New Southbound Policy Portal
สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ นรม. สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ และไต้หวัน – ยุโรป ได้พัฒนาไปสู่อีกขั้น การมองเห็นไต้หวันในเวทีนานาชาติก็ได้รับการยกระดับให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ไต้หวันยังสามารถบรรลุเป้าหมายว่าด้วยการเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหมแบบพึ่งพาตนเอง ด้วยการวางรากฐานที่มั่นคงด้านการผลิตเครื่องบินรบและเรือรบภายในประเทศ
♦ นรม. ไต้หวัน เชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ปลอดภัย และเปี่ยมด้วยเสรีภาพสื่อมวลชนของไต้หวัน ที่ได้รับการยอมรับนี้ จะสามารถดึงดูดสื่อนานาชาติให้เดินทางมาประจำการในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การมองเห็นไต้หวันในระดับนานาชาติ ได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
♦ รายงานผลการสำรวจดัชนีเสรีภาพโลกจากองค์กรฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ที่ได้ประกาศล่าสุด ระบุว่า ไต้หวันยังคงครองบทบาท “ประเทศแห่งเสรีภาพ” ซึ่งมีคะแนนสูงกว่าทั้งสหรัฐฯ และฝรั่งเศส
♦ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว องค์การสิทธิมนุษยชนได้ประกาศ “ผลการสำรวจดัชนีเสรีภาพของประชาชนในการประกอบกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ” ซึ่งไต้หวันได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน “ประเทศที่มีการเปิดกว้างเพียงแห่งเดียวในเอเชีย”
-------------------------------------------
สภาบริหาร วันที่ 7 ม.ค. 64
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา นายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับฟังรายงานภายใต้หัวข้อ “การทูตแบบเป็นรูปธรรมและการพึ่งพาตนเองด้านกลาโหม” ของสำนักงานกฎหมายด้านการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ณ ที่ประชุมสภาบริหาร พร้อมกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ และไต้หวัน – ยุโรป ได้พัฒนาไปสู่อีกขั้น การมองเห็นไต้หวันในเวทีนานาชาติก็ได้รับการยกระดับให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ไต้หวันยังสามารถบรรลุเป้าหมายว่าด้วยการเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหมแบบพึ่งพาตนเอง ด้วยการวางรากฐานที่มั่นคงด้านการผลิตเครื่องบินรบและเรือรบภายในประเทศ
นรม.ซูฯ กล่าวว่า จากการบินทดสอบของเครื่องบินฝึกไอพ่นสมรรถนะสูง T-5 Brave Eagle เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2020 และการริเริ่มดำเนินการสร้างเรือดำน้ำขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการปกป้องความมั่นคงปลอดภัยทางอากาศและทางทะเลแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างให้อุตสาหกรรมการบินและการต่อเรือในประเทศพัฒนาไปสู่อีกขั้น ตลอดปีที่ผ่านมา การวิจัยและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศในรูปแบบต่างๆ แบบพึ่งพาตนเอง นำมาซึ่งมูลค่าการผลิตรวม 130,000 ล้านเหรียญไต้หวัน และมีส่วนช่วยในการประสานความร่วมมือแบบข้ามหน่วยงานระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาควิชาการ ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างคุณประโยชน์ให้กับทั้งกองทัพและภาคประชาชน ภายใต้หลักการ “เสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศแบบพึ่งพาตนเอง และพัฒนาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ”
นรม.ซูฯ เน้นย้ำว่า ตลอดทั้งปี 2020 จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ พัฒนาไปสู่อีกขั้นอย่างเห็นได้ชัด โดยนอกจากรัฐบาลสหรัฐฯ จะผ่านญัตติว่าด้วยการอนุมัติการจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับไต้หวันหลายรายการแล้ว ยังผ่านกฎหมายต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อไต้หวันอีกด้วย อาทิ ในเดือนมีนาคม ปี 2020 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ลงนาม “กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อพันธมิตรไต้หวันปี 2019 (Taiwan Allies International Protection and Enhancement Initiative (TAIPEI) Act of 2019)” เพื่อให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ อีกทั้งในเดือนธันวาคม ปี 2020 รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้มีมติผ่าน “กฎหมายว่าด้วยหลักประกันไต้หวัน ปี 2020” (Taiwan Assurance Act of 2020) ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการอนุมัติจำหน่ายยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันเป็นประจำ จึงจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ นับวันยิ่งเป็นไปอย่างเปิดเผยและมีระบบแบบแผนมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของทั้งสองประเทศก็ได้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ในช่วงครึ่งปีหลังมานี้ Mr. Alex Azar II รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ของสหรัฐอเมริกา และ Mr. Keith Krach รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ต่างได้ทยอยเดินทางมาเยือนไต้หวัน ซึ่งทั้งสองท่านนับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดที่เดินทางมาเยือนไต้หวันในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา อนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไต้หวันได้มีการฟื้นฟูจัดตั้ง “สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำเกาะกวมแห่งสหรัฐอเมริกา” ขึ้นอีกครั้ง นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมจัด “การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ” (Taiwan-US Economic Prosperity Partnership Dialogue) ขึ้น ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ที่มีระยะเวลา 5 ปี และสามารถขยายระยะเวลาออกไปได้อีก 5 ปี และหลังจากนั้นไม่ถึง 1 เดือน ทั้งสองประเทศก็ได้ร่วมลงนาม “ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ” (U.S. - Taiwan Science and Technological Cooperation Agreement ) ทั้งหมดนี้เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน บนความมุ่งมั่นตั้งใจในการประสานความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ อย่างเป็นรูปธรรม
นรม.ซูฯ เน้นย้ำว่า นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ที่ได้รับการยกระดับไปสู่อีกขั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหภาพยุโรป (EU) ก็บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ซึ่งนอกจากประเทศสมาชิก EU จะร่วมเป็นกระบอกเสียงให้กับไต้หวันแล้ว ในปีที่ผ่านมา ประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็กได้นำคณะตัวแทนกลุ่มใหญ่เดินทางมาเยือนไต้หวัน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันในฝรั่งเศสก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวันในการประชุมพิจารณ์ของวุฒิสภาฝรั่งเศส ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปยังมีมติผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวันรวม 6 ฉบับ พร้อมเรียกร้องให้ EU และไต้หวันร่วมเปิดการเจรจาว่าด้วยการลงทุนแบบทวิภาคีระหว่างกันโดยเร็ว นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยโคเปนเฮเกน (The Copenhagen Democracy Summit) และการประชุม “24th Forum 2000 Conference”ของสาธารณรัฐเช็ก เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – EU ที่มีการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ
นรม.ซูฯ กล่าวว่า เสรีภาพ ประชาธิปไตย และการเปิดกว้างของไต้หวัน ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างในระดับนานาชาติ ตลอดปี 2020 ที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวต่างชาติจำนวน 27 คนจาก 18 สำนักข่าวได้ลงทะเบียนยื่นขออนุมัติประจำการในไต้หวัน นอกจากนี้ สำนักข่าวต่างประเทศที่มีการลงทะเบียนในก่อนหน้านี้ก็ได้จัดส่งผู้สื่อข่าวต่างชาติเดินทางมาประจำการยังไต้หวันเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ปลอดภัย และเปี่ยมด้วยเสรีภาพสื่อมวลชนของไต้หวัน ที่ได้รับการยอมรับนี้ จะสามารถดึงดูดสื่อนานาชาติให้เดินทางมาประจำการในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การมองเห็นไต้หวันในระดับนานาชาติ ได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นรม.ซูฯ ชี้ว่า รายงานผลการสำรวจดัชนีเสรีภาพโลกจากองค์กรฟรีดอมเฮาส์ (Freedom House) ที่ได้ประกาศล่าสุด ระบุว่า ไต้หวันยังคงครองบทบาท “ประเทศแห่งเสรีภาพ” ซึ่งมีคะแนนสูงกว่าทั้งสหรัฐฯ และฝรั่งเศส นอกจากนี้ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว องค์การสิทธิมนุษยชนได้ประกาศ “ผลการสำรวจดัชนีเสรีภาพของประชาชนในการประกอบกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ” ซึ่งไต้หวันได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน “ประเทศที่มีการเปิดกว้างเพียงแห่งเดียวในเอเชีย” ถือเป็นผลสัมฤทธิ์ภายใต้การนำของปธน.ไช่อิงเหวิน และความร่วมมืออย่างสมัครสมานของภาคประชาชน โดยพวกเราสามารถสรรค์สร้างผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัดได้ภายใต้บริบทแห่งช่วงเวลาที่แย่ที่สุด จึงถือว่าเป็นสิ่งที่ได้มาอย่างไม่ง่ายเลยทีเดียว