New Southbound Policy Portal
หวงกุ้ยฮุ่ยหวังว่าละครที่สถานีโทรทัศน์ฮากกาบรรจงสร้างออกมา จะเป็นที่ยอมรับในวงการวัฒนธรรมฮากกาโลก (ภาพ: หลินหมินเซวียน)
ตั้งแต่การมอบรางวัลระฆังทองคำครั้งที่ 43 ในไต้หวันเป็นต้นมา จะต้องมีผลงานของสถานีโทรทัศน์ฮากกา (HakkaTV) เข้าร่วมชิงชัยประเภทรายการละครทุกครั้ง ติดต่อกันมายาวนานถึง 12 ปี สาระละครชุดของสถานีโทรทัศน์ฮากกาเป็นไปอย่างหลากหลาย ตั้งแต่การนำวรรณกรรมไต้หวันมาเขียนเป็นบทละคร การสะท้อนชีวิตความเป็นความตายของผู้คน สะท้อนชีวิตผู้คนที่ตกอยู่ในสภาพป่วยเป็นโรคทางจิตเวช หรือปัญหาโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารที่กำลังเผชิญกับปัญหาอาจถูกยุบเนื่องจากมีนักเรียนน้อยเกินไป สถานีโทรทัศน์ฮากกาพิถีพิถันตั้งแต่การเลือกบทละคร การเขียนบท การเลือกตัวละคร ทุกเรื่องที่ปรากฏสู่สายตาผู้ชมรับรองได้ว่าคุ้มค่ากับการรอคอยทั้งเนื้อหา คุณภาพ และสาระ
จึงขอเชิญชวนท่านผู้อ่านสลัดภาพลักษณ์เดิมๆ และข้อจำกัดทางภาษาที่มีต่อชาวฮากกา แล้วมาร่วมชมละครของสถานีโทรทัศน์ฮากกากัน
เดือนตุลาคม ค.ศ.2019 สถานีโทรทัศน์ฮากกาได้ผลิตผลงานละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคทางจิตเวชเรื่องหนึ่งซึ่งมีชื่อเรื่องว่า “วันดีในวันท้องฟ้ามืดครึ้ม” มีฉากในศูนย์พักฟื้นผู้พิการด้านประสาทเป็นฉากหลักของละคร สาระก็เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วย ญาติ และแพทย์พยาบาล เชื่อมต่อกันเป็นเรื่องราวในละครที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและพลัง
ละครถ่ายทอดพลังอันแกร่งกล้า
หลังจากที่ละครเรื่องนี้ออกอากาศไปในแต่ละตอน แฟนเพจละคร “วันดีในวันท้องฟ้ามืดครึ้ม” ต่างแห่คอมเมนต์แสดงความรู้สึกกันอย่างล้นหลาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกละครกระตุ้นต่อมน้ำตา หรือแซะเรื่องราวในอดีตของตน ประสบความสำเร็จในการสร้างความรู้สึกร่วมกับผู้ชม คุณหวงจิ้งเจิ้น (黃靜瑱) ผู้เขียนบทละครเรื่องนี้ ซึ่งเคยทำงานเป็นพยาบาล ส่วนตัวก็เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าด้วย มีความเข้าใจดียิ่งต่อภาพลักษณ์ที่ผิดๆ ในสายตาผู้คนทั่วไปที่มีต่อผู้ป่วยโรคทางจิตเวช ตลอดจนผู้ป่วยเองที่มักจะตีตราให้แก่ตนเอง เธอหวังว่าจะอาศัยละครเรื่องนี้มาทำให้ผู้คนเข้าใจผู้ป่วยโรคทางจิตเวชเหล่านี้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังหวังว่าผู้ป่วยเองจะเข้าใจตัวเองว่า ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชมิใช่เพราะตัวเองยังดีไม่พอ หรือเป็นเพราะเวรกรรมที่ตนทำไว้ แต่ต้องฉีกตราประทับผิดๆ ที่ติดอยู่บนตัวของผู้ป่วยออก จนกล้าที่จะเผชิญหน้ากับโรคนี้
ผู้คนมักจะมีความเห็นว่า โรคทางจิตเวชเป็นปัญหาที่เกิดจากภาวะทางจิต แต่นอกจากแรงกดดันและผลกระทบที่เกิดกับอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ความจริง ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชมีสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องมาจากความผิดปกติของเซลล์สมองด้วย เช่น โรคซึมเศร้าเกิดจากสารคัดหลั่งจากระบบประสาทในสมองผิดปกติ มิใช่ว่าจะบอกให้ผู้ป่วยเปิดใจให้กว้างก็จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ดังนั้น โรคทางจิตเวชกับโรคอื่นๆ ก็เหมือนๆ กัน สามารถหาสาเหตุของโรคได้ แล้วอาศัยการบำบัดรักษาด้วยยาหรือวิธีรักษาแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช้ยา เพื่อควบคุมโรคนี้ให้ได้
คุณหวงกุ้ยฮุ่ย (黃桂慧) หัวหน้าทีมถ่ายทำละครของสถานีโทรทัศน์ฮากกา เปิดเผยว่า ละครเรื่องนี้ต้องการให้ผู้ชมได้ตระหนักถึง “ความรู้สึกป่วย” ผู้คนจะต้องมีปัญหาในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งต้องหาทางระบายออกมา เช่น ถ้าป่วยจริงก็ต้องไปพบแพทย์ ไม่ควรที่จะละเลยหรือเชื่อวิธีรักษาที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ และเพื่อดึงผู้ชมให้เข้าใกล้ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชให้มากขึ้น แฟนเพจของละครเรื่องนี้ก็จะมีการแนะนำโรคทางจิตเวชประเภทต่างๆ และคำขวัญให้กำลังใจ อย่างเช่นคำโฆษณาของละครเรื่องนี้ที่ว่า “เราไม่มีทางที่จะตัดรูปตัวเองให้เข้ากับโลกได้ มีเพียงก้าวไปข้างหน้า แม้เป็นวันที่ท้องฟ้ามืดครึ้มก็เป็นวันดีๆ ได้” ชีวิตย่อมมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องธรรมดา ใช่ว่าจะทำให้วันท้องฟ้ามืดครึ้มกลายเป็นวันท้องฟ้าสดใส แต่หวังว่าละครจะเป็นเพื่อนที่อยู่เคียงข้างผู้ชมเพื่อสร้างพลังที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าร่วมกัน
ละครฮากกาสร้างสรรค์เพื่อผู้ชม
ตามความเฟื่องฟูของภาพยนตร์ไต้หวันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การถ่ายทำภาพยนตร์มีต้นทุนค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ค่าตัวแพง ทำให้สถานีโทรทัศน์ต้องเพิ่มค่าตัวนักแสดงให้สูงขึ้นเพื่อดึงดูดนักแสดง ส่งผลให้ต้นทุนการถ่ายทำละครสูงขึ้นตามไปด้วย คุณหวงกุ้ยฮุ่ยบอกอีกว่า ตอนแรกที่ตนเพิ่งรับงานละคร ต้นทุนการถ่ายทำสูงถึงตอนละ 800,000 เหรียญไต้หวัน แต่ตอนนี้ช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีผ่านไป ต้นทุนขยับสูงขึ้นไปเป็นตอนละ 2,000,000 เหรียญไต้หวันแล้ว ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่งบประมาณไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้การผลิตละครที่ผ่านมาจากปีละ 2 เรื่อง กลายเป็น 2 ปี 3 เรื่อง มาจนถึงในปัจจุบันเหลือเพียงปีละเรื่องเท่านั้น
คุณหวงกุ้ยฮุ่ยระบุว่า ช่วงแรกของการผลิตละครของสถานีโทรทัศน์ฮากกาเป็นไปในทิศทาง “เรื่องราวของชาวฮากกา” เป็นหลัก แนะนำความเป็นไปในการต่อสู้ของกลุ่มชนชาวฮากกาในไต้หวัน อย่างเช่นในปีค.ศ.2007 ก็มีละครเรื่อง “คุณหมอสวีปั้งซิง” (大將徐傍興) ที่นำแสดงโดย เวินเซิงหาว (溫昇豪) ดาราชายยอดนิยมในยุคนั้น รับบทเป็นสวีปั้งซิง (徐傍興) นายแพทย์ชาวฮากกาที่ได้รับสมญานามว่า “หมอผ่าตัดมือหนึ่งของไต้หวัน” ขณะเดียวกันยังเป็นผู้ผลักดันกีฬาเบสบอลในไต้หวัน และผู้ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาเหม่ยจงด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อสร้างละครประชาสัมพันธ์เรื่องราวของชาว ฮากกามาได้ระยะหนึ่งแล้ว ก็ทำให้กลายเป็นเส้นแบ่งให้ผู้ชมเข้าใจผิดว่าสถานีโทรทัศน์ฮากกาผลิตแต่รายการให้ชาวฮากกาชมเท่านั้น ดังนั้น เพื่อทลายกรอบดังกล่าว สถานีฮากกาจึงได้ปฏิรูปการคัดสรรเนื้อหาละครให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ละครฮากกาเป็นที่ดึงดูดผู้ชมได้มากขึ้น อย่างเช่นละคร “The Kite Soaring” (牽紙鷂的手) ที่สร้างขึ้นในปีค.ศ.2010 สะท้อนชีวิตนักเรียนในรั้วโรงเรียน เป็นเรื่องราวที่เมื่อเด็กหัวรั้นไม่อยู่ในระเบียบวินัย (中輟生) เจอครูผู้มีวิธีการสอนที่ค่อนข้างพิเศษ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น กลายเป็นละครเรื่องแรกที่ใช้ทดสอบผู้ชมให้หันมาทำความรู้จักสถานีโทรทัศน์ฮากกามากขึ้น
ส่วนผู้ชมที่ไม่เคยได้สัมผัสกับละครของสถานีโทรทัศน์ฮากกา คุณหวงกุ้ยฮุ่ยแนะนำให้ลองชมละครเรื่อง “Long Day's Journey into Light” (出境事務所) พล็อตเรื่องเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบริษัทฌาปณกิจศพแห่งหนึ่ง สาธยายเรื่องราวเกี่ยวกับการเกิดและการตาย ทุกคนจะต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ญาติมิตรต้องล้มหายตายจากไป นักแสดงในละครต่างสวมบทบาทได้สมจริง เสมือนอยู่ในเหตุการณ์ที่ต้องตายจากกันไป ซึ่งอาจจะเป็นปฏิกิริยาหรือพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการจากไปของญาติมิตร “ให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้สึกได้รับการปลอบประโลมจากการชมละครเรื่องนี้บ้าง” หวงกุ้ยฮุ่ยบอกอีกว่า ละครของสถานีโทรทัศน์ฮากกาอาจจะยังไม่ได้รับความนิยมมากนักเมื่อออกอากาศในตอนแรก แต่เป็นละครที่มีเนื้อหาสาระดีเยี่ยม ผู้แสดงก็ยอดเยี่ยม ทำให้นานวันเข้ากลายเป็นที่นิยมของผู้ชมมากขึ้น แม้ว่าจะออกอากาศมานานหลายปีแล้ว แต่ก็ยังได้รับความนิยมจากผู้ชมในระดับสูง อย่างเรื่อง “Long Day's Journey into Light” เมื่อดูจากสถิติการรับชมผ่านแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตที่เรานำไปออกอากาศ ก็จะพบว่า ตั้งแต่ออกอากาศในปีค.ศ.2015 จนถึงปัจจุบัน ยังเป็นผลงานละครที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมมากที่สุดของสถานีโทรทัศน์ ฮากกาและมีผู้ชมใหม่ๆ เข้ามารับชมเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
ภาษาไม่ใช่ปัญหา
การเลือกผู้แสดงของแต่ละเรื่อง สถานีโทรทัศน์ฮากกายึดมั่นในหลักการสร้างละครคุณภาพ เฟ้นหานักแสดงที่เหมาะสมกับบทบาทมากที่สุด แม้จะพูดภาษาฮากกาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร หากยินดีที่จะท้าทายกับบทบาทที่ต้องแสดง ทางสถานีก็ยินดีที่จะจัดหาผู้เชี่ยวชาญภาษาฮากกามาให้คำแนะนำ ช่วยเหลือให้นักแสดงได้ฝึกฝนภาษาฮากกา นอกจากนี้ ผู้ให้คำแนะนำภาษา ฮากกาจะแปลบทพูดทุกประโยค อัดเสียงเป็นภาษาฮากกาทีละประโยค อ่านช้าๆ ชัดๆ ครั้งแรก และอีกครั้งจะเป็นความเร็วปกติ ให้นักแสดงได้ท่องจำบทในภาษาฮากกาจนขึ้นใจก่อนเข้ากล้อง เมื่อเริ่มถ่ายทำแล้ว การให้คำแนะนำด้านภาษาจะมีการปรับเปลี่ยนน้ำเสียงที่ใช้ในการแสดงไปตามบทของตัวละคร และในระหว่างการถ่ายทำ ก็ยังจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำการออกเสียงของตัวละครให้ได้มาตรฐาน ขณะเดียวกัน นักแสดงจะแสดงอย่างสมบทบาทพร้อมๆ ไปกับการออกเสียงบทพูดให้ชัดเจนได้มาตรฐานไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น หากการถ่ายทำละครภาษาจีนกลาง 1 วัน ใช้เวลา 10 ชม. การถ่ายทำละครในภาษาฮากกาก็ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นเป็น 16 ชม. ซึ่งต้องให้เวลาผู้กำกับกับนักแสดงทำความเข้าใจซึ่งกันและกันมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ ยังต้องคำนึงถึงผู้ชมที่ฟังภาษาฮากกาและดูละครฮากกาไม่รู้เรื่อง คุณหวงกุ้ยฮุ่ยบอกว่า หลายปีที่ผ่านมามีละครเกาหลีเข้ามามากมาย ลดข้อจำกัดด้านภาษาลงได้ไม่น้อย แม้จะฟังภาษาเกาหลีไม่รู้เรื่อง แต่ก็ไม่ได้ทำให้อรรถรสในการชมละครลดน้อยลง เธอขอให้ผู้ชมเปิดใจให้กว้าง รับชมละครฮากกาเช่นเดียวกับการชมละครเกาหลี
ละครฮากกาก้าวสู่เวทีระดับโลก
ในฐานะที่เป็นสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของ “Taiwan Broadcasting System” ทำให้สถานีโทรทัศน์ฮากกาไม่ต้องคำนึงถึงการหารายได้เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ในเชิงพาณิชย์ทั่วไป แต่ก็มีภารกิจสำคัญในการสืบทอดวัฒนธรรมและประเด็นที่สังคมทั่วไปให้ความสนใจ จึงมีผลต่อการคัดเลือกบทละครที่ต้องมีสาระทั้งในวงกว้างและในระดับลึก อาทิ ละครเรื่อง “Somewhere Over The Sky” (雲頂天很藍) สะท้อนเรื่องราวการยุบโรงเรียนในเขตทุรกันดาร รุ่นที่ 2 ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ การอบรมสั่งสอนแบบข้ามรุ่น ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมในไต้หวันในปัจจุบัน ปัญหาสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานที่เป็นข่าวครึกโครมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น ปัญหาระบบวันหยุดของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย การวินิจฉัยว่าทำงานหนักเกินไป กลไกการตรวจสอบการทำงาน สถานีโทรทัศน์ฮากกาก็ได้อาศัยเทคนิคการถ่ายทำละครเรื่อง “Karoshi” (勞動之王) ที่เดินเรื่องแบบสบายๆ สนุกสนาน เพื่อให้ผู้ชมเพลิดเพลินและให้ความสนใจกับสาระของละคร
ส่วนละครเรื่อง “Survival” (日據時代的十種生存法則) ที่แพร่ภาพเมื่อปีค.ศ.2019 เป็นละครที่นำมาสาธยายวรรณกรรมไต้หวันในรูปแบบแปลกใหม่ โดยมีคุณเฉินหนานหง (陳南宏) ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านวรรณกรรมไต้หวันและวิจัยค้นคว้าผลงานวรรณกรรมของไล่เหอ (賴和) นักวรรณกรรมชื่อดังไต้หวันเป็นโปรดิวเซอร์ คัดสรรผลงานของไล่เหอมาเขียนเป็นบทละครแห่งยุคสมัย นำปัญหาสถานะของชาวไต้หวันในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวันมาตีแผ่ การผูกขาดสินค้าของบริษัทญี่ปุ่นในยุคนั้น การควบคุมราคาสินค้า ให้ผู้ชมได้เห็นบนจอเป็นฉากๆ แม้เวลาจะผ่านไปนับร้อยปีแล้วก็ตาม แต่สภาพความยากลำบากของชาวไต้หวันภายใต้ปลายปากกาของไล่เหอ ละม้ายคล้ายคลึงกับสภาพความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมไต้หวัน คนรุ่นใหม่ไม่แน่ใจในอนาคตของตนเองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการทำให้วรรณกรรมไต้หวันกับผู้คนในสังคมมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
“เรากล้าพูดได้ว่า ในโลกนี้ไม่มีใครทำรายการภาคภาษา ฮากกา” หวงกุ้ยฮุ่ยแสดงความคาดหวังด้วยความมั่นใจว่า “เราอยากจะเป็นชาวฮากกาของโลก หวังว่าในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นแห่งหนตำบลใด เมื่อกล่าวถึงฮากกาแล้ว ผู้คนจะนึกถึงสถานีโทรทัศน์ฮากกาในไต้หวันแห่งนี้” อาศัยช่องทางอินเทอร์เน็ตไร้พรมแดน ทำให้ละครฮากกามีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรม ฮากกาของโลก