New Southbound Policy Portal

ไต้หวัน ศูนย์กลางฮากกาศึกษาของโลก การค้นคว้าที่หลากหลาย นำไปสู่พันธมิตรทางวิชาการทั่วโลก

ศูนย์กลางฮากกาศึกษาของโลก

 

“เชิดหน้าฝ่าลมฝน ยอมสู้ทนแม้ลำเค็ญ”

ฮากกา กลุ่มชนที่ไม่มีพื้นที่อยู่อาศัยที่แน่นอน การต่อสู้เพื่อเอาภาษาแม่คืนมาในไต้หวันเมื่อ 30 ปีก่อน ปลุกให้ชาวฮากกาเกิดความตื่นตัว หันมาเรียกร้องเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ท่ามกลางกระแสแห่งประชาธิปไตย ก่อนที่ในปีค.ศ.2003 ฮากกาศึกษาจะมีโอกาสได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นวิชาการอย่างเต็มตัว ตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีผลงานความสำเร็จที่เกิดจากการค้นคว้าวิจัยมากมาย ซึ่งไม่เพียงแต่จะนำเสนอมุมมองจากท้องถิ่นในการสร้างรากฐานการค้นคว้าด้านชาติพันธุ์ หากแต่ยังต่อยอดไปยังทั่วโลกด้วยการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน จากการศึกษาร่องรอยแห่งการสืบทอดอย่างยั่งยืนของฮากกา และเปิดประตูสู่ศักราชใหม่ของฮากกาศึกษาในเชิงวิชาการไปทั่วโลก

 

ชาวฮากกาคือใคร

“เราคือใคร? มาจากไหน? ทำไมจึงเรียกเราว่าชาวฮากกา?” คำถามที่ชวนสงสัยเหล่านี้ จุดประกายให้เราค้นหาคำตอบเกี่ยวกับชาติกำเนิดของตัวเอง ในช่วงศตวรรษที่ 19 หลังเกิดความขัดแย้งอย่างหนักขึ้นในภาคตะวันออกของมณฑลกวางตุ้งเกี่ยวกับความเป็นชาวฮั่นของชาวฮากกา หลัวเซียงหลิน (羅香林 : 1906–1978) นักประวัติศาสตร์ในยุคปลายราชวงศ์ชิงต้นสมัยสาธารณรัฐจีน ได้ทุ่มเทความพยายามอย่างหนักในการแก้ข้อสงสัยที่มีต่อรากเหง้าของตัวเอง ด้วยการค่อยๆ ค้นหาร่องรอยต่างๆ จากเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนาน อันเป็นก้าวแรกของการเปิดประตูสู่การค้นคว้าวิจัยในเชิงวิชาการ

ดร.สวีเจิ้งกวง (徐正光) อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยชาติพันธุ์วิทยา สภาวิจัยแห่งชาติ (Academia Sinica) เห็นว่า “ชาวฮากกาค้นพบความเป็นตัวตนของตัวเองผ่านการปะติดปะต่อทางวัฒนธรรม” ในขณะที่ดร.จางเหวยอัน (張維安) อดีตคณบดีของวิทยาลัยวัฒนธรรมฮากกา มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจียวทง (NCTU) ผู้ซึ่งได้รับรางวัลผู้อุทิศตนต่อวัฒนธรรมฮากกาครั้งที่ 7 ก็ให้ความเห็นถึงการเริ่มต้นของการค้นคว้าวิจัยในเชิงวิชาการเกี่ยวกับฮากกาในไต้หวันไว้ว่า “แนวความคิดคือตัวตัดสินผลลัพธ์”

ดร.หลินเจิ้งฮุ่ย (林正慧) ดุษฎีบัณฑิตจากคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหอประวัติศาสตร์แห่งชาติ (The Academia Historica) ชี้ว่า “ความคิดเห็นเกี่ยวกับชาวฮากกาของหลัวเซียงหลิน ได้รับอิทธิพลไม่น้อยจากสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลานั้น” การค้นคว้าเกี่ยวกับฮากกาของหลัวเซียงหลินเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกที่ว่าถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม และหวังว่าจะสามารถใช้จุดยืนทางวิชาการมายืนยันให้เห็นถึงความโดดเด่นและความเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน

“คำว่าฮากกา (客家 แปลตรงตัวคือ ผู้เป็นแขก) จริงๆ แล้วเป็นชื่อที่ผู้อื่นใช้เรียกพวกเขา” แนวคิดนี้ได้รับการยืนยันจากการค้นคว้าทั้งทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา เมื่อเกิดข้อขัดแย้งเกี่ยวกับว่าใครเป็นผู้ที่อยู่ก่อน คำว่าฮากกาจึงถูกสื่อเป็นนัยว่าเป็นผู้ที่ย้ายเข้ามาใหม่ ตามคำเรียกของผู้ที่อยู่มาก่อน ซึ่งก็เหมือนกับเป็นการเข้าใจตัวเองเมื่อมีผู้อื่นชี้ให้เห็น “ผมเติบโตมาในหมู่บ้านชาวฮากกา หากไม่ได้ติดต่อกับโลกภายนอก ก็ไม่รู้เลยว่าฮากกาหมายความถึงอะไร” ดร.จางเหวยอันพูดภาษาหมิ่นหนานไม่ได้ เพื่อนที่โรงเรียนก็ฟังภาษาฮากกาไม่ออก “มีเพียงแต่การได้ติดต่อกับคนกลุ่มอื่นๆ จึงจะรับรู้ได้ถึงความแตกต่างของกันและกัน” ดังนั้น ความเป็นฮากกาแบบเป็นไปตามธรรมชาติจึงกลายมาเป็นชาวฮากกาที่สำนึกในความเป็นฮากกา

ตามแนวคิดทางสังคมวิทยาแล้ว การแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นไปตามประวัติศาสตร์และการยอมรับทางวัฒนธรรม ซึ่งในทุกวันนี้ สำหรับชาวฮากกาในไต้หวันแล้ว ไม่ได้มีข้อจำกัดเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น ในกฎหมายฮากกาพื้นฐาน จะยึดถือการอธิบายในทางพฤตินัยเป็นสำคัญ ดังนั้น ขอเพียงมีสายเลือดฮากกา หรือมีต้นกำเนิดมาจากฮากกา และมีความสำนึกในความเป็นฮากกา ล้วนเป็นชาวฮากกาได้ทั้งสิ้น

 

ภาษาฮากกาคือสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์

ภาษาคือสื่อกลางในการถ่ายทอดวัฒนธรรม และเป็นองค์ประกอบสำคัญของการค้นคว้าด้านชาติพันธุ์ที่มีความจำเป็นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดทั้งประวัติศาสตร์และชะตากรรมของแต่ละเผ่าพันธุ์

“ภาษาฮากกาในไต้หวันมีสำเนียงที่แตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ ซื่อเซี่ยน (四縣) ไห่ลู่ (海陸)  ต้าผู่ (大埔) เหราผิง (饒平) เจ้าอัน (詔安) หย่งติ้ง (永定) และฉางเล่อ (長樂) ซึ่งเรียกรวมกันได้ว่า “ซื่อไห่หย่งเล่อต้าผิงอัน” (四海永樂大平安) อันสื่อความหมายว่า ทั่วโลกมีแต่สันติสุขและสงบสุขตลอดกาล” ดร.สวีเจิ้งกวงกล่าว สำหรับดร.สวีเจิ้งกวงที่เติบโตมาในแถบลิ่วตุยของเกาสงแล้ว “หลังจากที่เดินทางมาเรียนต่อทางเหนือ ถึงได้รู้ว่าภาษาฮากกามีหลายสำเนียงมาก” ดร.จางเหวยอันก็เล่าให้เราฟังว่า “ในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวัน ภาษาฮากกาถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นภาษากวางตุ้ง” แต่หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นได้ส่งล่ามที่พูดภาษาฮากกาจากไต้หวันไปที่กวางตุ้ง จึงได้รู้ว่าเป็นคนละภาษาไปเลย

ที่ผ่านมา การอนุรักษ์ภาษาฮากกาถือเป็นประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมฮากกามาโดยตลอด และถือเป็นจิตวิญญาณสำคัญในการคงอยู่ของชาวฮากกาด้วย โดย ดร.จางเหวยอัน ชี้ว่า “พจนานุกรมภาษาฮากกาฉบับแรก เขียนโดยผู้สอนศาสนาต่างชาติ” ดร.จางเหวยอันผู้เป็นห่วงเป็นใยต่อการคงอยู่ของภาษาฮากกาได้ค้นพบต้นฉบับตารางการออกเสียงภาษาฮากกาซึ่งเก็บรักษาไว้ที่คริสตจักรของคณะผู้สอนศาสนาบาเซิล (Basel Mission) ที่ตั้งอยู่ในเมืองบาเซิลของสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้ถ่ายภาพเก็บไว้ โดยคณะบาเซิลมิชชันถือเป็นคณะผู้สอนศาสนากลุ่มแรกที่เดินทางไปเผยแพร่ศาสนาในแถบกวางตุ้งและฮากกา ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมฮากกา แสดงให้เห็นถึงความผูกพันอย่างใกล้ชิดระหว่างคริสตศาสนากับวัฒนธรรมฮากกา

กฎหมายฮากกาพื้นฐานที่ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม ค.ศ.2018 ได้มีการกำหนดให้ภาษาฮากกาเป็น 1 ในภาษาประจำชาติของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ด้วย โดยสถานีวิทยุ HAKKA RADIO, Formosa Hakka Radio, New Hakka Radio และเว็บไซต์ Hakka e-Learning Center ของคณะกรรมการกิจการฮากกา (HAC) ต่างก็เป็นผู้ที่ช่วยผลักดันให้ภาษาฮากกากลายมาเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมมากขึ้น พร้อมทั้งมีส่วนสำคัญในการทำให้ชาวฮากกาได้รับการยอมรับ และกระตุ้นให้ชาวฮากกาเกิดสำนึกในความเป็นฮากกาของตัวเองมากขึ้นด้วยเช่นกัน

 

แผนที่การโยกย้ายถิ่นฐานของชาวฮากกา

“ชาวฮากกาคือเผ่าพันธุ์ที่กระจัดกระจายแต่มีความเชื่อมโยงกันอยู่” ในการค้นคว้าเกี่ยวกับฮากกา การโยกย้ายถิ่นฐานและพัฒนาการของคนแต่ละรุ่นถือเป็นร่องรอยที่สำคัญ “ชาวฮากกาเหมือนนก และเป็นชาติพันธุ์ที่ออกหาอาหาร” เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อพื้นฐานความเป็นอยู่ ก็จะเริ่มโยกย้ายถิ่นฐาน ด้วยสายเลือดแห่งความกล้าในการเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ที่สืบทอดต่อกันมา ทำให้ทุกวันนี้มีชาวฮากกากระจายอยู่ทั่วไปในวงกว้าง ดร.จางเหวยอันบอกว่า “หากคิดคร่าวๆ เชื่อว่าน่าจะมีชาวฮากกาอย่างน้อย 60 ล้านคนกระจายอยู่ทั่วโลก นอกจากในแถบเอเชียอาคเนย์แล้ว แม้แต่ที่ปาปัวนิวกินี ก็มีร่องรอยของชาวฮากกา”

“ถิ่นที่อยู่และพฤติกรรมในการดำรงชีพ ต่างก็สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมฮากกา” ดร.สวีเจิ้งกวงกล่าว ชาวฮากกาจะนิยมทำของหมักดอง โดยในช่วงที่การเก็บเกี่ยวให้ผลผลิตดี จะดองเก็บไว้เพื่อยืดระยะเวลาในการเก็บรักษาอาหาร เคารพฟ้ารักแผ่นดิน เนื่องจากสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก ทำให้ชาวฮากกาให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลานเป็นอย่างมาก ด้วยความหวังว่าพลังแห่งความรู้จะช่วยให้หลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งชาวฮากกามักจะสอนบุตรหลานของตนอยู่เสมอว่า “คนชั้นเลิศคือผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อชาติและมีความกตัญญูกตเวที สองสิ่งสำคัญในชีวิตคือการเพาะปลูกและเรียนหนังสือเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล”

 

ความหลากหลายที่ต่อยอดสู่โลกาภิวัตน์

ความกว้างไกลของวิสัยทัศน์ คือสิ่งที่ตัดสินขอบเขตในการค้นคว้า “ตั้งแต่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติจงยาง (National Central University, NCU) เริ่มก่อตั้งวิทยาลัยฮากกาศึกษาในปีค.ศ.2003 หลังจากนั้น สถาบันการศึกษาทั่วไต้หวันหลายแห่งก็ทยอยกันก่อตั้งด้วยเช่นกัน” ทำให้มีวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานเชิงวิชาการมาทำการศึกษาเกี่ยวกับฮากกาในทุกมิติ โดยใช้ทฤษฎีและหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่อ้างอิงได้

“การเข้ามามีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ ถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญซึ่งช่วยให้การค้นคว้าเกี่ยวกับฮากกากลายเป็นงานวิจัยที่สำคัญระดับโลก” ดร.จางเหวยอันกล่าว คณะกรรมการกิจการฮากกา (Hakka Affairs Council, HAC) ซึ่งก่อตั้งมาเป็นเวลา 17 ปี ได้มีการจัดการประชุมวัฒนธรรม ฮากกาโลกอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น Global Hakka Cultural Meetings, Leadership Council of Overseas Hakka Groups conferences และ World Hakka Conventions ต่างก็เชื่อมโยงความผูกพันของคนบ้านเดียวกันเอาไว้อย่างแน่นแฟ้น ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อการสืบทอดวัฒนธรรมฮากกาและการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเชิงวิชาการเป็นอย่างมาก

วารสาร Global Hakka Studies ซึ่งมีดร.จางเหวยอันเป็นบรรณาธิการ ถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการสื่อสารแลกเปลี่ยนของวงการฮากกาศึกษาทั่วโลก ไม่มีข้อจำกัดด้านพรมแดน ไม่ถูกจำกัดด้วยช่วงเวลา การแลกเปลี่ยนเชิงวิชาการและประสบการณ์จากชุมชนได้ช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับการค้นคว้าฮากกาศึกษา ในขณะที่สถาบันศึกษาก็สามารถใช้ประโยชน์จากการจัดสัมมนาระดับนานาชาติ มาร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างสม่ำเสมอ โดยเมื่อวันที่ 13-15 พฤศจิกายน ค.ศ.2018 วิทยาลัยวัฒนธรรมฮากกา มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจียวทง ได้จัดงานสัมมนาระดับนานาชาติขึ้น โดยเชิญนักวิชาการจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไทย สหรัฐฯ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และนิวซีแลนด์ มาร่วมแบ่งปันความรู้จากการค้นคว้าวิจัยระหว่างกัน ในการประชุมที่เกี่ยวข้องของกลุ่มพันธมิตรฮากกาศึกษาโลก งานวิจัยเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของฮากกาในไต้หวันได้รับการต่อยอดไปสู่การค้นคว้าแขนงใหม่ ผลสำเร็จของงานวิจัยที่ได้ปรากฏ ก็ได้กลายมาเป็นแบบอย่างสำคัญของศูนย์ ฮากกาศึกษาทั่วโลก ดึงดูดผู้ที่สนใจเกี่ยวกับฮากกาให้มารวมตัวกัน เพื่อร่วมหว่านเมล็ดพันธุ์ลงไปบนดินแดนอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้