New Southbound Policy Portal

แก่นแท้แห่งวัฒนธรรมฮากกา เจิ้งหรงซิง - ผู้ฟื้นฟูอุปรากรฮากกา

เจิ้งหรงซิง - ผู้ฟื้นฟูอุปรากรฮากกา

 

อุปรากรฮากกาหรืองิ้วฮากกามีต้นกำเนิดมาจากงิ้วเก็บใบชาที่มีนักแสดง 3 คน จัดเป็นละครงิ้วพื้นบ้านของแท้และดั้งเดิมประเภทหนึ่งของไต้หวัน ในช่วงเวลานับร้อยปีที่ผ่านมา ได้ก้าวข้ามยุครุ่งเรืองถึงขีดสุด เข้าสู่ยุคที่ความนิยมตกต่ำ จนต่อมาค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดและกลับมาผงาดอีกครั้ง ในฐานะทายาทรุ่นที่ 5 ของคณะดนตรีเป่ยก่วนปาอินประจำตระกูลเฉินแห่งเมืองเหมียวลี่ (Miaoli Chen Family Beiguan Bayin Troupe) และเป็นหลานชายของคุณเจิ้งเหม่ยเม่ย (鄭美妹) นักแสดงงิ้วฮากกาชื่อดัง ทำให้คุณเจิ้งหรงซิง (鄭榮興) ก้าวเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านประเภทนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

จากเวทีในชนบทก้าวขึ้นสู่เวทีของโรงละครแห่งชาติ (National Theater) และยังได้เผยแพร่ไปทั่วโลก คณะอุปรากรฮากกาหรงซิง (Rom Shing Hakka Opera Troupe) ทำให้งิ้วฮากกากลายเป็นการแสดงพื้นบ้านที่สร้างชื่อเสียงและทำรายได้ อีกทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังคว้ารางวัล Folk Art Heritage Award, Award for Successfully Promoting Social Education (group category) และ Social Education Public Service Award (group category) จากกระทรวงศึกษาธิการของไต้หวันมาครอง ขณะเดียวกันยังได้รับรางวัลใหญ่ๆ อาทิ รางวัล Golden Melody Awards ประเภทศิลปะและดนตรีดั้งเดิม ติดต่อกันถึง 6 ปีซ้อน รางวัลการแสดงดีเด่น (Best Performance) และรางวัลผลงานการบันทึกเสียงและวิดีโอศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมดีเด่นประจำปี (Best Traditional Performing Arts Audio and Video Production) เป็นต้น

 

วิญญาณฮากกาแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของเซลล์ร่างกาย

คุณเจิ้งหรงซิงซึ่งถือกำเนิดในคณะดนตรีเป่ยก่วนปาอินประจำตระกูลเฉินแห่งเมืองเหมียวลี่ อีกทั้งยังเป็นทายาทสายตรง เขาจึงฟื้นฟูงิ้วฮากกาให้กลับมารุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง ซึ่งช่วยให้ชาวฮากกาทั้งในและต่างประเทศได้ผ่อนคลายความคิดถึงบ้านเกิด คุณเจิ้งหรงซิงเล่าว่า “ผมมีผลงานแผ่นเสียงตั้งแต่ 6 ขวบแล้ว” จากการที่ได้คลุกคลีอยู่กับดนตรีและงิ้วฮากกามาตลอดชีวิต ประกอบกับภูมิหลังทางครอบครัวและการศึกษา ตลอดจนถูกฝึกฝนอย่างเข้มงวดจากคุณปู่ซึ่งก็คือคุณเฉินชิ่งซง (陳慶松) ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น “ปรมาจารย์แห่งยุค” และบิดาคือคุณเจิ้งสุยหั่ว (鄭水火 หมายเหตุ : บิดาของคุณเจิ้งหรงซิงใช้แซ่เจิ้งซึ่งเป็นแซ่ของมารดาคือคุณเจิ้งเหม่ยเม่ย 鄭美妹) ทำให้คุณเจิ้งหรงซิงที่ฉลาดหลักแหลมเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเริ่มฉายแววตั้งแต่ยังเล็ก

“ดนตรีฮากกา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดนตรีหรือแนวเพลงล้วนมีเอกลักษณ์พิเศษ” คุณเจิ้งหรงซิงซึ่งจบปริญญาตรีจากคณะดนตรีศึกษารุ่นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยตงอู่ (Soochow University) และคณะดนตรีจีนรุ่นที่ 1 ของมหาวิทยาลัยวัฒนธรรมจีน (Chinese Culture University) อีกทั้งยังได้คว้าปริญญามหาบัณฑิตจากคณะดนตรีศึกษา มหาวิทยาลัยครุศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University) และปริญญา DEA (Diplôme d'études Approfondies) มหาวิทยาลัย New Sorbonne (Paris III) อีกด้วย คุณเจิ้งหรงซิงได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล โดยในปีค.ศ.1988 เขารับช่วงการบริหาร “คณะงิ้วฮากกาเก็บใบชาชิ่งเหม่ย” (ต่อไปเรียกชื่อย่อว่า คณะชิ่งเหม่ยหยวน) จากคุณปู่คุณย่า และจัดตั้ง “คณะอุปรากรฮากกาหรงซิง” (ต่อไปเรียกชื่อย่อว่า คณะหรงซิง) เพื่อสืบสานและเผยแพร่ศิลปะการแสดงงิ้วฮากกาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น หลายปีที่ผ่านมาได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมากมายและสร้างชื่อเสียงขจรขจายไปถึงต่างประเทศ

“เนื่องจากการร้องเพลงงิ้วฮากกาแบบดั้งเดิมต้องใช้เสียงสูงมาก ดังนั้นจึงต้องใช้พิณพั่งหู (胖胡) หรือพิณสองสายซึ่งมีโทนเสียงต่ำมาบรรเลงประกอบ เพื่อให้เกิดความสมดุล” ท่วงทำนองดนตรีและความดื่มด่ำที่หาสิ่งใดมาทดแทนไม่ได้คือมนต์เสน่ห์ของงิ้วฮากกาที่ทำให้ผู้คนลุ่มหลงและคะนึงหา

 

อุปรากรฮากกาดึงดูดผู้คนให้ลุ่มหลง

“ในละครงิ้วเก็บใบชาที่มีนักแสดง 3 คน แต่ละคนต้องรับหน้าที่นักแสดง ดีดพิณ และตีกลอง จัดเป็นการแสดงที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมาก” การนำเค้าโครงเรื่องของละครงิ้วขนาดเล็กๆ ที่แสดงตามหมู่บ้านบนป่าเขาและลานหน้าศาลเจ้าในแถบชนบทมาปรับปรุงให้มีความหลากหลายขึ้น จำเป็นต้องมีนักแสดงมากพอที่จะสวมบทบาทตัวละคร ซึ่งต้องมีทั้งพระเอก นางเอก  คนชรา ตัวตลก และอื่นๆ เฉพาะปีค.ศ.2017 ได้เปิดการแสดงอุปรากรฮากกาในโรงละครแห่งชาติถึง 10 ครั้ง โดยคุณเจิ้งหรงซิงเป็นผู้สวมบทบาทสำคัญ

“ตั้งแต่เริ่มเขียนบทจนถึงเปิดการแสดงอย่างเป็นทางการ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 1 ปีเต็มๆ” ละครงิ้วที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนและประณีต และทุกครั้งที่เปิดการแสดงได้สร้างกระแสฮือฮาเป็นอย่างมาก “ละครงิ้วเรื่องเดียวกันแต่สถานที่แสดงต่างกัน จำเป็นต้องปรับแสงไฟและซ้อมบทกันใหม่” อีกทั้งยังต้องใช้แนวคิดล้ำสมัยด้านศิลปะการแสดงบนเวทีในยุคปัจจุบันมาเพิ่มความประณีตให้แก่ละครงิ้วแบบดั้งเดิมด้วย

“อุปรากรฮากกาสามารถเปิดการแสดงในไทเปที่เป็นเมืองใหญ่ได้อีกครั้ง ราวกับปาฏิหาริย์เลยทีเดียว” ปีค.ศ.1987 เทศบาลกรุงไทเปได้มอบหมายให้มูลนิธิศิลปะพื้นบ้านจีน (Chinese Folk Arts Foundation) จัดงานเทศกาลศิลปะฮากกา (Hakka Arts Festival) เป็นครั้งแรกที่สวนสาธารณะ Taipei New Park (ปัจจุบันคือสวนสาธารณะ 228 Peace Memorial Park) คุณเจิ้งหรงซิงรวบรวมความกล้าหาญแจ้งเจตนารมณ์ของตนให้คุณสวี่ฉางฮุ่ย (許常惠) ผู้เป็นอาจารย์ได้ทราบ จากนั้นก็เดินทางกลับไปที่เหมี่ยวลี่เพื่อรวบรวมสมาชิกคณะงิ้วฮากกาประจำตระกูล  ปานประหนึ่งเป็นลิขิตแห่งสวรรค์ “คณะชิ่งเหม่ยหยวน” ซึ่งใช้ชื่อตัวกลางของคุณปู่และคุณย่ามารวมกันเป็นชื่อคณะ เมื่อคุณย่าเสียชีวิตลง สมาชิกคณะจึงแตกกระสานซ่านเซ็น แต่ “เทศกาลศิลปะฮากกา” ในครั้งนี้ สามารถดึงสมาชิกเก่ากลับมาร่วมกันก่อตั้งคณะงิ้วฮากกาขึ้นใหม่อีกครั้งโดยใช้ชื่อว่า “คณะหรงซิง” ซึ่งเป็นชื่อของผู้เป็นหลานชาย เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษและนำงิ้วฮากกากลับขึ้นสู่เวทีการแสดงอีกครั้ง

“การแสดงในครั้งนั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงาม” งิ้วฮาก กาที่เงียบหายไปเป็นเวลายาวนานสร้างกระแสฮือฮาในแวดวงชาวฮากกาที่เฝ้าคะนึงหาและยังช่วยกันบอกกล่าวเล่าต่อ “หลังสิ้นสุดเทศกาลศิลปะฮากกา ก็ได้รับเชิญให้ไปเปิดการแสดงไม่ขาดสาย” 3 ปีก่อนที่จะเข้าไปเปิดการแสดงที่โรงละครแห่งชาติ “คณะหรงซิง” ก็เริ่มตระเวนไปเปิดการแสดงในต่างประเทศตั้งแต่ปีค.ศ.1992 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามทุกรอบ

“จิตวิญญาณของงิ้วฮากกาก็คือ ความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง กตัญญูต่อบิดามารดา ซื่อสัตย์ต่อคู่สมรส และมีความชอบธรรม” ในยุคที่การศึกษายังไม่แพร่หลาย ละครงิ้วมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดทางการศึกษา ตั้งแต่บทพูดฮากกาไปจนถึงดนตรีประกอบ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงและเครื่องแต่งกาย ตลอดจนการแต่งหน้าและทรงผม คุณเจิ้งหรงซิงใส่ใจในทุกรายละเอียดและพิถีพิถันเป็นอย่างยิ่ง “ทุกครั้งที่เราไปแสดงในต่างประเทศจะต้องเตรียมนำเสนอผลงานใหม่อย่างเต็มรูปแบบ”

 

ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น อัดฉีดเลือดใหม่เข้าแทนที่

“คุณย่าเริ่มเรียนงิ้วฮากกาตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ และเริ่มขึ้นเวทีแสดงตั้งแต่อายุ 10 ขวบ” คุณเจิ้งหรงซิงพูดถึงคุณย่าของเขาและเล่าต่อว่า ตัวเขาวิ่งเล่นอยู่ใต้โรงงิ้วตั้งแต่เล็กจนโต จึงซึมซับสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับงิ้วฮากกาเข้าไปในสายเลือด และทำให้เขากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุปรากรจีนไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นบทพูดภาษาฮากกา ภาษาราชการ (ภาษาปักกิ่ง) หรือภาษาฮกเกี้ยน ไม่ได้เป็นเรื่องยากสำหรับตัวเขาเลยแม้แต่น้อย ในละครงิ้วฮากกาเรื่อง “ฉู่ฮั่น ศึกชิงบัลลังก์สะท้านปฐพี” ตอน “สิ้นนางสิ้นแผ่นดิน” (楚漢相爭-霸王虞姬) ที่เขียนบทโดย ศ.เจิงหย่งอี้ (曾永義) คุณเจิ้งหรงซิงได้ทดลองนำอุปรากรจีน 3 ประเภท ซึ่งได้แก่ งิ้วไต้หวัน งิ้วฮากกา และงิ้วปักกิ่ง มาหลอมรวมกัน นวัตกรรมด้านศิลปะการแสดงที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้คว้ารางวัลผลงานการบันทึกเสียงและวิดีโอศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมยอดเยี่ยมประจำปี (Best Traditional Performing Arts Audio and Video Production) ในการประกวด Golden Melody Awards ครั้งที่ 25 ประเภทดนตรีและศิลปะดั้งเดิม โดยนอกจากเป็นอุปรากรจีนที่นำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ในพงศาวดารและประวัติศาสตร์มาดัดแปลงเป็นบทละครแล้ว “คณะหรงซิง” ยังนำเอาบทละครคลาสสิกของวิลเลียม เชก สเปียร์มาผสมผสานเข้าไปด้วย เขากล่าวว่า “เราต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่บนพื้นฐานแบบดั้งเดิม”

นักแสดงคือวิญญาณของอุปรากรจีน ด้วยเหตุนี้เอง คุณเจิ้ง หรงซิงจึงทุ่มเทความพยายามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพราะในที่สุดแล้ว อุปรากรจีนแบบดั้งเดิมจะต้องเผชิญกับปัญหานักแสดงอายุมากขึ้น เขาเล่าว่า “สำหรับการบ่มเพาะบุคลากร ถือว่าเราทำได้ไม่เลวทีเดียว” มีการวางแผนฝึกอบรมเพื่อพัฒนานักแสดงในทุกบทบาท ปัจจุบันสมาชิกในทีมงานไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อยู่บน-ล่าง-หน้าหรือหลังเวที ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ นับเป็นการเปลี่ยนถ่ายเลือดใหม่ให้แก่วงการงิ้วฮากกาอย่างแท้จริง และทำให้สมาชิกในทีมงานมีทั้งวัยสูงอายุ วัยกลางคน และวัยหนุ่มสาว ทีมงานระดับมืออาชีพที่ครบวงจรนี้ยังประกอบด้วยนักดนตรี นักแสดง และฝ่ายธุรการ รวมทั้งสิ้นเกือบ 50 คน ซึ่งต่างก็ทำหน้าที่ของตนเองได้เป็นอย่างดี คุณเจิ้งหรงซิงยังได้ทุ่มเทความพยายามเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับงิ้วฮากกาให้แก่ประชาชนทั่วไปและลูกศิษย์ด้วยการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะทำให้ผู้คนเข้าใจและชื่นชอบงิ้วฮากกาของไต้หวันที่เปี่ยมล้นด้วยวัฒนธรรม ได้มากขึ้นกว่าเดิม

ด้วยภาระความรับผิดชอบที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดทำให้คุณเจิ้งหรงซิงมีปณิธานอันแน่วแน่ เกียรติยศชื่อเสียงทั้งหมดที่ได้รับมาเป็นเพียงพลังที่ช่วยเกื้อหนุนให้เขาไม่ละทิ้งและยืนหยัดที่จะธำรงรักษาธุรกิจของตระกูลเอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป ตั้งแต่เป็นผู้ก่อตั้งภาควิชาอุปรากรไต้หวัน ในโรงเรียนศิลปะการแสดงละครฟู่ซิง (National Fu Hsing Dramatic Arts Academy) ในปี 1994 จนถึงเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปะการแสดงไต้หวัน (National Taiwan College of Performing Arts, NTCPA) และยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยอุปรากรฮากกา (Hakka Opera School) คุณเจิ้งหรงซิงทุ่มเทความพยายามชั่วชีวิตเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองและอุปรากรจีนให้คงอยู่สืบไปและกลับมารุ่งเรืองขึ้นอีกครั้ง

“ทุกครั้งที่ไปเปิดแสดงในต่างประเทศ ผมต้องปวดหัวทุกทีเลย” เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นเงินจำนวนหลายล้าน อาศัยแค่ค่าบัตรเข้าชมไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย “การตอบรับอย่างล้นหลามจากพ่อแม่พี่น้องชาวฮากกา คือกำลังใจที่ดีที่สุดที่ช่วยเกื้อหนุนให้เราสามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้” กำลังใจที่มากล้นจากบรรดาผู้ชมซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมิตรสหายที่ใกล้ชิด พวกเขาไม่ต้องรอให้คุณเจิ้งหรงซิงเอ่ยปากขอร้อง ต่างควักกระเป๋าด้วยความใจกว้างให้เงินช่วยเหลือเพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาที่เร่งด่วนนี้ รายชื่อผู้ให้การสนับสนุนถูกสลักไว้ในหัวใจของคุณเจิ้ง หรงซิงเพื่อเป็นเครื่องเตือนสติและเป็นการตอกย้ำตนเองตลอดเวลาว่าจะต้องไม่ทำให้ผู้คนผิดหวัง

ผ้าม่านบนเวทีค่อยๆ เปิดขึ้นอีกครั้งท่ามกลางเสียงดนตรีที่เร่าร้อน ตามด้วยแสงไฟที่สว่างขึ้นในชั่วพริบตา “คณะหรงซิง” งิ้วฮากกาโรงใหญ่แห่งนี้จะสืบทอดการแสดงต่อไปอีกเป็นพันๆ ปี