New Southbound Policy Portal

CECC ประกาศแนวทางการรับมือทางการแพทย์ใน 4 มิติ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ในระดับชุมชน พร้อมรักษาขีดความสามารถทางการแพทย์ ให้ยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น

กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ วันที่ 16 พ.ค. 64
 
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (CECC) ไต้หวัน ประกาศว่า เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ในระดับชุมชน และเพื่อสร้างหลักประกันด้านการรับมือกับโรคระบาดภายในประเทศ พร้อมทั้งรักษาขีดความสามารถทางการแพทย์ของสถาบันทางการแพทย์ทั่วประเทศ นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป หน่วยงานการแพทย์จำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการดำเนินมาตรการรับมือ ดังต่อไปนี้ :
 
ประการแรก ลดจำนวนผู้ป่วยนอก
1.1 ประเมินความเร่งด่วนในการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วย รวมถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เพื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงของการเข้ารับการรักษาที่ใช้เวลานาน หรือมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคระบาด ก่อนตัดสินใจว่าควรให้การรักษา หรือยืดระยะเวลาการเข้ารับการรักษาออกไป

1.2 ยืดระยะเวลาในการเข้ารับการรักษาแบบแพทย์ทางเลือกหรือการรักษาที่ไม่เร่งด่วนนัก อาทิ การตรวจสุขภาพ ศัลยกรรม การผ่าตัดหรือตรวจวินิจฉัยแบบนัดล่วงหน้า หรือการทำกายภาพบำบัด เป็นต้น
 
ประการที่สอง เสริมสร้างกลไกการตรวจคัดกรองและติดตามการรายงานผลในระดับชุมชน
2.1 ก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจคัดกรองก่อน หลังเสร็จสิ้นการตรวจคัดกรองแล้ว ต้องทำการกักตัวอยู่ในที่พัก หลีกเลี่ยงการออกนอกเคหสถาน สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนซึ่งต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ต้องผ่านการตรวจคัดกรองก่อนเข้าพักในห้องพักผู้ป่วยใน

2.2 ผลตรวจคัดกรองของผู้ป่วยที่ออกมาเป็นลบ จะเป็นเพียงหลักฐานอ้างอิงที่แสดงถึงสถานะสุขภาพของผู้ป่วย ณ ช่วงเวลานั้นๆ เท่านั้น แต่ไม่สามารถหมายรวมได้ว่า ผู้ป่วยคนนี้มิได้ติดเชื้อโควิด – 19 บางกรณีอาจมีความเป็นไปได้ว่า อยู่ในระยะก่อนแสดงอาการ (pre-symptomatic) ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง

2.3 หากในระหว่างการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้ ระบบทางเดินหายใจติดขัด สูญเสียประสาทการรับกลิ่นและรับรส ท้องเสียแบบไม่ทราบสาเหตุ หรืออาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด – 19 หรือมีอาการต้องสงสัยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างเร่งด่วน
 
ประการที่สาม เสริมสร้างกลไกการตรวจคัดกรองด้านสุขภาพของพนักงานและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์
3.1 ดำเนินมาตรการตรวจคัดกรองเบื้องต้นให้กับเจ้าหน้าที่ทุกวัน รวมถึงติดตามสภาวะของสุขภาพอย่างใกล้ชิด ผ่านขั้นตอนการตรวจวัดอุณหภูมิและสำรวจอาการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทำการบันทึกตามความเป็นจริง หากมีอาการต้องสงสัยต้องรีบเข้ารับการตรวจคัดกรอง และรายงานต่อหน่วยงานรับผิดชอบต่อไป

3.2 เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในหน่วยงานทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น แผนกฉุกเฉิน , ICU และแผนกห้องพักสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโดยเฉพาะ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองผ่านสารคัดหลั่งหลังโพรงจมูกและคอ อย่างน้อย 5-7 วันต่อครั้ง
 
ประการที่สี่ งดการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ป่วยระหว่างประเทศ ยกเว้นเฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือเป็นกรณีพิเศษ