New Southbound Policy Portal

เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการขนส่งและเพิ่มความคุ้มครองพันธุ์พืชไต้หวันเพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขันของภาคการเกษตร

คณะกรรมการการเกษตร วันที่ 9 มี.ค. 64

จากการที่หลายฝ่ายมีความกังวลว่า การติดต่อแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน จะทำให้พันธุ์พืชและเทคโนโลยีทางการเกษตรรั่วไหลนั้น คณะกรรมการการเกษตร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เตรียมใช้มาตรการควบคุมที่มีความเข้มข้นมากขึ้น อาทิ “ห้ามจำหน่ายกลับมายังไต้หวัน” “คุ้มครองตลาดเป้าหมาย” และ “เพิ่มรายการควบคุมกล้าพันธุ์พืชและลูกพันธ์สัตว์” เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มความคุ้มครองพันธุ์พืชและสัตว์ของไต้หวัน เพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขันของภาคการเกษตร

คณะกรรมการการเกษตรชี้แจงว่า พันธุ์ผลไม้ไต้หวันที่ถูกนำไปปลูกในจีน ประกอบด้วย สับปะรด มะม่วง ชมพู่ พุทรานมสดและน้อยหน่า เป็นต้น ในจำนวนนี้สับปะรดและมะม่วงได้มีการผลิตในปริมาณมาก ส่วนพุทรานมสดและน้อยหน่า ยังมีการเพาะปลูกไม่มาก และเทคโนโลยีในด้านการดูแลยังไม่สมบูรณ์  โดยพันธุ์ผลไม้ที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ถูกนำไปปลูกในจีนตั้งแต่ในอดีตที่ยังไม่มีการจดสิทธิบัตร

เพื่อเป็นการควบคุมผลสัมฤทธิ์จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม คณะกรรมการการเกษตรได้มีมาตรการควบคุมทั้งในด้านบุคลากร ปัจจัยการผลิต เทคโนโลยี และสารสนเทศ เป็นต้น ยกเว้นเมล็ดพันธุ์และกล้าพันธุ์พืชที่มีขนาดเล็ก ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะควบคุมพันธุ์พืชที่มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาดถูกนำออกไปนอกประเทศ โดยทุกประเทศทั่วโลกต่างก็เผชิญกับปัญหาพันธุ์พืชรั่วไหลออกนอกประเทศทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการขนส่ง และเพิ่มความคุ้มครองพันธุ์พืชไต้หวัน ตลอดจนรักษาศักยภาพการแข่งขันของภาคการเกษตร หลังผ่านการทบทวนมาตรการที่เกี่ยวข้องซึ่งมีการใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน จึงมีความเห็นว่า ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายในการคุ้มครองลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาหรือมาตรการทางการค้า จึงจะสามารถรักษาศักยภาพการแข่งขันในตลาดเป้าหมายในต่างประเทศได้ และเป็นการรับประกันเสถียรภาพของอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ  โดยคณะกรรมการการเกษตรมีมาตรการควบคุมที่มีความเข้มข้นมากขึ้นดังต่อไปนี้

1. ห้ามสินค้าเกษตรที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์จำหน่ายกลับมายังไต้หวัน โดยมาตรการนี้จะใช้กับสินค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่และประเทศอื่นๆที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์  ซึ่งถือเป็นสินค้าที่คณะกรรมการการเกษตรมีคำสั่งห้ามนำเข้าตามกฎหมาย

2. ยับยั้งการซื้อขายสินค้าเกษตรที่ละเมิดลิขสิทธิ์ในตลาดเป้าหมาย โดยมาตรการนี้เป็นการยื่นขอจดสิทธิบัตรพันธุ์พืชและสัตว์ในตลาดเป้าหมายอย่างกระตือรือร้น อีกทั้งจะช่วยให้สามารถยับยั้งการซื้อขายสินค้าเกษตรที่ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยอาศัยสถานภาพในการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ในเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย

3. เพิ่มรายการควบคุมการส่งออกกล้าพันธุ์พืช ลูกพันธุ์ปศุสัตว์และสัตว์ปีก รวมถึงลูกพันธุ์สัตว์น้ำ โดยคณะกรรมการการเกษตรจะมีการทบทวน และเพิ่มรายการควบคุมการส่งออกกล้าพันธุ์พืช และลูกพันธุ์สัตว์ ทั้งปศุสัตว์และสัตว์ปีก โดยพิจารณาจากความต้องการในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ