New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 27 พ.ค. 64
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นางสวีลี่เหวิน เลขาธิการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) Ms. Jennifer Hendrixson White ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนโยบายในกลุ่มผู้แทนสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ (UN) และ Mr. Filip Grzegorzewski ผู้แทนสหภาพยุโรปประจำไต้หวัน ได้เข้าร่วม “การประชุมออนไลน์เชิงพหุภาคี ว่าด้วยการส่งเสริมให้ไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ” ที่จัดขึ้นโดยกองทุนเยอรมัน มาร์แชลล์ (German Marshall Fund of the United States, GMF) ซึ่งเป็นคลังสมองของสหรัฐอเมริกา โดยทั้ง 3 ฝ่ายได้ร่วมอภิปรายหารือกันถึงแนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อช่วยส่งเสริมให้ไต้หวันสามารถเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ
นางสวีฯ กล่าวว่า ในปีนี้ เป็นครั้งแรกที่ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําระดับโลก 7 ประเทศ (Group of Seven, G7) ได้ประกาศสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก (WHO) และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) อย่างเปิดเผย โดยแผนผลักดันเพื่อเข้าร่วมการประชุม WHA ของไต้หวัน ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวไต้หวันมีกำลังใจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ขณะนี้ไต้หวันถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประชุมด้านเทคนิคทางการแพทย์ของ WHO ในทุกทาง ซึ่งตราบจนปัจจุบันไต้หวันยังมิได้ถูกรับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้ ตามญัตติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN) ฉบับที่ 2758 ในปี 1971 ได้มีการระบุถึงปัญหาเฉพาะในประเด็น “สิทธิ์อันชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของจีนในเวทีสหประชาชาติ” เท่านั้น แต่ไม่ได้มีการระบุถึงไต้หวันเลยแม้แต่น้อย ประกอบกับ UN และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างตีความญัตติดังกล่าวอย่างไม่เหมาะสม และนำมาอ้างอิงเพื่อใช้กีดกันไม่ให้ไต้หวันเข้าร่วมมาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งยังปฏิเสธการยอมรับหนังสือเดินทางสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าร่วมการประชุม UN ของกลุ่มเอกชนไต้หวัน จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน จะร่วมกันกระตุ้นให้ระบบ UN ทำการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
Ms. White กล่าวว่า สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA และการประชุมด้านเทคนิคทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องของ WHO มาเป็นระยะเวลานาน จึงรู้สึกยินดีที่ได้เห็นว่า มีประเทศที่ร่วมแสดงความห่วงใยต่อไต้หวันที่ได้รับการกีดกันอย่างไม่ยุติธรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกล่าวว่าสหรัฐฯ จะร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันต่อไป และจะส่งเสริมให้ประเทศพันธมิตรร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ Mr. Grzegorzewski ยังได้ระบุว่า EU และไต้หวันยึดมั่นในค่านิยมสากลร่วมกันในด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยไต้หวันนับเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่สำคัญของ EU ในหลายภาคส่วน ประเทศสมาชิก EU รวม 27 ประเทศต่างให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมอย่างเป็นรูปธรรมในองค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนจะร่วมเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขในเชิงลึกกับไต้หวันต่อไป
กองทุน GMF เป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในประเด็นที่สหรัฐฯ และ EU ให้ความสนใจร่วมกัน ประกอบด้วย ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นต้น โดยได้จัด “การประชุมแบบพหุภาคีระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ และ EU” ขึ้นเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งได้ติดต่อเชิญตัวแทนจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาควิชาการจากไต้หวัน สหรัฐฯ และ EU เข้าร่วมการประชุม โดยการประชุมรูปแบบออนไลน์ในครั้งนี้ มี Mr. Bonnie Glaser หัวหน้าโครงการเอเชียแปซิฟิกดำเนินหน้าที่เป็นประธาน โดยมีผู้ติดตามรับชมเกือบ 120 คน