New Southbound Policy Portal

การประชุมสัมมนาว่าด้วยการเรียนการสอนภาษาจีน กิจกรรมภายใต้แผนความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ OCAC จะผนวกรวมทรัพยากรทางการศึกษาที่ทางหน่วยงานมุ่งมั่นบริหารในทั่วทุกพื้นที่ของสหรัฐฯ มาเป็นเวลานาน เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสรรค์สร้างเป็นฐานการเรียนการสอนภาษาจีนในต่างประเทศที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน

♦ ในอนาคต OCAC จะเร่งผลักดันยุทธศาสตร์ 3 มิติอย่างเป็นรูปธรรม ประการแรกคือให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ภาษาจีนในระดับชุมชน พร้อมเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับอาจารย์สัญชาติไต้หวันในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาของสหรัฐฯ จำนวน 600 กว่าคน ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการเรียนการสอนภาษาจีน และอุตสาหกรรมการศึกษาแบบอัจฉริยะ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่และรูปแบบใหม่ ในการผลักดันรูปแบบการเรียนการสอนภาษาจีนที่มีความหลากหลายและเปี่ยมด้วยความสนุกสนาน

♦ ในปัจจุบันสถาบันขงจื๊อหลายแห่งในสหรัฐฯ ได้ปิดตัวลงแล้ว ซึ่งนับเป็นโอกาสทองของไต้หวันในการเร่งฝีขยับเท้าเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาจีนในสหรัฐฯ ต่อไป
-------------------------------------------
คณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล วันที่ 16 ม.ค. 64

 

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. สถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) และมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ (Foundation for Scholarly Exchange (Fulbright Taiwan)) ได้ร่วมจัด “การประชุมสัมมนาว่าด้วยการเรียนการสอนภาษาจีน” ขึ้น ซึ่งเป็นการประชุมสัมมนาแบบเปิดเผยครั้งแรกที่ร่วมจัดขึ้นระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้เปิดฉากความร่วมมือภายใต้แผนความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกันไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยการประชุมในครั้งนี้ มีบุคคลสำคัญทางการเมืองระหว่างสองประเทศเข้าร่วมมากมาย ประกอบด้วย Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT- Taipei office) นายสวีซือเจี่ยน รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (MOFA) นายถงเจิ้นหยวน ประธานคณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล (OCAC) และนายหลิวม่งฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (MOE) เป็นต้น

 

นายถงฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า เพื่อบรรลุโครงการความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ อย่างเป็นรูปธรรม ในช่วงที่ผ่านมา OCAC ได้เร่งวางแนวทางและมาตรการที่เกี่ยวข้องอย่างกระตือรือร้น โดยทางหน่วยงานจะผนวกรวมทรัพยากรทางการศึกษาที่ OCAC มุ่งมั่นบริหารในทั่วทุกพื้นที่ของสหรัฐฯ มาเป็นเวลานาน เข้าไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย โรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเล 365 แห่ง อาจารย์สอนภาษาจีนจำนวน 7,155 คน และนักศึกษาจำนวน 78,000 คน เพื่อสรรค์สร้างเป็นฐานการเรียนการสอนภาษาจีนในต่างประเทศที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งนี้ เพื่อร่วมผลักดันโครงการข้างต้นให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนเป็นการร่วมแบ่งปันศักยภาพและประสบการณ์การเรียนการสอนภาษาจีนของไต้หวันให้กับมิตรสหายในสหรัฐฯ ต่อไป

 

นายถงฯ ชี้แจงว่า ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนโพ้นทะเลโดยตรง ในอนาคต OCAC จะเร่งผลักดันยุทธศาสตร์ 3 มิติอย่างเป็นรูปธรรม ประการแรกคือให้ความช่วยเหลือแก่โรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ภาษาจีนในระดับชุมชน พร้อมส่งเสริมให้อาจารย์ในโรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเลที่มีอยู่ในปัจจุบัน จัดทำการเรียนการสอนภาษาจีนให้กับสาธารณชนในสังคมทั่วไป ประการที่ 2 เสริมสร้างความเชื่อมโยงกับอาจารย์สัญชาติไต้หวันในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาของสหรัฐฯ จำนวน 600 กว่าคน พร้อมทั้งผลักดันให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาจีนที่เปี่ยมด้วยอัตลักษณ์ของไต้หวัน ขณะเดียวกันก็ให้ความช่วยเหลือแก่เหล่าอาจารย์ในโรงเรียนชาวจีนโพ้นทะเล เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อยกระดับความเชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอน ตลอดจนส่งเสริมให้บรรดาอาจารย์เข้าร่วมการทดสอบคุณสมบัติการเป็นอาจารย์สอนภาษาจีน เพื่อบรรจุเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนในโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาต่อไป และประการสุดท้ายคือเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการเรียนการสอนภาษาจีน และอุตสาหกรรมการศึกษาแบบอัจฉริยะ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่และรูปแบบใหม่ ในการผลักดันรูปแบบการเรียนการสอนภาษาจีนที่มีความหลากหลายและเปี่ยมด้วยความสนุกสนาน ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้มิตรสหายในสหรัฐฯ เกิดความสนใจและความต้องการในการเรียนรู้ภาษาจีนต่อไป

 

Mr. William Brent Christensen ผอญ. AIT กล่าวว่า เพื่อขยายความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในปัจจุบันสถาบันขงจื๊อหลายแห่งในสหรัฐฯ ได้ปิดตัวลงแล้ว ซึ่งนับเป็นโอกาสทองของไต้หวันในการเร่งฝีขยับเท้าเสริมสร้างความร่วมมือด้านการศึกษาภาษาจีนในสหรัฐฯ ซึ่งนอกเหนือจากการสอนภาษาจีน และเรียนภาษาอังกฤษควบคู่ไปในตัวแล้ว ยังต้องนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับไต้หวันที่แตกต่างจากสถาบันขงจื๊อให้กับนักศึกษาสหรัฐฯ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาภาษาจีนให้เกิดความเข้าใจถึงความแตกต่างอีกด้วย

 

นายอู๋เจาเซี่ย รมว.ต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวขณะปราศรัยว่า ผลสัมฤทธิ์มากมายภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ล้วนแต่อาศัยการให้ความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากทุกแวดวงของสหรัฐฯ โดยบุคลากรด้านการสอนภาษาจีน นับเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ผลักดันให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ เป็นไปในเชิงลึก โดยรมว.อู๋ฯ เชื่อว่า จากการส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีน จะเป็นการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนภาคประชาชนระหว่างสองฝ่าย ตลอดจนเป็นการกระชับมิตรภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ให้เกิดความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น