New Southbound Policy Portal

ความท้าทาย การเกิดใหม่ และโอกาสท่ามกลางยุคโรคระบาดใหญ่ สำรวจมุมมองของคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สวนพฤกษชาติผาตัดแก้ที่คุณแพททุ่มเทแรงใจในการดูแลได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดจึงถูกปิดชั่วคราว หลังสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้นแล้ว ก็ยังคงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน (ภาพจาก แพท)

สวนพฤกษชาติผาตัดแก้ที่คุณแพททุ่มเทแรงใจในการดูแลได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดจึงถูกปิดชั่วคราว หลังสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้นแล้ว ก็ยังคงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน (ภาพจาก แพท)
 

“ความสุขมักไม่มาพร้อมๆ กัน แต่หายนะมักประดังประเดมาพร้อมกันเสมอ” เป็นประโยคที่เปรียบเปรยถึงปีค.ศ.2020 ได้ดีที่สุด เนื่องจากผลกระทบของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในปีนี้ ทำให้แต่ละประเทศทั่วโลกเศรษฐกิจซบเซา, ใช้มาตรการล็อกดาวน์, เว้นระยะห่างทางสังคม, ยกเลิกเที่ยวบิน และมาตรการป้องกันโรค อื่นๆ ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ จึงได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนทำให้ผู้คนตกงาน เกิดกระแสบริษัทต่างๆ เลิกจ้างพนักงาน คนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่โครงการแลกเปลี่ยนถูกระงับ การจัดแสดงผลงานถูกยกเลิกทำให้ขาดรายได้ ถือเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด

เพื่อแสดงความห่วงใยและรับทราบความเป็นไปของมิตรประเทศของไต้หวันในภาคประชาชน โดยเฉพาะคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มนโยบายมุ่งใต้ใหม่ที่ได้รับผลกระทบและต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้น นิตยสารไต้หวันพาโนรามาจึงร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนไต้หวัน-เอเชีย (Taiwan-Asia Exchange Foundation, TAEF) และศูนย์วัฒนธรรมแม่น้ำโขง เริ่มจัดทำสำรวจสถานการณ์ปัจจุบันของคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคหลังสถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นครั้งแรกของไต้หวัน โดยสัมภาษณ์คนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมและองค์กรของลาว, เมียนมา, ไทย และไต้หวันในเชิงลึก นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความห่วงใยต่อพวกเขาแล้ว ยังหวังว่าจากการรายงานผลสำรวจในครั้งนี้ จะทำให้ได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันของคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมภายใต้สถานการณ์โรคระบาด

 

แพท นักออกแบบภูมิทัศน์ชาวลาว : การแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศหยุดชะงัก

หลังจากเกิดสถานการณ์โรคระบาดขึ้น สวนพฤกษชาติผาตัดแก้ (Pha Tad Ke Botanical Garden) ซึ่งคุณคำพาด ทองจัน (Kamphart Tongchan) หรือแพท (Pat) นักออกแบบภูมิทัศน์ ทำงานอยู่ที่นั่น จนถึงเดือนกันยายน ค.ศ.2020 ยังคงไม่ได้เปิดทำการ

“ไม่มีผู้เดินทางมาเลย นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้” คุณแพทนั่งอยู่ภายในสวนพฤกษชาติ ให้สัมภาษณ์ออนไลน์แก่ทีมงานของเราด้วยแอปพลิเคชันวิดีโอคอล สวนพฤกษชาติผาตัดแก้ที่คุณแพททำงาน ตั้งอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาโดยตลอด แต่หลังจากเกิดสถานการณ์โรคระบาด ประเทศลาวจึงระงับการออกวีซ่าท่องเที่ยว สวนพฤกษชาติแห่งนี้ซึ่งพึ่งพารายได้จากการเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยวจึงต้องถูกปิดไปด้วย ก่อนหน้านี้ นอกจากคุณแพทจะทำหน้าที่เป็นนักออกแบบภูมิทัศน์แล้ว ยังเป็นผู้วางแผนจัดงานอีเวนท์ด้วย โดยร่วมงานกับศิลปินรุ่นใหม่จากนานาประเทศ พวกเขาทดลองนำพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนามาผสมผสานกับระบบนิเวศทางธรรมชาติเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะยุคใหม่ แต่หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

“เมื่อไม่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศ เราจึงไม่สามารถหารือกันต่อตัวต่อได้ การประชุมไม่สามารถจัดขึ้นได้ แต่ละคนต้องทำงานที่บ้านแทน”

คุณแพทพูดตรงๆ ว่าผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดนั้นรุนแรงเหลือเกิน “ตอนนี้แผนการดำเนินงานทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด แต่ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าเดือนหน้าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นอีก”

 

ซุนอิ๊ผิ่ว ศิลปินสาขาทัศนศิลป์ชาวเมียนมา : ทุกสิ่งล้วนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

สถานการณ์โรคระบาดก็ทำให้โครงการต่างๆ ในเมียนมาหยุดชะงักเช่นเดียวกัน โครงการระหว่างประเทศที่คุณซุนอิ๊ผิ่ว (Zun Ei Phyu) หรือซุนอิ๊ (Zun Ei) ดำเนินงานหลายโครงการต้องถูกเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า

“ปี 2020 เป็นปีแห่งศิลปะของดิฉัน” คุณซุนอิ๊กล่าวด้วยความเสียดายเล็กน้อย “ปีนี้เป็นปีที่ดิฉันวางโครงการไว้มากมาย ส่วนใหญ่เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และโครงการในท้องถิ่นอีกเล็กน้อย เดิมทีดิฉันมีแผนที่จะเดินทางไปไต้หวันในเดือนเมษายนด้วยซ้ำ แต่เพราะโควิด-19 ทุกอย่างเลยต้องยกเลิกทั้งหมด”

คุณซุนอิ๊มีอาชีพแพทย์ และในขณะเดียวกันก็มีความเชี่ยวชาญในศิลปะการตัดกระดาษและงานศิลปะจัดวาง นอกเหนือจากการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแล้ว ทุกวันศุกร์เธอจะตรวจรักษาคนไข้ที่คลินิกเพื่อการกุศลในชุมชนด้วย

ในเดือนกรกฎาคม คลินิกเพื่อการกุศลในชุมชนที่คุณซุนอิ๊ตรวจคนไข้เป็นประจำจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง แต่ก็ถูกปิดอีก โดยเมื่อ 10 วันก่อนการสัมภาษณ์ครั้งนี้ เมียนมาพบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มเป็นจำนวนมากอีกครั้งทะลุ 1,000 คน พุ่งขึ้นมาอย่างน้อย 3 เท่า ประชาชนจึงต้องกลับมาสวมหน้ากากอนามัยกันใหม่

ด้วยบทบาทหน้าที่ความเป็นแพทย์ของคุณซุนอิ๊ ทำให้เธออยากจะเป็นแนวหน้าในการทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ แต่ก็ไม่สามารถเป็นไปตามที่คาดหวัง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคกระทบต่อเมียนมาอย่างรุนแรง คนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงนัก การทำมาหาเลี้ยงชีพหลังเกิดสถานการณ์โควิดยิ่งลำบากมากขึ้น แต่คุณซุนอิ๊โชคดีมากที่ในช่วงเวลาเช่นนี้ยังมีผู้ซื้อในต่างประเทศรับซื้อผลงานของเธออย่างต่อเนื่อง

 

ธนวัฒน์ อัศวอิทธิพร โปรดิวเซอร์ชาวไทย : สถานการณ์โรคระบาดนำมาซึ่งความท้าทาย ความเป็นประชาธิปไตยจึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้

คุณธนวัฒน์ อัศวอิทธิพร (Tanawat Asawaitthipond) โปรดิวเซอร์ชาวไทย ผู้ทำงานหลายอาชีพ ก็เป็นผู้เสียหายจากสถานการณ์โรคระบาดเช่นกัน คุณธนวัฒน์ยังเป็นทั้งศิลปินสาขาศิลปะการแสดง ที่ปรึกษาด้านศิลปะ และโปรดิวเซอร์  มีการติดต่อไปมาหาสู่กับศิลปินที่มีอิทธิพลในวงการ สถาบัน หรือมูลนิธิต่างประเทศอยู่เป็นประจำ

แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดที่ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดและบรรยากาศในสังคมไทยที่ค่อนข้างวุ่นวาย แต่คุณธนวัฒน์กลับยังคงมองโลกในแง่ดี “ผมไม่ได้บอกว่าตัวเองไม่ได้รับผลกระทบ แต่ผมมองว่าวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้สามารถพลิกให้เป็นโอกาสได้” แม้ว่าสภาพแวดล้อมโดยรวมอาจไม่ดีเท่าในอดีต แต่คุณธนวัฒน์ลองปรับเปลี่ยนก้าวเดินให้ช้าลง ตรวจสอบทรัพยากรที่มีอย่างละเอียดและเที่ยงตรง เพื่อหาหนทางรับมือกับสถานการณ์ “ในฐานะที่เป็นโปรดิวเซอร์ ผมมักจะมองเรื่องราวจากมุมมองที่แตกต่างกันหลายมุมๆ”

นโยบายด้านศิลปะของประเทศไทยมีปัญหาที่ระบบมาเป็นเวลายาวนานแล้ว คนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมส่วนใหญ่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล พวกเขาจำเป็นต้องมีอาชีพที่สองในการทำมาหาเลี้ยงชีพ คุณธนวัฒน์พูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “ถึงแม้ไม่เกิดสถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ขึ้น พวกเราก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากนักอยู่แล้ว”

 

เซียวลี่หง ผู้ก่อตั้ง Bamboo Curtain Studio

ผลจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เกิดอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนนั้น ยังกระทบต่อวงการศิลปะและวัฒนธรรมของไต้หวันด้วย คุณเซียวลี่หง (蕭麗虹) ผู้ก่อตั้ง Bamboo Curtain Studio (竹圍工作室) ของไต้หวัน กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 ทำลายแผนการของเธอในปี 2020 อย่างใหญ่หลวง “โครงการแลกเปลี่ยนที่วางแผนไว้ในตอนแรกถูกระงับทั้งหมด หมู่บ้านศิลปินที่เราสร้างขึ้นกลายเป็นบ้านร้างหมดแล้ว”

คุณเซียวลี่หงซึ่งแต่เดิมเชื่อมั่นมากว่า การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจะต้องกระทำตัวต่อตัว ทุกๆ ปีเธอจะเชิญศิลปินจากต่างประเทศให้มาพักอาศัยที่หมู่บ้านศิลปินของไต้หวันและส่งศิลปินของไต้หวันไปต่างประเทศ แต่ในขณะให้สัมภาษณ์ คุณเซียวลี่หงกลับพูดถึงสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ด้วยน้ำเสียงร่าเริงว่า “ปี 2020 จำนวนผู้เดินทางมาแลกเปลี่ยนที่ไต้หวันนั้น เท่ากับศูนย์เลยค่ะ”

 

เครื่องย้ำเตือนถึงบทเรียนชีวิต

โลกเราถูกสถานการณ์โรคระบาดทำร้ายจนส่งผลให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจนานัปการ ไม่มีหลักประกันในหน้าที่การงาน รวมถึงความไม่แน่นอนในเรื่องต่างๆ นานา ทำให้บรรดาศิลปินต่างรู้สึกหวาดกลัวและวิตกกังวลในวงกว้าง

แต่คุณซุนอิ๊เลือกที่จะรับมือกับสถานการณ์โดยใช้ศิลปะเป็นตัวขับเคลื่อน เมื่อช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม คุณซุนอิ๊ปล่อยให้ตัวเองอยู่นิ่งๆ ไม่ทำอะไรเลย และไม่ลงมือสร้างสรรค์ผลงานใดๆ เลยด้วย ด้วยความที่เธอเป็นพุทธศาสนิกชน จึงทดลองใช้ช่วงเวลาที่ว้าวุ่นเช่นนี้ไปให้ความสนใจกับการนั่งสมาธิและฟังธรรมเทศนา คุณซุนอิ๊ซึ่งมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ถึงขั้นบำบัดโรคด้วยศิลปะให้ตนเอง “ดิฉันรู้ว่าตัวเองจำเป็นต้องมองโลกในแง่บวกเข้าไว้ เพราะชีวิตยังคงต้องดำเนินต่อไป”

“คนเราทุกคนสามารถตายได้ทุกเวลา แค่เพียงก่อนเกิดโรคระบาด เราไม่เคยใส่ใจต่อเรื่องนี้ต่างหาก” สถานการณ์โรคระบาดกลายเป็นเครื่องย้ำเตือนอย่างหนึ่งที่จุดประกายให้คุณซุนอิ๊เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน
เธอวางแผนจะใช้หัวข้อ “ความหวาดกลัว” มาจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป 3 รายการ โดยเชิญผู้เข้าร่วมงานสำรวจความรู้สึก “หวาดกลัว” ไปพร้อมๆ กัน

ส่วนคุณแพทใช้ปรัชญาในศาสนาพุทธมาช่วยทำให้ร่างกายและจิตใจสงบ “คนทั่วไปเวลาเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดอาจจะพยายามหางานใหม่หรือแหล่งที่มาของรายได้ใหม่ๆ แต่พุทธศาสนิกชนอย่างพวกเราจะเชื่อมั่นว่า สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้” คุณแพทเชื่อว่าชีวิตสามารถกลับคืนสู่สามัญได้ “ทำไร่ไถนาก็สามารถดำรงชีพได้ ในยามวิกฤติเช่นนี้ทำให้เราได้กลับมารวมตัวกับครอบครัว ได้ใช้เวลาร่วมกัน”

ด้านคุณเซียวลี่หงนำฟังก์ชันการใช้งานของหมู่บ้านศิลปินมาดัดแปลงเสียใหม่ “ตอนนี้ดิฉันและทีมงานกำลังวางแผนโครงการแลกเปลี่ยนเสมือนจริง” โดยคุณเซียวลี่หงเปรียบงานนี้ว่าเป็น “แม่สื่อ” คือทำให้หมู่บ้านศิลปินกลายเป็นแพลตฟอร์มในการจับคู่ เชื่อมสายใยระหว่างศิลปินไต้หวันกับศิลปินต่างชาติ โดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และความร่วมมือระหว่างกันอย่างลึกซึ้งในรูปแบบเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์

คุณเซียวลี่หงมองว่า สถานการณ์โรคระบาดก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่ “ไม่ปกติ” ที่อาจกลายเป็นชีวิตวิถีใหม่หรือ
นิวนอร์มัล (new normal) คนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมจะต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงโดยเร็วที่สุดเพื่อหาลู่ทางของตนเอง

“ใช่ว่าศิลปินนั้นจะไร้ประโยชน์ แต่พวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนมาทำหน้าที่บริการสังคมและเผยแพร่การศึกษา” คุณเซียวลี่หงแนะนำ ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยวิกฤติเช่นนี้ ศิลปินสามารถแสดงให้เห็นถึงพลังในการสร้างสรรค์ศิลปะอย่างแท้จริง หาวิธีการทำให้ศิลปะกลายเป็นบริการทางความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง หรือเปลี่ยนพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้กลายเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงจะสามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ ภายใต้ความไม่แน่นอนในสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ครั้งนี้