New Southbound Policy Portal

ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยุโรป ร่วมจัดการประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 22 มิ.ย. 64
 
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) และปัจจัยความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ นำมาซึ่งความท้าทายและโอกาสให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของนานาประเทศทั่วโลก อันก่อให้เกิดความต้องการในการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง ยืดหยุ่น เปี่ยมด้วยความเป็นอัจฉริยะและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในขณะที่ภาคธุรกิจและภาคประชาชนร่วมต่อสู้อยู่ในแนวหน้าของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลง ในส่วนของรัฐบาลก็ได้ทุ่มเทความพยายามในการดำเนินภารกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลและสนองความต้องการของภาคประชาสังคมควบคู่ไปด้วย
 
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจแห่งยุโรป สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น - ไต้หวัน และกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ร่วมกันจัด “การประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเทคโนโลยี 2021” (2021 Forum on Tech Supply Chain Partnership) โดย Mr. Filip Grzegorzewski ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจแห่งยุโรป Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป Mr. Hoshino Mitsuaki รองประธานสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน และนางหวังเหม่ยฮัว รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน ต่างทยอยกล่าวปราศรัยในระหว่างการประชุม โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระหว่างพันธมิตรโลกที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ซึ่งพวกเขาต่างตระหนักดีว่า บนโลกนี้ไม่มีเขตเศรษฐกิจใดที่จะสามารถสนองอุปสงค์ภายในประเทศได้อย่างครอบคลุม พันธมิตรทั่วโลกจึงจำเป็นต้องรวมตัวกัน เพื่อสร้างหลักประกันในการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของทุกภาคส่วน
 
การประชุมในครั้งนี้ หน่วยงานเจ้าภาพจัดการประชุมได้เชิญบรรดาผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาควิชาการจากยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และไต้หวัน เข้าร่วมแบ่งปันแนวทางการบริหารเชิงพาณิชย์ที่ดีที่สุด พร้อมร่วมหารือเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ทั่วโลก โดยเหล่าผู้บรรยายต่างอ้างอิงประสบการณ์จากภาคอุตสาหกรรมและแวดวงต่างๆ เพื่อนำเสนอแนวทางการเสริมสร้างความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน ให้ประชาคมโลกนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป