New Southbound Policy Portal

กต.ไต้หวันขอบคุณพลังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากทั่วโลก ซึ่งปีนี้มากสุดเท่าที่เคยมี

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 1 มิ.ย. 64

การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 74 ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ภายใต้สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด – 19) ที่ระบาดหนักทั่วโลกมาเป็นเวลาเกิน 1 ปี โดยพลังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากประชาคมโลกแข็งแกร่งกว่าที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอขอบคุณหน่วยงานรัฐบาล สภานิติบัญญัติ องค์การรัฐสภาแบบข้ามประเทศ ของประเทศพันธมิตรและเหล่ามิตรประเทศ ที่ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่
 
ในปีนี้ 14 ประเทศพันธมิตรของไต้หวันในฐานะประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้ความสนับสนุนไต้หวันในหลายรูปแบบ ทั้งการยื่นเสนอแผนผลักดันการเข้าร่วมการประชุม การส่งหนังสือเรียกร้อง และร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน หรือแม้กระทั่งการร่วมอภิปรายในการประชุมคณะกรรมการทั่วไปและการประชุมใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้ WHO เปิดโอกาสให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA นอกจากนี้ ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ก็ได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในที่ประชุม WHA ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และคณะเสนาธิปัตย์แห่งมอลตา ซึ่งต่างได้ให้การสนับสนุนไต้หวันแบบเปิดเผย นอกจากนี้ ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างเยอรมนี ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐเช็กและสาธารณรัฐลิทัวเนีย ต่างทยอยเรียกร้องให้ WHO และระบบสาธารณสุขโลกตระหนักเห็นถึงความจำเป็นในการเปิดรับทุกประเทศ ให้สามารถเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA ได้อย่างเท่าเทียม
 
แผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม WHA ของไต้หวันในปีนี้ ได้การสนับสนุนอย่างแพร่หลายจาก 40 ประเทศและหน่วยงานบริหารของสหภาพยุโรป (EU) อีกทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของหลายประเทศ ก็ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผยเช่นกัน ทั้ง Mr. Yoshihide Suga นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Mr. Katsunobu Kato เลขาธิการใหญ่ของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น Mr. Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีแคนาดา Mr. Marc Garneau รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดา Mr. Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และ Mr. Xavier Becerra รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ เป็นต้น
 
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันที่ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวัน อาทิ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําระดับโลก 7 ประเทศ (Group of Seven, G7) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของ 7 ประเทศที่มีบทบาทสำคัญในประชาคมโลก ประกอบด้วย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และอังกฤษ รวมถึง EU ที่ในปีนี้ได้ออกแถลงการณ์ว่าด้วยการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมใน WHO และการประชุม WHA เป็นครั้งแรก ในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ G7
 
นอกจากนี้ หน่วยงานสภานิติบัญญัติทั่วโลกมีสมาชิกรัฐสภาจำนวนกว่า 3,000 คนจาก 100 กว่าประเทศทั่วโลก ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย รัฐสภาเดนมาร์ก วุฒิสภาฝรั่งเศส วุฒิสภาสาธารณรัฐเช็ก คณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งรัฐสภาสาธารณรัฐสโลวัก รัฐสภาสาธารณรัฐฮอนดูรัส สภาผู้แทนราษฎรของสาธารณรัฐปารากวัย คณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เทศบาลและหน่วยงานท้องถิ่นใน 28 จังหวัดของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นจำนวนจังหวัดที่เกินครึ่งของทั้งประเทศ ต่างทยอยออกแถลงการณ์และผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวันเพื่อให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ในจำนวนนี้ เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และสโลวัก นับเป็น 3 ประเทศที่ประกาศให้การสนับสนุนไต้หวันเป็นครั้งแรก จึงเปี่ยมไปด้วยนัยยะที่พิเศษเป็นอย่างยิ่ง
 
อนึ่ง สมาชิกรัฐสภาจำนวนกว่า 1,500 คนจาก 5 ภูมิภาคหลักของโลก ต่างทยอยส่งหนังสือเรียกร้องให้ผู้บริหารองค์การ WHO และรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ให้การสนับสนุนไต้หวัน เช่น ในช่วงที่ผ่านมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ 50 คน ได้ร่วมลงนามยื่นหนังสือให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA ต่อรมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ
 
นอกจากนี้ ยังมีผู้นำรัฐสภาและสมาชิกรัฐสภารวมถึงมิตรสหายกว่า 250 คน จาก 50 กว่าประเทศ ขานรับต่อกิจกรรมประสานความเชื่อมโยงระหว่างประเทศประชาธิปไตยผ่านสื่อโซเชียล ภายใต้สโลแกน “#LetTaiwanHelp” ที่จัดขึ้นโดยรัฐสภาสหรัฐฯ
 
ตราบจนปัจจุบัน นานาประเทศทั่วโลกยังคงต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกตามจากโรคโควิด – 19 การประสานความร่วมมือในการป้องกันโรคระบาดจึงไม่สามารถละเลยผู้ใดไว้เบื้องหลังได้ กต.ไต้หวันขอเรียกร้องให้ WHO เปิดโอกาสให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ไต้หวันเข้าร่วมในการประชุม กลไกและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของ WHO ด้วย