New Southbound Policy Portal

ไต้หวันกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ ผู้ประกอบการไต้หวัน - สหรัฐฯ เปิดฉากหารือร่วมกันเป็นครั้งแรก

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ไต้หวัน - สหรัฐฯ เห็นพ้องที่จะสร้างความร่วมมือในด้านห่วงโซ่อุปทาน, 5G และความปลอดภัยด้านข้อมูล, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวม 7 ด้าน

♦ ผู้ประกอบการจากทั้งไต้หวันและสหรัฐฯ มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน และกล่าวเน้นย้ำถึงข้อได้เปรียบและการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ซึ่งผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายขึ้นเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก
-------------------------------------------
กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 5 ก.พ. 64

หลังจากที่ไต้หวันและสหรัฐฯ ได้ลงนามในการเจรจาความร่วมมือเพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Taiwan-US Economic Prosperity Partnership Dialogue, Taiwan-US EPPD) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างก็เห็นพ้องที่จะสร้างความร่วมมือในด้านห่วงโซ่อุปทาน, 5G และความปลอดภัยด้านข้อมูล, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวม 7 ด้าน และเพื่อกระชับความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานระหว่างไต้หวัน-สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา สถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) และสำนักงานตัวแทนของไต้หวันประจำสหรัฐฯ ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาด้านห่วงโซ่อุปทานร่วมกันเป็นครั้งแรก ภายใต้กรอบของ EPPD พร้อมทั้งเชิญตัวแทนจากผู้ประกอบการ คลังสมอง และสมาคมอุตสาหกรรมระดับประเทศ ของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมพูดคุยหารือในลักษณะการเจรจาจากล่างขึ้นบน เริ่มจากการหารือในระดับผู้ประกอบการเพื่อนำเสนอข้อคิดเห็นและแนวทางเชิงนโยบาย และจึงเป็นการเจรจาในระดับรัฐบาลเพื่อกำหนดกรอบเชิงนโยบาย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมระหว่างสองฝ่าย

นางหวังเหม่ยหัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) กล่าวขณะปราศรัยในพิธีเปิดงานว่า ไต้หวันเป็นพันธมิตรในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากสหรัฐฯ มาเป็นเวลายาวนาน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการนำเทคโนโลยี 5G และ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแพร่หลาย จนปัจจุบันที่ความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างมาก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจากทั้งไต้หวันและสหรัฐฯ มีความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน และกล่าวเน้นย้ำถึงข้อได้เปรียบและการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ซึ่งผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายขึ้นเป็นผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากรัฐบาลสหรัฐฯ และสมาคมผู้ประกอบการ ยังได้แสดงความขอบคุณรัฐบาลไต้หวันและผู้ประกอบการไต้หวันที่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดีเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ผู้ประกอบการยังได้เรียกร้องให้ไต้หวันและสหรัฐฯ ควรเข้าร่วมใน CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก และลงนามข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสองฝ่าย เพื่อเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น พร้อมทั้งเสนอแนะให้รัฐบาลของไต้หวันและสหรัฐฯ ขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Agreement - ITA) ผ่านเวทีขององค์การการค้าโลก เพื่อผลักดันให้เกิดการเปิดเสรีสินค้าไอทีทั่วโลกต่อไป