New Southbound Policy Portal
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17 มิ.ย. 64
เพื่อส่งเสริมให้รัฐบาลของนานาประเทศเร่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการผลักดันการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองความลับทางการค้า รวมถึงการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในการสกัดกั้นภัยคุกคามทางไซเบอร์ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) สำนักอัยการสูงสุดของไต้หวัน สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT/T) และสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน จึงร่วมกันจัดการประชุมนานาชาติแบบออนไลน์ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ในประเด็น “ทิศทางใหม่แห่งการพัฒนาด้านการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ด้านดิจิทัล” (2021 GCTF Virtual Conference on New Developments in IP Protection and Combating Digital Infringement) โดยนายไช่ชิงเสียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของไต้หวัน และนายเจิงโห้วเหริน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป และ Mr. Hoshino Mitsuaki รองประธานสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน ต่างทยอยกล่าวสุนทรพจน์ในระหว่างการประชุม โดยการประชุมในครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมรวม 120 คนจาก 19 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ไทย และฟิลิปปินส์
รมช.เจิงฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ในปี 2000 การเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประชาธิปไตยทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยชั้นสูงบนฐานความรู้ (Knowledge-based High-tech Industry) ได้รับการพัฒนาอย่างรุดหน้ามากขึ้น โดยศักยภาพด้านนวัตกรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวันเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ การคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาจึงมีความสำคัญเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ตามข้อมูลล่าสุดของ “รายงานความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก” (Global Competitiveness Report) ที่จัดทำโดย World Economic Forum (WEF) ระบุว่า ไต้หวันมีระบบ นโยบาย และกฎหมายด้านการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่ครอบคลุมและมีความสมบูรณ์แบบ ส่งผลให้ไต้หวันครองอันดับที่ 12 จาก 141 ประเทศ นอกจากนี้ ไต้หวันและสหรัฐฯ ยังได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายด้านการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมต่อต้านและปรามปรามการละเมิดลิขสิทธิ์และสินค้าลอกเลียนแบบภายในประเทศ
รมช.เจิงฯ เน้นย้ำว่า ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกได้ก้าวสู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก หลังจากเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี 5G แล้ว การละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ จะเกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งนี่ไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งแต่เพียงลำพัง มีเพียงแค่การประสานความร่วมมือทั่วโลก จึงจะสามารถคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ สามารถส่งเสริมให้หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายเร่งตรวจสอบ พร้อมแบ่งปันประสบการณ์และเทคโนโลยี ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือแบบพหุภาคีต่อไปในภายภาคหน้า