New Southbound Policy Portal

รักษ์ไทย รักไต้หวัน คณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้า

คณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้า

 

มีความเชื่อที่ว่า หากขอพรบนบานต่อพระพรหมแล้ว ความหวังนั้นเป็นจริงสมความปรารถนา ก็จะต้องทำการแก้บน ซึ่งวิธีการแก้บนนั้นมีมากมายหลายวิธี แต่ที่จริงแล้วไม่ได้มีข้อกำหนดตายตัว ถ้ามีกำลังทรัพย์พอ จะถวายทองคำหรือช้างก็ย่อมได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนนิยมถวายรำแก้บน หรือสิ่งที่เหมาะสมตามฐานะของแต่ละบุคคล

 

“พระพรหมชอบชมการแสดงรำ” ญาติกา วัชโรบล หรือชื่อจีน หลันซิง (藍星) นางรำชาวไทย ได้อธิบายถึงธรรมเนียมในการรำแก้บน คุณญาติกา หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ดีเจอันโกะ กาญจน์ญาณ์ กฤษณ์ชญาคมน์ ผู้จัดรายการของสถานีวิทยุอาร์ทีไอ (Radio Taiwan International : Rti) และเพื่อนชาวไทยของเธอ ปิยะรัตน์ คมสมบูรณ์ หรือชื่อจีน เหม่ยหลิง (美齡) ลูกครึ่งไทย-ไต้หวัน ได้ร่วมกันก่อตั้งคณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้า (四面泰傳舞團) ซึ่งมักได้รับเชิญให้ไปแสดงรำถวายพระพรหมทั่วสารทิศในไต้หวันอยู่เป็นประจำ “จุดเด่นของคณะเราคือนางรำเป็นคนไทยทั้งหมด” ส่วนชื่อคณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้า มีที่มาจากท่ารำท่าหนึ่งในแม่ท่าของนาฏศิลป์ไทยชื่อว่า “ท่าพรหมสี่หน้า” เป็นภาษาท่ารำที่สื่อความหมายว่า “ยิ่งใหญ่ไพศาล, เจริญรุ่งเรือง”

 

ข้อห้ามในการรำแก้บนที่ไม่ควรท้าทาย

 “การรำแก้บนในเมืองไทยจะเต้นแบบเซ็กซี่ยั่วยวนไม่ได้ และจำนวนนางรำจะต้องเป็นเลขคู่” ชาวไทยมีความศรัทธาในพระพรหมอย่างมาก เมื่อคุณญาติกาพูดถึงการรำแก้บน เธอก็เล่าออกมาอย่างพรั่งพรู “ขอพรจากท่าน ท่านก็ดลบันดาลให้สมหวัง”, “ถ้าศรัทธาท่านมาก ท่านก็ศักดิ์สิทธิ์มาก”, “พระองค์ทรงเป็นมหาเทพผู้ยิ่งใหญ่” เรื่องเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพรหมที่ช่วยประทานพรอย่างรวดเร็วให้แก่ผู้ที่สักการะบูชาพระองค์นั้นเป็นที่แพร่หลายในเมืองไทย และแผ่ขยายมาจนถึงไต้หวันด้วยเช่นกัน ชาวไต้หวันนิยมสักการะบูชาพระพรหมเป็นอย่างมาก เห็นได้จากควันธูปและการกราบไหว้บูชาท่านที่เพิ่มขึ้นอย่างล้นหลาม

ตามความเชื่อของผู้ศรัทธาในประเทศไทย องค์ท้าวมหาพรหมไม่ได้เป็นแค่เทพเจ้าแห่งโชคลาภ แต่พระองค์คือมหาเทพผู้สร้าง ทุกสรรพสิ่งบนโลกเกิดจากการดลบันดาลของพระองค์ ไม่ว่าเรื่องเงินทอง ชื่อเสียง หรือชะตาชีวิตที่ดี ก็สามารถขอพรจากท่านได้ทุกเรื่อง “การสวมชุดบิกินี่เต้นเซ็กซี่ยั่วยวนต่อหน้าพระพรหมเพื่อแก้บนนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง” คุณญาติกาต้องการเน้นย้ำเรื่องนี้ให้ชาวไต้หวันเข้าใจเป็นพิเศษ

 

พระพรหมเรียกหา ให้มารำที่ไต้หวัน

การได้ทำหน้าที่รำถวายพระพรหมในไต้หวันนั้น นางรำใน “คณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้า” ต่างรู้สึกภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างสูง “การได้มารำที่ศาลพระพรหม นอกจากรู้สึกว่าพระองค์ท่านคุ้มครองเราแล้ว ยังได้อนุรักษ์และเผยแพร่นาฏศิลป์ไทยซึ่งเป็นศิลปวัฒนธรรมประจำชาติอีกด้วย” พรวลัย ธนากิจไพศาลกุล มีชื่อจีนว่า เสี้ยวเพ่ย (孝珮) ตอนอยู่เมืองไทยไม่ได้มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดกับพระพรหมมากนัก แต่หลังจากมาเรียนหนังสือที่ไต้หวัน เธอจึงเริ่มสัมผัสได้ “รู้สึกว่ามีพระพรหมอยู่ด้วยเสมอ และท่านคอยคุ้มครองอยู่ตลอด”

คุณปิยะรัตน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะ เคยมีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ มีโรคประจำตัวรุมเร้ามาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อเธอมาอยู่ไต้หวัน เวลาที่มีเรื่องทุกข์ร้อนใดๆ เธอจะตรงดิ่งไปไหว้สักการะพระพรหมเสมอ ส่วนคุณญาติกาเล่าว่า ตอนอยู่เมืองไทยตนเองก็ศรัทธาในพระพรหมอยู่แล้ว แต่พอได้มารำที่ศาลพระพรหมฉางชุนในกรุงไทเปเป็นครั้งแรก ก็ยิ่งรู้สึกศรัทธาในพระองค์มากขึ้นอย่างเต็มเปี่ยม อาจเป็นโชคชะตาที่ทำให้เกิดศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นหลังจากย้ายมาอยู่ที่ไต้หวัน ซึ่งสมาชิกทุกคนในคณะเองต่างก็ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

 “พวกเรารู้สึกว่า ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการดลบันดาลของพระพรหม” คุณปิยะรัตน์กล่าวเสริม ไม่ว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น เชื่อว่าพระพรหมจะช่วยแก้ไขปัญหาให้เสมอ นี่คือความเชื่อและศรัทธาอย่างแรงกล้าของนางรำชาวไทยกลุ่มนี้

 

อนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย

การรำแก้บนที่ดูเหมือนว่าเคลื่อนไหวร่ายรำง่ายๆ นั้น แต่ที่จริงเบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยความหมายทางศิลปวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง การแสดงรำแก้บนของคุณญาติกาและพี่ๆ น้องๆ ในคณะของเธอนั้นอยู่ในระดับนาฏศิลป์ไทยชั้นสูง แต่งกายด้วยชุดรำที่งดงามหรูหรา มีลวดลายโดดเด่นปักดิ้นและประดับเลื่อมแพรวพราว เพื่อให้เกิดประกายวิบวับเล่นกับแสงไฟเมื่อทำการแสดง

“นาฏศิลป์ไทยไม่ใช่ว่าใครก็รำเป็น” ท่ามกลางสภาพอากาศในฤดูร้อน เหล่านางรำสวมชุดสำหรับการแสดงเพลง “ระบำไกรลาศสำเริง” อย่างคุณญาติกาซึ่งอยู่ในชุดโขนละคร (ชุดยืนเครื่อง) ตัวพระ สวมชฎาสีทอง ใช้เวลาในการแต่งกายชุดนี้นานถึง 45 นาทีเลยทีเดียว

ความสวยงามของอาภรณ์เครื่องแต่งกายที่นางรำท่านอื่นสวมใส่อยู่นั้นก็มีความลับซ่อนอยู่เช่นกัน ก่อนที่บรรดานางรำจะทำการแสดง พวกเขาจะนั่งยองๆ หรือนั่งบนเก้าอี้ หยิบด้ายขึ้นมาเย็บผ้านุ่ง ที่แท้ชุดรำท่อนบนเหล่านี้ไม่มีกระดุมอยู่เลย จะต้องเย็บทุกครั้งก่อนทำการแสดง หลังจากแสดงเสร็จก็จะต้องเลาะด้ายทิ้ง ถ้าหากในวันเดียวกันต้องขึ้นแสดงหลายรอบ แล้วหัวข้อชุดการแสดงต่างกัน ก็จะต้องดำเนินขั้นตอนการใส่และถอดชุดแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก “พวกเราทำตามแบบแผนของนาฏศิลป์ไทยทุกอย่าง เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยอย่างสุดความสามารถ” คุณญาติกากล่าว

คณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้าจัดประเภทการแสดงรำสำหรับพระพรหมแบ่งออกเป็น 6 ชุด ได้แก่ ชุดไทยห่มสไบ, ชุดยืนเครื่องพระนาง, ชุดกินรี, ชุดอินเดีย เป็นต้น หากเป็นงานที่ให้การต้อนรับแขกระดับสูงหรืองานเทศกาลสำคัญ มักจะพบเห็นการแสดงในชุดกินรี ซึ่งสื่อถึงการให้ความสำคัญ “จากการที่พวกเราเคยศึกษาค้นคว้าข้อมูล พบตำนานว่า เทพกินรา (ชาย) และกินรี (หญิง) นั้นเกิดจากพระบาท (เท้า) ของพระพรหม จึงนำการแสดงระบำกินรีมารำถวายพระพรหม ถือเป็นการถวายความเคารพต่อพระองค์อย่างสูงยิ่งขึ้น” และแน่นอนว่าการแสดงชุดนี้จึงมีราคาสูงที่สุดในคณะด้วย

 

ระบำกินรี

การแสดงระบำกินรี เป็นหนึ่งในการแสดงประเภท “โขนละคร” ของไทย เนื้อเรื่องมักเป็นฉากที่เทพออกมาร่ายรำอย่างสำราญใจ อยู่ในโลกของเทพที่ไร้ซึ่งความทุกข์ร้อนใจ เหล่าเทวดาและเทพธิดาต่างยิ้มให้กันอย่างสดใสร่าเริง กินรีก็ร่ายรำอย่างเบิกบานใจด้วย ใจความของเนื้อเพลงคือการอวยพรให้ทุกคนมีความสุขสมความปรารถนา บังเกิดโชคลาภและความสำเร็จ ดังนั้นจึงเหมาะแก่การนำมารำถวายพระพรหมเป็นอย่างยิ่ง

การแสดงระบำกินรีนั้นแสดงให้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทย คุณญาติกาเล่าว่า “ในสมัยโบราณ การแสดงละครแบบนี้จะแสดงในวังเท่านั้น เรียกว่าละครใน” นาฏศิลป์ไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 300 ปีแล้ว ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรม คุณปู่ทวดและคุณย่าทวดของคุณญาติกาอยู่ในกรมมหรสพและคณะนาฏศิลป์ที่รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คุณปู่ทวดเป็นนักดนตรี ส่วนคุณย่าทวดเป็นนางรำ นามสกุล “วัชโรบล” (Vajropala) ของคุณญาติกา เป็นนามสกุลที่คุณปู่ทวดได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 6 โดยตรง ขณะที่นางรำคนอื่นๆ ในคณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้าก็เรียนรำไทยมาตั้งแต่เด็กหรือศึกษาในวิทยาลัยนาฏศิลป์เฉพาะทาง จึงมีความเชี่ยวชาญในด้านนาฏศิลป์ไทยอย่างลึกซึ้ง

 

ความยากลำบากในเส้นทางแห่งนาฏศิลป์ไทย

"ถ้าเราไม่รักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมประจำชาติ นาฏศิลป์ไทยของเราจะเป็นยังไง ทุกวันนี้ก็มีคนที่อยากรำไทยน้อยมากอยู่แล้ว” นาฏศิลป์ไทยมีความคล้ายคลึงกับกถักกฬิ (Kathakali) ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ของอินเดียตอนใต้ เวลาแสดงจะใช้การเคลื่อนไหวของท่ารำซึ่งใช้มือ, สายตา, ลำตัว และการก้าวเท้าเพื่อสื่อความหมาย ถือเป็นการทดสอบทักษะความสามารถของผู้แสดงรำเป็นอย่างมาก

“อย่างการวอร์มร่างกายก่อนการรำ อาจารย์ในสถาบันนาฏศิลป์จะให้นักเรียนทำอย่างน้อย 100 ครั้ง” มุทิตา อ้อยบำรุง หรือชื่อจีนว่า เสี่ยวฉิง (筱晴) ทำการสาธิตการดัดตัวของนางรำ เช่น การดัดมือให้นิ้วโค้งไปด้านหลังมือเหมือนเส้นโค้งของตัวอักษร S ได้อย่างน่าทึ่ง คุณมุทิตาเริ่มเรียนรำไทยตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เป็นเพราะผ่านการฝึกฝนอย่างหนักมาเป็นเวลายาวนานนี่เอง จึงทำให้กระดูกมีความอ่อนตัวยืดหยุ่นได้เช่นนี้

นางรำที่ดีจะต้องใส่ใจในรายละเอียดทุกการเคลื่อนไหวของท่ารำต่างๆ เพื่อที่จะทำการแสดงได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเบื้องหลังนั้นผ่านการฝึกฝนมาอย่างทรหด “นาฏศิลป์ไทยที่เป็นการแสดงรำชั้นสูง อิริยาบถและท่ารำต่างๆ จะต้องรำตามแบบฉบับที่ถูกต้อง ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้เองตามใจชอบ” คุณพรวลัยอธิบายเรื่องแบบแผนของการรำ เช่น การตั้งวงสูงของตัวนาง ปลายนิ้วจะต้องยกให้สูงระดับหางคิ้ว หรือแต่ละท่าต้องอยู่ในตำแหน่งใดก็จะต้องจัดวางให้ถูกต้อง การย่อเข่าของตัวพระและตัวนางจะกันเข่าออกกว้างไม่เท่ากัน เป็นแบบแผนที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

จากการที่ได้รำถวายพระพรหม เมื่อดูจากอัตราจำนวนการจ้างรำแก้บนของลูกค้า ก็จะรู้ว่าพระพรหมศักดิ์สิทธิ์เพียงใด “มีลูกค้าบางคนที่เพิ่งแก้บน และผ่านไปแค่หนึ่งสัปดาห์ก็ติดต่อกลับมาให้พวกเรารำแก้บนให้อีก” แสดงให้เห็นว่า หลังจากลูกค้าแก้บนแล้ว แค่เพียงหนึ่งสัปดาห์ ความปรารถนาก็เป็นจริง และยังมีลูกค้าบางคนที่แก้บนเป็นประจำทุกเดือน จากการเรียกหาของพระพรหม ทำให้คณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้าต้องเดินทางไปรำที่ศาลพระพรหมทั่วไต้หวันตั้งแต่เหนือจรดใต้อยู่เป็นประจำ

นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้ามาจนถึงทุกวันนี้ รายได้จากแสดงรำทางคณะได้นำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสหรือองค์กรเพื่อการกุศลต่างๆ เป็นประจำ จนถึงปัจจุบันบริจาคเงินไปแล้วกว่า 310,000 เหรียญไต้หวัน นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า พวกเขารักไต้หวัน และรักประเทศไทยด้วย “ฉันคงไม่ไปจากไต้หวันแล้ว เพราะตอนนี้ไต้หวันคือบ้านของฉัน" คุณปิยะรัตน์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งคณะ อาศัยอยู่ในไต้หวันเป็นเวลา 14 ปีแล้ว และก็เป็นคนไต้หวันครึ่งหนึ่งมานานแล้วด้วย ส่วนคุณญาติกาซึ่งทำงานและใช้ชีวิตในไต้หวันมานานกว่าสิบปี ก็วางแผนจะตั้งรกรากถาวรที่ไต้หวันเช่นกัน เธอพูดได้อย่างเต็มปากว่า “ฉันรักไต้หวัน”

นางรำแสนสวยกลุ่มนี้ซึมซับศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมจากเมืองไทยซึ่งเป็นดินแดนแห่งศิลปะอันอุดม และได้นำมาเปล่งประกายเจิดจรัสในไต้หวัน สำหรับนางรำ “คณะนาฏศิลป์พรหมสี่หน้า” ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พระพรหมกำหนดไว้แล้วอย่างดีที่สุด