New Southbound Policy Portal
สภาตรวจสอบ วันที่ 23 มิ.ย. 64
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา นางสาวเฉินจวี๋ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า วันที่ 26 มิ.ย. ของทุกปีจะตรงกับวันต่อต้านการทรมานสากล (International Day in Support of Victims of Torture) โดย “อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน” ที่ประกาศโดยองค์การสหประชาชาติ นับเป็นหนึ่งในอนุสัญญาหลักในด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยนส.เฉินฯ หวังว่าสภานิติบัญญัติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จะเร่งลงมติผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยแนวทางการต่อต้านการทรมาน พร้อมทั้งจัดตั้งกลไกการป้องกันและปราบปรามบทลงโทษที่โหดร้ายและทรมาน เพื่อร่วมกัน SAY NO ต่อการลงโทษที่ทารุณและไร้ซึ่งมนุษยธรรม
นส. เฉินฯ กล่าวว่า แม้ว่าไต้หวันจะเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มุ่งมั่นในการเสริมสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน และยกเลิกบทลงโทษที่ทารุณที่เคยมีในสมัยถูกปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ แต่การทรมานในความหมายเชิงกว้าง ยังประกอบด้วย การถูกกระทำอันไร้ซึ่งมนุษยธรรม โดยเฉพาะกับแรงงานในภาคการประมงที่ต้องออกหาปลาในน้ำทะเลลึก มักจะประสบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเหตุนี้ จึงหวังว่าการร่วมแบ่งปันประสบการณ์และการระดมความคิดในระดับนานาชาติของการสัมมนาครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยในการหาแนวทางป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เดิมที คกก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวันได้เตรียมจัด “การสัมมนาด้านการป้องกันการลงโทษแบบทารุณและการปกป้องสิทธิมนุษยชนของแรงงานในภาคประมง” โดยจัดให้มีการประชุมรวม 3 รอบภายใต้หัวข้อที่แตกต่างกัน แต่เนื่องจากปัจจัยของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการจัดการประชุมนานาชาติผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน
เฉินฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งนิวซีแลนด์ ได้ตอบรับคำเชิญเพื่อมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการบริหารกลไกการป้องกันและปราบปรามการทรมานของ The National Preventive Mechanism (NPM) แห่งนิวซีแลนด์ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการอ้างอิงในภายภาคหน้าต่อไป
นายหลัวปิ่งเฉิง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารและโฆษกสภาบริหาร ได้รับเชิญให้ร่วมกล่าวปราศรัย โดยชี้ว่า สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มีมติผ่าน “ร่างกฎหมายว่าด้วยแนวทางการต่อต้านการทรมาน” เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ปี 2020 ซึ่งตรงกับวันสิทธิมนุษยชนสากล โดยสภาบริหารได้ยื่นเสนอญัตติดังกล่าว รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights, ICCPR) ไปยังสภานิติบัญญัติแล้ว ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ
ต่อกรณีสิทธิมนุษยชนของแรงงานในภาคประมง รมว.หลัวฯ กล่าวว่า ไต้หวันถูกล้อมรอบด้วยทะเลทั้ง 4 ด้าน อุตสาหกรรมการประมงจึงนับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของไต้หวัน ในช่วงที่ผ่านมา การว่าจ้างแรงงานต่างชาติในการทำประมงในเขตนอกน่านน้ำของไต้หวัน ประสบกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนมากมาย ซึ่งรัฐบาลไต้หวันขอขอบคุณกลุ่มสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่ได้ให้คำชี้แนะที่เป็นประโยชน์ โดยในวันสิทธิมนุษยชนสากลปีที่แล้ว สภาบริหารได้ลงมติผ่าน “แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและการประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ” โดยคาดหวังให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในความรับผิดชอบในด้านหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน