New Southbound Policy Portal
กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน วันที่ 15 มี.ค. 64
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถาบันวิจัยสาธารณสุขแห่งชาติ (NHRI) ได้รับผิดชอบดำเนินการตามโครงการค้นคว้าวิจัยของกระทรวงเศรษฐการ (MOEA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการประกาศผลการวิจัยเกี่ยวกับระบบนำส่งยาต้านมะเร็งโมเลกุลเล็ก DBPR115 โดยนำเอาเทคโนโลยีที่มีสิทธิบัตรระดับนานาชาติมาประยุกต์ใช้ เพื่อนำส่งยาไปยังเซลส์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการรักษาและลดผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น โดยยาต้านมะเร็งโมเลกุลเล็ก DBPR115 ถือว่ามีความเหมาะสมกับการใช้งานในไต้หวันที่นิยมใช้ยาโมเลกุลเล็กเป็นหลัก โดยเป็นยาใหม่ตัวแรก (first-in-class) ในตลาด ที่เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนายาใหม่ขึ้นในอุตสาหกรรมยาโมเลกุลเล็ก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบ DBPR115 กับ CPT-11 ที่มีวางจำหน่ายในตลาดแล้ว จะพบว่า การใช้ DBPR115 ในปริมาณเพียงร้อยละ 20 ก็จะสามารถยับยั้งการเติบโตของเซลส์มะเร็งในลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ได้ดีกว่า CPT-11 หลายเท่าตัว
โดย MOEA ชี้ว่า ด้วยความพยายามจากภาคอุตสาหกรรม การศึกษา และการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถยื่นขอวิจัยยาใหม่ (Investigational New Drug: IND) ต่อองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2020 ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติจาก FDA ในวันที่ 15 มกราคม 2021 ให้ทำการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 1 ได้ ถือเป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของทีมวิจัยจากไต้หวัน ที่สามารถพัฒนาระบบนำส่งยาต้านมะเร็งได้
โดยการวิจัยนี้ใช้เทคนิกการนำเอาสารประกอบอะมิโนมารวมตัวกับยาต้านมะเร็งที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาด เพื่อให้สามารถนำส่งยาต้านมะเร็งมุ่งเป้าไปยังเซลส์มะเร็งได้มากที่สุด อันจะช่วยให้ยาต้านมะเร็งมีความเข้มข้นมากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาเพิ่มสูงขึ้น และผลข้างเคียงลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับระบบนำส่งยาแบบโมเลกุลใหญ่แล้ว การใช้สารประกอบอะมิโนมานำส่งยา จะสามารถทำการผลิตได้ง่ายกว่าและได้ผลดีกว่า ต้นทุนในการผลิตก็ต่ำกว่า รวมทั้งโอกาสที่จะเกิดการต่อต้านจากระบบภูมิคุ้มกันก็มีอัตราส่วนต่ำด้วยเช่นกัน