New Southbound Policy Portal
สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ตลาดประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ครองสัดส่วนการส่งออกของไต้หวันเกือบร้อยละ 20 ถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไต้หวัน
♦ กรมการค้าต่างประเทศของไต้หวัน เร่งหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการบุกเบิกตลาดในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ผ่านการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนและเทคโนโลยีการตลาดดิจิทัล นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้มีการจัดทำเว็บไซต์ “แนะนำข้อมูลการจัดซื้อ” เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายผ่านทางออนไลน์
♦ ในปีนี้ กรมการค้าต่างประเทศมุ่งเป้าหมายไปที่ตลาดในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซียและกัมพูชา โดยผลักดันมาตรการแนะแนวการขยายตลาดที่สอดรับกับความต้องการและเอกลักษณ์ของผู้บริโภคในพื้นถิ่น
♦ นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศยังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการตลาดดิจิทัลในการขยายตลาดสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม และเสื้อผ้าลำลองของไต้หวันให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ในประเทศกัมพูชาและมาเลเซีย เพื่อนำไปสู่การจับคู่ทางธุรกิจต่อไป
-------------------------------------------
กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 4 ก.พ. 64
จากการที่ตลาดประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ครองสัดส่วนการส่งออกของไต้หวันเกือบร้อยละ 20 ถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไต้หวัน จำนวนประชากรที่บ่งบอกถึงกำลังซื้ออันมหาศาล และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชนชั้นกลาง ทำให้ภูมิภาคแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางของตลาดโลก ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไต้หวันคว้าโอกาสทางการค้าในตลาดผู้บริโภคประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) หรือ MOEA จึงได้จัดการประชุมชี้แจง “โครงการพัฒนานวัตกรรมทางการตลาดในประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่” ขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ ที่ GIS NTU Convention Center กรุงไทเป
ผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)เมื่อปีที่แล้ว( ปี 2563 ) ทำให้กรมการค้าต่างประเทศเร่งหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการบุกเบิกตลาดในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ผ่านการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนและเทคโนโลยีการตลาดดิจิทัล อาทิ การแนะนำและช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีการจำหน่ายสินค้าผ่าน Amazon India ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ของอินเดีย นอกจากนี้ ยังเสนอแนะให้มีการจัดทำเว็บไซต์ “แนะนำข้อมูลการจัดซื้อ” เพื่อเป็นช่องทางในการสร้างปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งนอกจากเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของไต้หวันแล้ว ขณะเดียวกันยังเป็นการปลูกฝังภาพลักษณ์สินค้าไต้หวันให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นด้วย
ในปีนี้กรมการค้าต่างประเทศมุ่งเป้าหมายไปที่ตลาดในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซียและกัมพูชา โดยผลักดันมาตรการแนะแนวการขยายตลาดที่สอดรับกับความต้องการและเอกลักษณ์ของผู้บริโภคในพื้นถิ่น อาทิ มาตรการแนะแนว “การขยายตลาดการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการแพทย์ดิจิทัล” การโปรโมทอุปกรณ์กายภาพบำบัด และเครื่องมือตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสินค้าทางการแพทย์อัจฉริยะที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่แถบชนบทในประเทศอินเดียที่ยังประสบปัญหาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำมาตรการแนะแนว “การขยายตลาดการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการใช้ชีวิตในเมืองปลอดภัย” เพื่อตอบสนองความต้องการในด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียที่ทำให้ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการตรวจติดตามเฝ้าระวังอัจฉริยะ (Smart Monitoring) และวัสดุก่อสร้างที่มีคุณสมบัติในการรองรับการเกิดแผ่นดินไหวของไต้หวัน นอกจากนี้ยังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการตลาดดิจิทัลในการขยายตลาดสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม และเสื้อผ้าลำลองของไต้หวันให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นในประเทศกัมพูชาและมาเลเซีย เพื่อนำไปสู่การจับคู่ทางธุรกิจต่อไป