New Southbound Policy Portal

เผยรายงานภาพลักษณ์ทางเพศประจำปี 2021 ความเสมอภาคทางเพศของไต้หวันสูงเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ผลจากการประเมินสถานการณ์ด้านความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน พบว่า ไต้หวันพัฒนาขึ้น 3 อันดับจากปี 2019 ถูกจัดอยู่ในอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย

♦ ในปี 2019 อัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงที่มีอายุมากกกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.4 มีอัตราการขยายตัวมากกว่าการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้ชาย 2 เท่าตัว

♦ ในปี 2019 นับเป็นปีแรกที่กฎหมายไต้หวันอนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาเป็นเวลาครบ 1 ปีเต็มแล้ว

♦ สภาบริหารจะเร่งผลักดันขจัดปัญหากรอบแนวคิดจำกัดทางเพศแบบดั้งเดิม จัดตั้งสถานดูแลเด็กเล็กแบบรัฐในจำนวนมากขึ้น ยกระดับการเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องและเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี กำหนดให้มุมมองเพศสถานะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแต่ละโครงการของภาครัฐ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับสถานะและความต้องการของเพศที่แตกต่าง
-------------------------------------------
สภาบริหาร วันที่ 5 ม.ค. 64

 

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. สำนักงานความเสมอภาคทางเพศ สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศ “รายงานภาพลักษณ์ทางเพศ ประจำปี 2021”(2021 Gender at a Glance in R.O.C. (Taiwan)) ซึ่งข้อมูลในรายงานส่วนหนึ่งได้อ้างอิงตามดัชนีความไม่เสมอภาคทางเพศ ปี 2019 (Gender Inequality Index, GII) ที่เผยแพร่โดยสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme, UNDP) พร้อมทำการวิเคราะห์โดยใส่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องของไต้หวันลงไป ซึ่งผลจากการประเมินสถานการณ์ด้านความเสมอภาคทางเพศของไต้หวันพบว่า พัฒนาขึ้น 3 อันดับจากปี 2019 ถูกจัดอยู่ในอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย

 

ในแง่ของการเข้าร่วมในตลาดแรงงาน ในปี 2019 อัตราการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้หญิงที่มีอายุมากกกว่า 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51.4 มีอัตราการขยายตัวมากกว่าการเข้าร่วมในตลาดแรงงานของผู้ชาย 2 เท่าตัว จึงจะเห็นได้ว่าช่องว่างระหว่างหญิง – ชายนับวันยิ่งหดแคบลงตามลำดับ

 

ในแง่ของความเสมอภาคในการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน ในปี 2019 นับเป็นปีแรกที่กฎหมายไต้หวันอนุญาตให้คนรักเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสกันได้ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาเป็นเวลาครบ 1 ปีเต็มแล้ว ตราบจนถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2020 มีคู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสแล้วทั้งสิ้น 4,087 คู่ ในจำนวนนี้ เป็นคู่สมรสเพศเดียวกันที่เป็นชายจำนวน 1,257 คู่ และเป็นหญิงจำนวน 2,830 คู่

 

ในแง่ของความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตส่วนบุคคล ไต้หวันมีกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในสภาพแวดล้อมจำลอง ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลและรูปแบบออนไลน์ ซึ่งครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 รวมถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชน ผ่านการประยุกต์ใช้สื่อไซเบอร์ในการก่ออาชญากรรม โดยใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลเป็นสื่อกลางมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37.7 สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นลำดับที่รองลงมา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27

 

นอกจากนี้ สนง.ความเสมอภาคทางเพศ ระบุเพิ่มเติมว่า กรอบแนวคิดทางเพศแบบดั้งเดิมส่งผลต่อการเลือกแนวทางชีวิตระหว่างสองเพศในด้านการเข้ารับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยส่วนมากสังคมมักคาดหวังให้ผู้ชายเลือกเรียนในคณะสาขาวิชาสะเต็มศึกษา (STEM Education) ส่วนผู้หญิงมักถูกคาดหวังให้เลือกเรียนในคณะสาขามนุษยศาสตร์ รวมไปถึงอาชีพหลังสำเร็จการศึกษาที่มีเพศสถานะเป็นปัจจัยบ่งชี้ ซึ่งจำนวนนักวิจัยในไต้หวันที่เป็นผู้หญิง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.6แม้ว่าจะมีสัดส่วนที่สูงกว่าญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ก็ยังไม่ถึงร้อยละ 30 ซึ่งน้อยกว่าเมื่อเทียบกับอังกฤษในสัดส่วนร้อยละ 38.6 และฟินแลนด์ในสัดส่วนร้อยละ 33.7

 

สนง.ความเสมอภาคทางเพศ เน้นย้ำว่า จากการสังเกตความแตกต่างทางเพศในด้านต่างๆ ในไต้หวันและการแสวงหาแนวทางการปรับปรุง ผ่านรายงานภาพลักษณ์ทางเพศ ประจำปี 2021 สภาบริหารจะเร่งผลักดันขจัดปัญหากรอบแนวคิดจำกัดทางเพศแบบดั้งเดิม จัดตั้งสถานดูแลเด็กเล็กแบบรัฐในจำนวนมากขึ้น ยกระดับการเข้ามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องและเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี กำหนดให้มุมมองเพศสถานะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในแต่ละโครงการของภาครัฐ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับสถานะและความต้องการของเพศที่แตกต่าง ทั้งนี้ เพื่อร่วมสรรค์สร้างสังคมที่เปี่ยมด้วยความหลากหลายและเคารพในความเสมอภาคทางเพศ

 

ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลทั้งหมดของ “รายงานภาพลักษณ์ทางเพศ ประจำปี 2021” ได้ที่ https://gec.ey.gov.tw/Page/8996A23EDB9871BE