New Southbound Policy Portal
นสพ. Liberty Times วันที่ 15 มี.ค. 64
เมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ศูนย์การศึกษาไต้หวันประจำอินเดีย (Taiwan Education Center in India) ของมหาวิทยาลัยชิงหัว (NTHU) ได้ทำการก่อตั้งกลุ่มที่ปรึกษาอาจารย์อินเดียขึ้น โดยเชิญให้อาจารย์ชาวอินเดียในไต้หวัน 30 คนเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ปรึกษา และมี ศ.ซิ่นซื่อชาง รองอธิการบดีเป็นผู้มอบประกาศเกียรติคุณ พร้อมหวังว่า จะช่วยให้การอุดมศึกษาของไต้หวันสามารถฝังรากลึกในอินเดีย และเพิ่มความสัมพันธ์ในการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวันและอินเดีย ให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
โดยนายหวังเหว่ยจง ผู้อำนวยการ ศูนย์การศึกษาไต้หวันของ NTHU ประจำอินเดียชี้ว่า เดือนสิงหาคมของปีนี้จะครบรอบปีที่ 10 ของการก่อตั้งศูนย์การศึกษาไต้หวันในประเทศอินเดีย ซึ่งจำนวนนักศึกษาอินเดียในไต้หวันเพิ่มจาก 545 คนในปี 2011 เป็น 2,783 คน ในปี 2020 หรือเติบโตขึ้นกว่า 5 เท่า และเมื่อพิจารณาจากความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะมีนักศึกษาจากอินเดียเดินทางมาไต้หวันมากขึ้น ทำให้มีการก่อตั้งกลุ่มที่ปรึกษาขึ้นในครั้งนี้
นายหวังเหว่ยจงกล่าวว่า กลุ่มที่ปรึกษาที่ก่อตั้งขึ้นนี้ จะให้ความสนับสนุนในการแลกเปลี่ยนด้านการอุดมศึกษาระหว่างไต้หวันและอินเดีย ในอนาคต นอกจากจะร่วมมือกับผู้ประกอบการในไต้หวัน จัดตั้งทีมงานด้านการอุดมศึกษาระดับประเทศ เดินทางไปเยือนอินเดียแล้ว ยังวางแผนก่อตั้ง “ทีมชาติอินเดีย-ไต้หวัน” โดยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์และความสัมพันธ์ ที่ภูมิลำเนาของเหล่านักศึกษาอินเดียในไต้หวัน มาช่วยขยายโอกาสในอินเดียให้กับไต้หวันด้วย
โดยหวังเหว่ยจงยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบัน มีอาจารย์ชาวอินเดียมากกว่า 30 คน มาเป็นอาจารย์อยู่ในไต้หวัน ซึ่งกลุ่มที่ปรึกษานี้จะกลายเป็น Think Tank ของอินเดียในด้านการอุดมศึกษาในไต้หวัน ที่จะคอยนำเสนอความคิดเห็นและให้คำปรึกษาต่อไป
ผศ.Kunal Nepali อาจารย์ชาวอินเดียที่มาทำการสอนในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไทเป (TMU) ของไต้หวันนานกว่า 7 ปี จนได้รับบัตรดอกเหมย ซึ่งเป็นบัตรถิ่นที่อยู่ถาวร (APRC) ของไต้หวัน ก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ปรึกษานี้ โดยได้แสดงความเชื่อมั่นว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างอินเดียและไต้หวันกำลังพัฒนาไปในทางที่ดี ส่วนผศ. Arijit Karati ของมหาวิทยาลัยจงซาน (NSYSU) นอกจากการสอนในชั้นเรียนแล้ว ยังปลีกเวลาไปเรียนภาษาจีน โดยเห็นว่าภาษาจีนคือหนึ่งในภาษานานาชาติในปัจจุบัน ทำให้มีชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยอยากจะมาเรียนภาษาจีนในไต้หวัน
ผศ. Somya Agrawal ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเฉาหยาง (CYUT) ซึ่งได้รับบัตรดอกเหมยแล้วก็ชี้ว่า ไต้หวันเหมือนบ้านแห่งที่สองของตน จึงอยากแนะนำให้นักศึกษาอินเดียเดินทางมาเรียนต่อในไต้หวัน เพราะชีวิตประจำวันในไต้หวันมีความสะดวกสบาย ทรัพยากรทางการศึกษาก็มีอยู่อย่างพร้อมเพรียง และผู้คนก็ยังมีความเป็นมิตรเป็นอย่างมาก