมองว่าอาชิวเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
ในไต้หวันมีเด็กจำนวนหนึ่งที่เคยมีพี่เลี้ยงชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คอยดูแลเมื่อครั้งวัยเยาว์ แม้ว่าภาษาและวัฒนธรรมของทั้งสองฝ่ายจะแตกต่างกัน แต่เมื่อผ่านการใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลานาน ก็สามารถก่อให้เกิดความผูกพันเสมือนเป็นคนในครอบครัวได้เช่นกัน แม้พี่เลี้ยงจะเดินทางกลับประเทศไปแล้ว แต่สายใยความผูกพันกลับไม่ถูกตัดขาดตามไปด้วย เมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจึงได้ต่อยอดจากความคิดถึง “แม่คนที่สอง” ด้วยการเรียนรู้วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความสนใจต่อประเด็นเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ จากมุมมองของพวกเขา สะท้อนให้เห็นถึงการสู้ชีวิตของผู้อนุบาลต่างชาติในครัวเรือนในไต้หวัน
ในเดือนเมษายน ค.ศ.2020 สวีจื่อหาน (許紫涵) นักเรียนชั้นม.ปลาย ได้พบกับดวี (Dwi Setyowati) พี่เลี้ยงที่ขาดการติดต่อไปนานกว่า 10 ปีผ่านทางออนไลน์ ด้วยความช่วยเหลือจากสื่อมวลชนของไต้หวันและอินโดนีเซีย เซี่ยเพ่ยอวี๋ (謝佩妤) นักศึกษาปริญญาตรี ก็สามารถติดต่อกับพี่เลี้ยงที่ชื่ออาชิว (阿秋 Le Thi Thu) ได้จากความช่วยเหลือของเน็ตไอดอลคนดังชาวเวียดนาม พี่เลี้ยงทั้งสองคนต่างรู้สึกปลื้มปีติกับเหตุการณ์นี้ว่า เด็กที่เคยดูแลอุ้มชูมาแต่ก่อนนั้นยังคงจำตนได้ ไม่เพียงเท่านี้ สมัยก่อนพวกเขาเคยเล่าถึงทัศนียภาพที่บ้านเกิดให้เด็กๆ ฟัง จนกลายเป็นแรงบันดาลใจในการค้นหาของเด็กๆ หลังเติบใหญ่อีกด้วย
ไม่ใช่คนรับใช้ แต่เป็นสมาชิกครอบครัว
ตอนเด็กๆ สวีจื่อหานชอบดูการ์ตูนเรื่อง “ซากุระ มือปราบไพ่ทาโรต์” (Cardcaptor Sakura) จึงชอบเรียกดวีตามชื่อนางเอกในการ์ตูนว่าซากุระ และทำเหมือนว่าตนเองเป็นคู่หูที่อยู่เคียงข้างซากุระ ทำให้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกคนในครอบครัวต่างก็เรียกดวีตามแบบเธอเช่นกัน เมื่อตื่นนอนในแต่ละวัน หากสวีจื่อหานตื่นมาแล้วไม่เจอพ่อแม่ ดวีจะช่วยต่อสายโทรศัพท์ให้เธอได้ยินเสียงพ่อแม่ เมื่อกลับจากโรงเรียนอนุบาล ดวีจะพาเธอไปเดินเล่นในซอยแถวบ้าน เมื่อตกกลางคืน ดวีจะคอยลูบหลังเธอเบาๆ กล่อมเธอเข้านอน
ไม่นึกเลยว่า เช้าวันหนึ่ง หลังจากสวีจื่อหานตื่นขึ้นมากลับไม่พบดวี ดวีซึ่งสัญญาจ้างครบกำหนดแล้ว กลัวว่าเด็กน้อยจะเสียใจรับไม่ได้กับการต้องลาจาก จึงเลือกที่จะจากไปโดยไม่ได้ร่ำลา แต่กระนั้นแล้ว จากการที่สวีจื่อหานไม่มีแม้โอกาสได้แสดงความรู้สึกในการจากลา หน้าต่างภายในใจจึงเหมือนถูกปิดล็อกนับตั้งแต่นั้นมา ภายหลังเมื่อถึงคราวที่พ่อแม่ของเธอต้องถูกส่งไปทำงานต่างประเทศ เธอจึงมักซ่อนความรู้สึกอาลัยอาวรณ์ไว้ข้างใน และเก็บกดความเศร้าเสียใจนั้นไว้กับตัวเอง
10 กว่าปีต่อมา ความคิดที่อยากจะตามหาดวีเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ แต่พอคิดถึงความเป็นจริงแล้ว นานเข้าก็ไม่ได้ลงมือทำอะไร จนกระทั่งเธอได้เห็นข้อความเกี่ยวกับเรื่อง “สิ่งล้ำค่าที่สุด” จึงทำให้คิดถึงตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์ที่ดวีมอบให้และความทรงจำร่วมกันของทั้งคู่และเขียนระบายความรู้สึก หลังจากเขียนเรียงความจบ น้ำตาก็ไหลไม่หยุด ตั้งแต่วันนั้นมา เธอก็มักฝันถึงดวีบ่อยๆ จากความรู้สึกที่มีต่อเนื่องยาวนานกว่าสิบปี ประกอบกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่รุนแรง ข่าวสถานการณ์โควิดในอินโดนีเซียทำให้เธอเป็นห่วงดวีมากขึ้นทวีคูณ ท้ายที่สุด เธอจึงตัดสินใจตามหาดวี
ผดุงความยุติธรรม เพื่อแรงงานผู้ไร้เสียง
หลังจากเรื่องราวของสวีจื่อหานและดวีได้รับการแปลเป็นภาษาอินโดนีเซีย และตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ Opinion เป็นที่แรก ต่อมา ได้รับความช่วยเหลือจากผู้สื่อข่าวของสำนักข่าว Central News Agency (CNA) ประจำอินโดนีเซีย ทำให้สื่อท้องถิ่นรายงานข่าวนำเสนอเรื่องราวนี้ด้วย จากเดิมที่แผนการดูมีความหวังริบหรี่ กลับคืบหน้าอย่างมาก จนในที่สุด สวรรค์ก็เป็นใจให้สวีจื่อหานกับดวีได้วิดีโอคอลหากันในเทศกาลวันแม่ของไต้หวัน
“จื่อหาน โตเป็นสาวแล้ว!” หลังจากดวีได้พบหน้าสวีจื่อหาน ก็ถามเป็นการใหญ่ว่าเธอสบายดีไหม กินข้าวหรือยัง การได้คุยโทรศัพท์ผ่านวิดีโอคอลครั้งนี้ ทั้งคู่คุยกันนานถึง 4 ชม.เลยทีเดียว มีแต่ถ้อยคำคิดถึงปนหยาดน้ำตาที่พรั่งพรู สวีจื่อหานรู้ว่าปัจจุบันนี้ดวีไม่ค่อยได้ใช้ภาษาจีน เธอจึงพยายามใช้คำง่ายๆ สื่อสาร แล้วก็เหมือนเด็กๆ เวลาพูด เธอรู้ว่าเวลาดวีฟังไม่เข้าใจก็จะตอบไว้ก่อนว่า “ใช่ๆ” ดังนั้น เวลาเธอได้ยินดวีตอบแบบนี้ เธอจะอธิบายประโยคเดิมซ้ำอีกแบบหนึ่ง ทั้งคู่สัญญาว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ยุติลง พวกเขาจะนัดพบกันที่อินโดนีเซียด้วย
หลังจากเจอดวีแล้ว สวีจื่อหานรู้สึกว่าตนเองนั้นมีความรับผิดชอบบางอย่างต่อแรงงานอาเซียนในไต้หวันอย่างแรงกล้ามากขึ้น เธอสนใจในด้านกฎหมาย เดิมทีมีความคิดว่า การทำงานในระบบของราชการจะช่วยเป็นกระบอกเสียงให้แก่แรงงานต่างชาติที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมได้ แต่หลังจากผ่านประสบการณ์การตามหาดวีในครั้งนี้ ทำให้เธอเชื่อมั่นว่า พลังของสื่อมวลชนและข้อความตัวอักษรต่างก็สามารถสร้างอิทธิพลได้เช่นเดียวกัน
การเอาแต่ใจและหาที่พึ่งในวัยเด็ก
ครอบครัวของเซี่ยเพ่ยอวี๋มองว่า อาชิวเปรียบเสมือนคนในครอบครัว ไม่เพียงแต่ให้นั่งร่วมโต๊ะอาหาร ยังปฏิบัติต่อเธอเสมือนเป็นลูกสาวอีกคนของครอบครัวด้วย อาม่าจะซื้อเสื้อผ้าให้ คุณแม่พาเธอไปทำผม หรือแม้กระทั่งยามอาชิวป่วย คุณแม่ก็จะเป็นคนพาเธอไปให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาลเอง แต่ในทางกลับกัน เซี่ยเพ่ยอวี๋ซึ่งเป็นคนที่ใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดกับอาชิวมากที่สุด ตอนเด็กๆ ดื้อมาก ชอบพูดจาไม่ดีใส่อาชิว และชอบกลั่นแกล้งพี่เลี้ยงผู้นี้ด้วย
“เมื่อก่อนเวลาอาชิวฟังภาษาจีนไม่รู้เรื่อง ฉันก็จะโกรธ มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนกินข้าว ฉันปีนขึ้นไปเกาะหลังอาชิว ไม่นึกว่าเธอจะลุกขึ้น ทำให้ฉันตกลงมา” เซี่ยเพ่ยอวี๋เล่าว่าพฤติกรรมที่ตนทำต่ออาชิวนั้น อาจเป็นการเลียนแบบคุณพ่อของเธอ พ่อของเธอมีบุคลิกและอุปนิสัยที่หยาบกระด้าง และมักจะพูดกับอาชิวบ่อยครั้งว่า “ยังไงซะ วันหลังเธอก็ต้องจากไปอยู่แล้วนี่!”
ถึงแม้ว่าเซี่ยเพ่ยอวี๋จะชอบอารมณ์เสียดุใส่อาชิว แต่ในใจจริงแล้วรู้สึกว่าอาชิวเป็นที่พึ่งมากกว่าแม่แท้ๆ ของตนเสียอีก เวลาปวดปัสสาวะตอนกลางคืน เธอมักจะเดินไปที่ห้องของน้องชายเพื่อเรียกให้อาชิวพาเธอไปเข้าห้องน้ำ แทนที่จะรบกวนคุณแม่ที่อยู่ข้างๆ ตอนสมัยเรียนชั้นอนุบาล เธอเคยถูกเพื่อนสงสัยว่าเป็นขโมยและทุกคนต่างไม่เชื่อเธอ แต่เธอเชื่อว่าถ้าอาชิวยังอยู่ไต้หวันจะต้องเข้าข้างเธออย่างแน่นอน เพราะอาชิวจะยอมรับเธอได้ทุกอย่างโดยไม่มีเงื่อนไข
ให้ความเคารพพี่เลี้ยงทุกคนที่ตั้งใจทำงาน
“หลังจากฉันโตขึ้น เวลานอนหรือใช้เวลาอยู่กับตัวเองคนเดียว มักจะคิดถึงพี่อาชิวอยู่บ่อยๆ” เซี่ยเพ่ยอวี๋เติบโตที่เมืองจีหลง และไปเรียนหนังสือเพียงลำพังที่นครไทจง เวลาอยู่คนเดียวยิ่งทำให้คิดถึงอาชิวได้ง่าย จนกระทั่งเธอได้เห็นเรื่องราวของสวีจื่อหานกับดวีจึงตัดสินใจว่า ไม่ว่ายังไง เธอก็จะต้องพบอาชิวอีกครั้งให้ได้
จากการที่ฟ่านเฉ่าหยุน (范草雲 Pham Thao Van) เน็ตไอดอลชื่อดังชาวเวียดนาม ช่วยแชร์โพสต์เรื่องนี้ ทำให้เพียงไม่ถึงหนึ่งวันก็ตามหาอาชิวเจอจนได้
ระหว่างที่วิดีโอคอลคุยกัน ความทรงจำของอาชิวที่มีต่อครอบครัวตระกูลเซี่ย ดูเหมือนจะมีมากกว่าเซี่ยเพ่ยอวี๋กับคุณแม่ที่อยู่หลังกล้องเสียอีก อาชิวจำได้ว่า ไปไหว้พระกับอาม่าแถววัดหมิงเยว่ จำได้ว่าพาเซี่ยเพ่ยอวี๋ไปเดินเล่นริมแม่น้ำเถียนเหลียว หลังจากอาชิวกลับเวียดนามไปแล้ว ยังสวมชุดเดรสลายฮาวส์ทูธ (Houndstooth) ที่นายจ้างซื้อให้ไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อนๆ อยู่เสมอ ในตอนนี้ หลังจากข่าว “ตามหาแม่คนที่สอง” กลายเป็นข่าวดังขึ้นมา เพื่อนบ้านต่างเข้ามาสอบถามเธอว่า จะเดินทางไปพบกับเซี่ยเพ่ยอวี๋ที่ไต้หวันเมื่อใด จู่ๆ อาชิวก็กลายเป็นคนดังขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว
เพราะอาชิว ทำให้เซี่ยเพ่ยอวี๋ที่อยู่โดดเดี่ยวตามลำพังได้หวนกลับมาสัมผัสความทรงจำอันแสนอบอุ่น และมีความสนใจใคร่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ตอนเรียนวิชาภูมิศาสตร์สมัยชั้นม.ปลาย เมื่อได้ยินชื่อบ้านเกิดของอาชิว เธอมักจะเกิดความรู้สึกคุ้นเคยและคาดหวังอยู่เสมอ และเป็นเพราะอาชิว จึงทำให้เธอเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อแรงงานต่างชาติที่ต้องประสบกับชะตากรรมเลวร้าย “ไม่ใช่ว่าแรงงานทุกคนจะได้รับการปฏิบัติที่ดี เพราะบางคนยังมีแนวคิดแบบเจ้าคนนายคนอยู่” และในโอกาสจากการ “ตามหาแม่คนที่สอง” ในครั้งนี้ ทำให้เธออยากจะย้ำเตือนกับผู้ปกครองที่จ้างผู้ช่วยงานบ้านต่างชาติไว้ที่บ้านว่า ต้องระมัดระวังพฤติกรรมของตนเองให้ดี เพื่อมิให้ลูกหลานเลียนแบบทัศนคติที่ไม่เหมาะสม
ให้ความสำคัญต่อความต้องการและความรู้สึกของแรงงานต่างชาติ
เลี่ยวหยุนจาง (廖雲章) ผู้อำนวยการของเว็บไซต์ Opinion ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการ “ตามหาแม่คนที่สองที่หายไป” ช่วยเผยแพร่เรื่องราวของสวีจื่อหานและเซี่ยเพ่ยอวี๋ จากเรื่องนี้ทำให้เธอฉุกคิดได้ว่า คนไต้หวันโดยส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับแรงงานทางอารมณ์ (emotional labor) ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่พวกเขาทำหน้าที่เป็นที่พึ่งคนสำคัญที่สุดของผู้ได้รับการดูแลภายในบ้าน วรรณกรรมเรื่อง “เกี่ยวกับความรัก” ซึ่งได้รับรางวัลที่ 1 จากการประกวดวรรณกรรมแรงงานต่างชาติประจำปี 2018 โดยตัวละครเอกเป็นผู้อนุบาลดูแลเด็กผู้พิการ ทำหน้าที่ดูแลด้วยความเอาใจใส่เป็นเวลานานหลายปี จนในที่สุดเด็กก็สามารถพูดได้ คำแรกที่เขาพูดได้กลับไม่ใช่คำว่าแม่ แต่เป็น “น้า” (อาอี๋) ที่เด็กใช้เรียกผู้อนุบาลนั่นเอง
เลี่ยวหยุนจางกล่าวว่า นอกจากไต้หวันจะมีกรณี “ตามหาแม่คนที่สอง” แล้ว ยังมีเด็กอาหรับและเนเธอร์แลนด์ที่เดินทางไปยังสถานทูตอินโดนีเซีย เพราะต้องการอยากรู้สถานภาพปัจจุบันของพี่เลี้ยงต่างชาติ ไม่ว่าประเทศใดๆ ก็ตาม เมื่อเกิดประเด็นเรื่อง “การพรากจากกัน” ก็ควรจะต้องใช้เวลาจัดการกับปัญหานี้ให้ดี เพื่อมิให้เกิดความเสียใจและมีบาดแผลติดอยู่ในจิตใจของเด็ก ในอนาคต เซี่ยเพ่ยอวี๋วางแผนจะสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้น เพื่อรวบรวมเรื่องราวประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันของคนอื่นๆ เพื่อให้การอุทิศตนในการทำงานของแรงงานต่างชาติที่ไร้เสียงได้รับการยอมรับมากขึ้น
“พวกเขาไม่ใช่ของใช้ แต่เป็นคนในครอบครัว” เลี่ยวหยุนจางมองว่า นี่เป็นโอกาสดีที่ชาวไต้หวันจะได้ตระหนักถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับแรงงานอาเซียน ไม่ว่ารัฐบาลหรือประชาชนก็ตาม ควรจะมีความเข้าใจว่า แรงงานต่างชาติก็มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน ไม่ใช่คิดว่าแค่จ่ายเงินเดือนให้ก็พอแล้ว แต่จะต้องใส่ใจต่อความรู้สึกของเขาด้วย ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีนายจ้างที่ช่วยเหลือผู้ช่วยงานบ้านชาวฟิลิปปินส์ด้วยการลงทุนเปิดร้านอาหารให้ เพื่อช่วยให้เขาสามารถอาศัยอยู่ในไต้หวันต่อไปได้ เลี่ยวหยุนจางจึงหวังว่า ในอนาคต เรื่องราวในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกมากขึ้นเรื่อยๆ แรงงานอาเซียนจะได้รับความเคารพให้เกียรติและความรัก แม้อยู่ไกลบ้านก็ตาม