New Southbound Policy Portal

ปธน.ไช่ฯ ส่งสารเพื่อขานรับ “แถลงการณ์วันสันติภาพสากล ปี 2021”ของสมเด็จประสันตปาปา (โป๊ป) ฟรานซิส

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ แม้ว่ากิจกรรมต่างๆ ในหลายแห่งทั่วโลกจำเป็นต้องถูกยกเลิก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 แต่กลับไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินภารกิจให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่บรรดาผู้ยากไร้ของไต้หวัน

♦ นครรัฐวาติกัน ระบุว่า โรคระบาดในครั้งนี้ถือเป็นการกระตุ้นให้ทั่วโลกตระหนักเห็นถึงการดำรงชีวิตของมนุษยชาติเปรียบเสมือน “การลงเรือลำเดียวกัน” ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรมีใครถูกกีดกันอยู่นอกเครือข่ายสาธารณสุขโลก

♦ ปธน.ไช่ฯ แสดงความคิดเห็นว่า “การกีดกัน” และ “การถูกมองข้ามความสำคัญ” ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของวัฒนธรรมแห่งการดูแลเอาใจใส่ และเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการก้าวไปสู่สันติภาพ

♦ ปธน.ไช่ฯ มีความเชื่อใน “สิทธิมนุษยชนสากล” เช่นเดียวกับนครรัฐวาติกัน ว่าเป็นค่านิยมที่ไม่สามารถต่อรองได้

♦ ปธน.ไช่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหล่าผู้นำประเทศจะยึดแถลงการณ์ของนครรัฐวาติกันเป็นเครื่องเตือนใจในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ โดยเปลี่ยนมายึดหลักวัฒนธรรมการดูแลเอาใจใส่แทนที่การกดขี่ด้วยวิธีการป่าเถื่อน สำแดงสปิริตการยอมรับซึ่งกันและกันแทนที่การข่มขู่ด้วยกำลังทหารและการเผยแพร่ข่าวปลอม
-------------------------------------------
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 13 ม.ค. 64

 

ในช่วงที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ส่งสารเพื่อขานรับ “แถลงการณ์เนื่องในวันสันติภาพสากล ปี 2021” ของสมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิส (Pope Francis) ประมุขแห่งศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก

 

โดยสาระสำคัญของสารที่ปธน.ไช่ฯ ส่งถึงสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส มีดังนี้ :

 

หัวข้อแถลงการณ์วันสันติภาพสากล ประจำปี 2021 ของพระศาสนจักรคาทอลิกแห่งนครรัฐวาติกัน คือ วัฒนธรรมการดูแลเอาใจใส่เป็นหนทางสู่สันติภาพ (A CULTURE OF CARE AS A PATH TO PEACE) โดยปธน.ไช่ฯ รู้สึกชื่นชมและเห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะภายใต้บริบทที่สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) แพร่ระบาดไปทั่วโลกเช่นนี้ มีหลายชีวิตที่ต้องเผชิญหน้ากับการพลัดพรากจากครอบครัว การดำเนินชีวิตในภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ปธน.ไช่ฯ เชื่อว่าการทำลายกรอบความคิดแบบดั้งเดิมระหว่างมนุษย์กับประชาคมโลก และหันหน้าเข้าหากันแสดงความห่วงใยต่อกัน พร้อมประสานความร่วมมือระหว่างกัน จึงจะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคในครั้งนี้ไปได้

 

แม้ว่ากิจกรรมต่างๆ ในหลายแห่งทั่วโลกจำเป็นต้องถูกยกเลิก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 แต่กลับไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินภารกิจให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่บรรดาผู้ยากไร้ของไต้หวัน ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีการส่งมอบความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ในเดือนตุลาคม ปี 2020 เนื่องในวาระแห่งการเฉลิมฉลองวันชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ประจำนครรัฐวาติกัน ได้ขานรับต่อพระสมณสาส์นฉบับใหม่ของพระศาสนจักรคาทอลิก ภายใต้ชื่อ “ทุกคนเป็นพี่น้องกัน” (Fratelli Tutti) โดยได้ส่งมอบอาหารเพื่อช่วยประทังชีวิตบรรดาผู้ยากไร้ใน “สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในนครรัฐวาติกัน” และ Caritas Roma หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ในกรุงโรม ที่ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการดำรงชีวิตให้แก่ผู้ยากไร้ นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มพุทธศาสนิกชนของไต้หวัน ร่วมบริจาคผ้าห่มรักษ์โลกให้แก่เหล่าผู้ยากไร้ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการดูแลเอาใจใส่ และนัยยะแห่งการเปิดการสนทนาระหว่างศาสนา

 

ในเดือนเมษายน ปี 2020 สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด – 19 ในอิตาลีได้ลุกลามเป็นวงกว้างและรุนแรง Fr. Giuseppe Didone นักบุญสัญชาติอิตาลีในมูลนิธิคณะนักบุญคามิลโลแห่งไต้หวัน (The Camillian Foundation) ที่ร่วมอุทิศคุณประโยชน์ให้กับไต้หวันมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ได้จัดกิจกรรมระดมทุนเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือแก่มาตุภูมิ เนื่องด้วยประชาชนชาวไต้หวันรู้สึกขอบคุณสำหรับคุณูปการต่างๆ ที่พระศาสนจักรคาทอลิกได้ร่วมอุทิศให้กับสังคมและประชาชนชาวไต้หวัน กิจกรรมการบริจาคในครั้งนี้จึงได้รับเสียงตอบรับอย่างคึกคักจากบรรดาชาวไต้หวันทุกหมู่เหล่า ด้วยระยะเวลาเพียง 6 วันก็สามารถรวบรวมเงินบริจาคได้มากถึง 4.3 ล้านยูโร มิตรภาพระหว่างประเทศที่จริงใจเช่นนี้ เป็นบทพิสูจน์ที่สอดคล้องกับหลักการสำคัญในแถลงการณ์ข้างต้นที่ระบุถึง “มิตรไมตรีระหว่างเพื่อนมนุษย์ในสังคม”

 

นอกจากนี้ นครรัฐวาติกันยังได้ระบุว่า โรคระบาดในครั้งนี้ถือเป็นการกระตุ้นให้ทั่วโลกตระหนักเห็นถึงการดำรงชีวิตของมนุษยชาติเปรียบเสมือน “การลงเรือลำเดียวกัน” ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรมีใครถูกกีดกันอยู่นอกเครือข่ายสาธารณสุขโลก โดยปธน.ไช่ฯ มีความเห็นพ้องกับข้อเท็จจริงนี้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสอดคล้องกับจุดประสงค์การก่อตั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุไว้ในกฎบัตรขององค์กรอย่างชัดเจน

 

แต่ถึงกระนั้น ตราบจนปัจจุบัน ประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23 ล้านคนก็ยังคงถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบ WHO โดยนับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ได้ยอมจำนนต่อแรงกดดันทางการเมือง ด้วยการปิดกั้นไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ดังเช่นเคย

 

เพื่อขานรับต่ออุดมการณ์กว้างไกลของนครรัฐวาติกัน ปธน.ไช่ฯ แสดงความคิดเห็นว่า “การกีดกัน” และ “การถูกมองข้ามความสำคัญ” ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจของวัฒนธรรมแห่งการดูแลเอาใจใส่ และเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดในการก้าวไปสู่สันติภาพ การเมืองระหว่างประเทศไม่ควรยอมจำนนต่อกฎแห่งป่าที่ผู้อ่อนแอจะตกเป็นเหยื่อ ไม่ควรใช้ศักยภาพทางเศรษฐกิจมาวัดค่าสิทธิแห่งการแสวงหาหลักข้อเท็จจริงของมวลมนุษยชาติ นอกจากนี้ ศักยภาพทางกองทัพทหารก็ไม่ควรตกเป็นเครื่องมือของการริดลอนสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชน

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พวกเราได้เร่งสร้างสังคมที่เปี่ยมด้วยความยุติธรรม ภายใต้พื้นฐานการดูแลเอาใจใส่ ผ่านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การปลูกฝังค่านิยม และการวางมาตรการต่างๆ อย่างเป็นระบบ พร้อมนี้ ยังได้ให้ความช่วยเหลือบรรดา “ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน” จำนวน 550,000 คนในการปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตในไต้หวัน เนื่องจากพวกเราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นสินทรัพย์อันล้ำค่าที่จะสามารถนำพาไต้หวันก้าวสู่อนาคตที่สดใสต่อไป

 

ปธน.ไช่ฯ มีความเชื่อใน “สิทธิมนุษยชนสากล” เช่นเดียวกับนครรัฐวาติกัน ว่าเป็นค่านิยมที่ไม่สามารถต่อรองได้ เพราะฉะนั้นเมื่อใดที่ทั่วโลกประสบกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ปธน.ไช่ฯ จะแสดงความห่วงใยโดยทันที โดยคาดหวังที่จะให้บรรดานักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนรับทราบว่าพวกเขาไม่โดดเดี่ยว เฉกเช่นเดียวกับพระวจนะในพระคัมภีร์ที่ระบุไว้ในแถลงการณ์ ที่ได้อ้างอิงถึงการที่พระเยซูเสด็จมาบังเกิดในโลกเพื่อเผยแพร่พระกิตติคุณของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ที่ว่า “พระเจ้าทรงปล่อยผู้ถูกคุมขังให้เป็นอิสระ” (สดุดี 146:7) โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เหล่าผู้นำประเทศจะยึดแถลงการณ์ของนครรัฐวาติกันเป็นเครื่องเตือนใจในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ โดยเปลี่ยนมายึดหลักวัฒนธรรมการดูแลเอาใจใส่แทนที่การกดขี่ด้วยวิธีการป่าเถื่อน สำแดงสปิริตการยอมรับซึ่งกันและกันแทนที่การข่มขู่ด้วยกำลังทหารและการเผยแพร่ข่าวปลอม ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้สันติภาพสากลที่มวลมนุษยชาติคาดหวัง บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมในเร็ววัน